ทำธุรกิจว่ายากแล้ว ทำ ‘ธุรกิจเพื่อสังคม’ ยากยิ่งกว่า ‘ดร.กอบศักดิ์’ แนะ 3 เคล็ดลับ ขับเคลื่อน Social Enterprise ​​’เปลี่ยน Passion เป็นเงิน’ ได้อย่างยั่งยืน

ดร.กอบศักดิ์ แนะ 3 ทางรอด ธุรกิจเพื่อสังคม เปลี่ยน Passion ให้ทำเงินได้ เพื่อช่วยสร้าง Social Impact ได้ต่อเนื่องและยั่งยืน ด้านตลาดหลักทรัพย์ เปิดเวที Pitching Day ​​เสนอไอเดีย สร้างโอกาสขยายสเกลธุรกิจ ในวันปิดโครงการ SET Social Impact GYM 2023 ซึ่งตลอด 7 ปี ปั้นธุรกิจออไปสร้างผลลัพธ์ให้สังคมได้แล้ว 80 ราย

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และประธานกรรมการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวในโอกาสวัน Pitching Day ​พร้อมปิดโครงการ​ SET Social Impact GYM 2023 : Idea-to-Idone เพื่อเพิ่มศักยภาพให้ผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม หรือ SE (Social Enterprise) เติบโตเป็นผู้ประกอบการที่แข็งแกร่ง เพื่อสร้างผลลัพธ์ทางสังคมได้อย่างแข็งแกร่งและมีความยั่งยืน โดยมองว่า ปัญหาหลักของธุรกิจเพื่อสังคมคือ การสร้างให้เกิดความยั่งยืนให้ธุรกิจ ​เพราะหลายโมเดลที่ขับเคลื่อนเพื่อสังคม เช่น โครงการ CSR มูลนิธิ หรือสมาคมต่างๆ มักต้องพึ่งพาการระดมทุน หรือการรับบริจาคจากภาคส่วนต่างๆ ทำให้ไม่สามารถสร้างความยั่งยืนได้ เพราะหากคิดเพียงแค่​หาเงินมาดำเนินโครงการ แต่ไม่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาจากต้นเหตุ ก็ยากที่สร้างการเติบโตในระยะยาวได้​

“ทุกคนมี Passion ที่อยากขับเคลื่อนสิ่งดีๆ ให้สังคม แต่สิ่งสำคัญคือ ทำอย่างไรให้ Passion เหล่านั้นกลายเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนได้ การหาเงินจากการบริจาค หรือรอให้คนมาสนับสนุนเพียงอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ เพราะเมื่อเงินหมดก็ต้องหาผู้สนับสนุนรายใหม่ๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ยั่งยืน ดังน้ัน รูปแบบ Social Enterprise (SE) ด้วยการเริ่มต้นโปรเจ็กต์ที่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดี หรือแก้ปัญหาให้สังคมด้วยเงินตั้งต้นที่ไม่ต้องสูง และสามารถขับเคลื่อนผ่านการแก้ Painpoint หรือปัญหาบางอย่างให้สังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีดีมานด์อยู่ในสังคม จะทำให้ธุรกิจสามารถเลี้ยงตัวเองและเติบโตไปข้างหน้าได้ ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือผู้คนและสังคมได้อย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยการระดมทุนเพียงไม่กี่ครั้งในช่วงเริ่มต้น ก็สามารถทำให้เมล็ดพันธุ์ธุรกิจเติบโตเป็นไม้ยืนต้นที่แข็งแรงและออกดอกออกผลได้อย่างต่อเนื่อง เป็นโมเดลที่ทำให้เกิด​ Sustainability ไปในพื้นที่ต่างๆ ได้ทั่วโลก”​ 

ทั้งนี้ แม้จะเป็นธุรกิจเพื่อสังคม แต่อย่างไรก็ยังเป็นการขับเคลื่อนธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโต ซึ่งยังเต็มไปด้วยความท้าทาย ที่ต้องอาศัยความรู้ และทักษะหลากหลายด้าน ทั้งการพัฒนาสินค้าให้เป็นที่ต้องการของตลาด และเป็นสินค้าที่คนยอมจ่ายในราคาที่เหมาะสม เพื่อสามารถสร้างรายได้หล่อเลี้ยงธุรกิจได้ ขณะเดียวกันยังต้องมีทักษะในเรื่องของการบริหารจัดการอย่างรอบด้าน ทั้งความเข้าใจเรื่องของบัญชี การจัดการภาษี การควบคุมและบริหารจัดการต้นทุน กระบวนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพ ​การเข้าถึงสินเชื่อ รวมไปถึงการบริหารจัดการคน ดังนั้น หากธุรกิจในกลุ่ม SE อยากเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง จำเป็นต้องมี  3 ปัจจัยต่อไปนี้

1. Agility : ความคล่องตัวในการปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ธุรกิจจำเป็นต้องเข้าใจสถานการณ์ ความต้องการของตลาดตามความเป็นจริง แม้ธุรกิจอาจเริ่มต้นด้วยการนำเสนอโปรดักต์อย่างหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป​ ไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการก็ต้องสามารถนำเสนอแง่มุมใหม่ๆ ได้ เพราะการทำเพื่อสังคมมีหลายมิติ หากสิ่งที่เสนอมีความต้องการน้อย ไม่ต่างกับการจับปลาในบ่อที่ไม่มีปลาก็จำเป็นต้องย้ายบ่อใหม่ เพื่อให้สามารถสร้างรายได้เพื่อมาหล่อเลี้ยงธุรกิจให้ขับเคลื่อนต่อ และยังคงสามารถช่วยเหลือสังคมได้ต่อไป

2. Detail : การใส่ใจรายละเอียดนำมาซึ่งความสำเร็จ การทำธุรกิจจำเป็นต้องเข้าใจแต่ละมิติของธุรกิจได้อย่าง​ละเอียด ​เพื่อสามารถต่อยอดเรียนรู้ และนำมาปรับให้เข้ากับแนวคิดของตนได้ โดยเฉพาะเมื่ออยากขยายสเกลธุรกิจ แบบ 5X 10X ซึ่งจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างและองค์ประกอบต่างๆ ไปอย่างสิ้นเชิง ​และอาจต้องอาศัยเรียนรู้จากไอเดีย องค์ความรู้ รวมถึง​จากความสำเร็จ และความล้มเหลว ผ่านประสบการณ์ของผู้อื่น เพื่อนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทในแบบของตัวเอง เพื่อช่วยลดโอกาสในการผิดพลาดของตัวเอง และเพิ่มโอกาสให้สามารถประสบความสำเร็จได้มากขึ้น

3. Branding : เมื่อทำธุรกิจจำเป็นต้องมองเรื่องของการสร้างแบรนด์ตั้งแต่วันแรก เพื่อทำให้คนรู้จักและสามารถจดจำเราได้ ซึ่ง​​อาจเป็นเรื่องท้าทายอย่างมากในช่วงแรก แต่หากสามารถสร้างภาพจำ หรือทำให้คนนึกถึงแบรนด์ของเรา เมื่อพูดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้ สุดท้ายจะสามารถต่อยอดและขยายการรับรู้ออกไปอย่างต่อเนื่องและเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้น เรื่องของแบรนดิ้งจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

SET ​คาดหลังบ่มเพาะ​ ยอดขาย SE จะโตเพิ่ม 5 เท่า

ด้าน คุณนพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานสื่อสารองค์กรและพัฒนาเพื่อสังคม ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) กล่าวถึงการสนับสนุนกลุ่มธุรกิจ Social Enterprise ของ SET ผ่านการขับเคลื่อนโครงการ SET Social Impact GYM 2023 : Idea-to-Idone ภายใต้ความร่วมมือกับสมาคมบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (maiA)  ซึ่งขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2559 หรือกว่า 7 ปีแล้ว ​​โดยสามารถสร้างผู้ประกอบการ SE จากโครงการได้มากกว่า 80 ราย โดยสามารถสร้างผลลัพธ์ทางสังคมในมิติต่างๆ​​ ซึ่ง 40% คือ ด้านของการพัฒนาชุมชนและสังคม ส่วน 60% จะเป็นด้านสุขภาพ ด้าน​​ผู้เปราะบาง ด้านเกษตรและสิ่งแวดล้อม และด้านการศึกษา พร้อมต่อยอดความร่วมมือให้เกิด Social Business Co-creation ระหว่างภาคธุรกิจและภาคสังคมในการแก้ไขปัญหาสังคมร่วมกัน

“สำหรับโครงการในปีนี้ มีผู้ประกอบการ SE เข้าร่วม 8 ราย ครอบคลุมการสร้างผลลัพธ์ทางสังคม 4 ด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ผู้เปราะบาง การพัฒนาชุมชน และด้านการเกษตร โดยได้รับความร่วมมือจากโค้ชจิตอาสาที่เป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ และผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทจดทะเบียนใน maiA จำนวน 22 ท่าน มาร่วมให้คำแนะนำผู้ประกอบการ เพื่อร่วมพัฒนาโมเดลธุรกิจ SE ให้มีรูปแบบขับเคลื่อนที่ชัดเจน และตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า รวมทั้งมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาทางสังคมได้ชัดเจนมากขึ้น โดยคาดว่าบริษัทที่ดำเนินการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างชัดเจนได้แล้ว จะสามารถเพิ่มยอดขายให้เติบโตได้เพิ่มมากขึ้นกว่า 5 เท่า ส่วนบริษัทที่เพิ่งเริ่มต้นมีไอเดียทางธุรกิจ จะสามารถนำเสนอสินค้าและบริการอย่างเต็มรูปแบบได้ภายในต้นปีหน้า และจะสามารถสร้างผลกำไรได้ภายใน 2 ปี”​​

Stay Connected
Latest News