ออมสิน แนะธุรกิจวางกลยุทธ์ ‘ยั่งยืน’ เพิ่มสปอตไลท์ให้ ‘สังคม’ มากขึ้น พร้อมขยายภารกิจ​ Social Bank ทุกมิติสู่ Social Mission Integration

แม้ ESG จะเป็นเทรนด์ที่ทั้งโลกให้ความสนใจ แต่น้ำหนักในการขับเคลื่อน โดยเฉพาะจากองค์กรขนาด​ใหญ่ มักจะมุ่งสู่ Net Zero หรือในมิติของสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ขณะที่ปัญหาในมิติของสังคมอาจไม่ได้ถูกหยิบยกมาพูดกันในวงกว้างมากนัก

ธนาคารออมสิน‘ ซึ่งมีความเชื่อว่า ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศที่สำคัญมาจาก​ปัญหาเชิงสังคมต่างๆ ทั้งปัญหาความยากจน และความเหลื่อมล้ำ จึงให้ความสำคัญกับการผลักดันมิติของสังคมมาโดยตลอด ​โดยเฉพาะการประกาศจุดยืนในฐานะ Social​ Bank ​ หรือ ‘ธนาคารเพื่อสังคม’

คุณวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยในงานสัมมนา GSB Forum 2023 ESG : Social Pillar Drivenคนยั่งยืน เพื่อโลกที่ยั่งยืน” ในหัวข้อ How Does Social Bank Work on The Journey toward Sustainability?” โดยนำเสนอ​ 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1. มุ่งให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนความยั่งยืนโดยให้น้ำหนักในมิติทางสังคมเพิ่มมากขึ้น และ 2. เปลี่ยน Mindset ในการขับเคลื่อนโครงการเพื่อสังคมในรูปแบบเดิมๆ หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) มาสู่แนวทางที่เป็น CSV (Creating Shared Value) มากขึ้น

“​แนวทางขับเคลื่อนโครงการเพื่อสังคมของ​ไทยส่วนใหญ่ยังทำในมิติของ​ CSR ​​ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่จะส่งผลต่อลักษณะของ​การขับเคลื่อนที่ต้องมีการจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการ ที่อาจไม่มีความต่อเนื่อง  และไม่สามารถแก้ปัญหาทางสังคมได้อย่างยั่งยืน จึงควรเปลี่ยนมุมมองมาเป็น CSV ที่มอง​ปัญหาเชิงสังคมรวมเข้าไปกับการธุรกิจ เพื่อสร้างโมเดลธุรกิจที่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้สังคมได้อย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับการขับเคลื่อนของออมสิน ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความแข็งแรงจาก Tripple Bottom Line ​คือ People Planet และ Profit เช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป เพื่อให้มีความสามารถในการสร้างกำไร และสามารถส่งต่อความช่วยเหลือไปสู่ผู้คน สังคม และดูแลโลกไปพร้อมกัน”​

เพิ่มภารกิจ Social Bank สู่ Social Mission Integration

ทั้งนี้ ตลอดกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารออมสินมุ่งขับเคลื่อนเพื่อเป็น ‘ธนาคารเพื่อสังคม’  ผ่านกลยุทธ์ Dual Mission ที่เน้นขับเคลื่อนจาก 2 มิติ คือ  การเติบโตในฟาก Financial หรือจากการดำเนินธุรกิจการเงินตามปกติ ​และนำกำไรจากธุรกิจธนาคาร มาช่วย​ขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อสังคม หรือในฝั่ง Social ซึ่งธุรกิจในฝั่งเพื่อสังคมนี้ ไม่ได้มุ่งเน้นในเรื่องของการทำกำไร หรือการคืนทุน เพราะใช้กำไรจากธุรกิจพอร์ตใหญ่มาสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อช่วยคน ช่วย​สังคม

สำหรับการสร้างความแข็งแรงในฟาก Financial ธนาคารได้มีการตัดงบประมาณลงกว่าหมื่นล้านบาท เพื่อนำไปตั้งสำรองเพิ่มขึ้น และเป็นการตั้งสำรองที่สูงที่สุดตั้งแต่มีการก่อตั้งธนาคารมาก เพื่อสร้างความแข็งแรงด้านธรรมาภิบาล หรือ Governance ให้มากขึ้น โดยลดงบประมาณจาก 4.2 หมื่นล้านบาท เหลือเพียง 3.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังคงสามารถขับเคลื่อนธุรกิจที่มีขนาดใหญ่มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีความสามารถในการทำกำไรได้มากขึ้นเช่นกัน โดยคาดว่ากำไรในปีนี้จะทำได้มากกว่า 3.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นระดับกำไรที่มีการเติบโตสูงมากกว่าในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิดด้วยซ้ำ

เนื่องจาก มีการขยายธุรกิจในฟาก Social ที่สามารถสร้างการเติบโตควบคู่ไปกับการช่วยเหลือสังคมได้พร้อมกัน แม้ว่าจะมีสัดส่วนพอร์ตขนาดเล็กในเชิงมูลค่า แต่สามารถเข้าถึงเพื่อช่วยเหลือกลุ่มฐานรากได้หลายล้านคน และแม้ปริมาณสินเชื่อแต่ละรายอาจไม่สูงมาก แต่สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ หรือสร้างให้เกิดการพัฒนาในมิติอื่นๆ ทางสังคมซึ่งไม่ได้แสดงรวมอยู่ในพอร์ตสินเชื่อ

“การขับเคลื่อนทางสังคมที่ผ่านมา ธนาคารมี 2 เป้าหมายสำคัญคือ การลดปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำทางการเงิน โดยเฉพาะการวางกลไกทางการเงินเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนใน 4 มิติ ประกอบด้วย 1. การดึงคนเข้าสู่ระบบ  2. มีแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม 3. มีความรู้ทางการเงิน และ 4. มีงานมีอาชีพ  ผ่านทางเลือกที่มีต้นทุนต่ำ เช่น การให้อัตราดอกบี้ยในสินเชื่อจำนำมอเตอร์ไซค์ที่ต่ำกว่าตลาด 10% และสามารถช่วยคนในตลาดดังกล่าวได้กว่า 5 ล้านคน ควบคู่ไปกับการให้ความรู้ทางการเงิน การสร้างอาชีพ ​รวมทั้งให้สินเชื่อควบคู่ไปด้วย เป็นต้น ซึ่งตลอดการขับเคลื่อนมากว่า 3 ปี สามารถดึงกลุ่มฐานรากเข้ามาในระบบสินเชื่อได้มากกว่า 3 ล้านคน จากเดิมที่มีกว่า 1 ล้านคน เท่ากับสามารถทำให้คนเข้าถึงดอกเบี้ยที่เป็นธรรมได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 ล้านคน”​

คุณวิทัย ฉายภาพต่อว่า เพื่อให้สามารถส่งต่อ Positive Impact ไปสู่มิติต่างๆ ทางสังคมได้มากขึ้น ธนาคารได้ยกระดับการขับเคลื่อน จากแนวทาง Dual Mission มาเป็นการบูรณาการมิติทางสังคมเข้าไปในทุกๆ บริบทของธุรกิ​จ หรือ Social Mission Integration ด้วยการให้ทุกส่วนงานที่ดูแลทั้งผลิตภัณฑ์หรือโครงการต่างๆ ของธนาคาร​ ต้องนำปัจจัยทางสังคมใส่เข้าไปในกระบวนการในการทำธุรกิจด้วย เพื่อทุกบริบทในการขับเคลื่อนของธนาคารจะสามารถสร้างผลลัพธ์เชิงบวกให้กับสังคมได้อย่างรอบด้าน เช่น การจัดทำกระปุกออมสินที่ระลึกของธนาคาร ก็ใช้ Social Enterprise ที่ดูแลกลุ่มออทิสติกมาช่วยในการออกแบบ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์เงินฝาก ที่สามารถส่งต่อไปสู่กลุ่มผู้เปราะบางทางสังคม รวมไปถึงการพัฒนาตู้ ATM สำหรับผู้พิการทางสายตา, การให้สินเชื่อ Green Loan, Social Bond, เงินฝากเพื่อเกษียณ,​เงินฝาก SDG , การใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า, สร้างงาน สร้างอาชีพ หรือการผลิตสินค้าที่ระลึกโดยสนับสนุนกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม เป็นต้น

 “การขับเคลื่อนความเป็น Social Bank ของธนาคารจากนี้ จะทำอย่างรอบด้านและทุกบริบท ในรูปแบบ Social Mission Integration ซึ่งถือว่าสอดคล้องตามแนวทาง CSV  ด้วยการทำธุรกิจที่ผนวกเข้ากับการเข้าไปช่วยแก้ไขประเด็นปัญหาทางสังคม จะนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจ ที่นอกจากการมีรายได้ที่สูงขึ้น มีรายจ่ายจากต้นทุนที่ลดลง และนำมาซึ่งกำไรที่สูงขึ้นแล้ว  เมื่อเรามีความแข็งแรงมากขึ้น ก็จะสามารถส่งต่อความช่วยเหลือไปยังผู้คนและสังคมได้มากขึ้น จากโมเดลที่ทำธุรกิจควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาให้สังคม ​และทำให้เกิดเป็นความยั่งยืนได้ในที่สุด”​ 

Stay Connected
Latest News