เสนาฯ หนุนวิจัย ‘สภาวะน่าสบาย’ ​ต่อยอด ‘​บ้านพลังงานเป็นศูนย์’ สู่ ‘Sustainable Comfort Living’ เพราะชีวิตจริงต้องตอบโจทย์ทั้งอยู่สบาย และดีต่อโลก

ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป นำโดย มร.มิสึฮิโระ นาคาซาว่า กรรมการผู้จัดการ และ บริษัท พานาโซนิค โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดย มร.ฮิเดคาสึ อิโตะ กรรมการผู้จัดการ ร่วมด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนงานวิจัย “สภาวะน่าสบาย” (Research collaboration project) เพื่อนำข้อมูลไปต่อยอดการพัฒนาโครงการบ้านพลังงานเป็นศูนย์ หรือ Zero Energy House (ZEH) ภายใต้ความร่วมือของเสนาฯ กับพันธมิตรทางธุรกิจ บริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป

ดร.เกษรา กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นการปฏิวัติวงการที่อยู่อาศัยเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ที่ต้องการผนวก  2 โซลูชั่นด้านการอยู่อาศัย ทั้งการค้นหา “สภาวะน่าสบาย” ของคนไทยที่แท้จริง เพื่อต่อยอดเข้ากับนวัตกรรมการออกแบบตัวบ้านและภายในสำหรับการพัฒนา ‘บ้านพลังงานเป็นศูนย์’ เพื่อให้บ้านสามารถส่งมอบทั้ง 2 ฟังก์ชันให้ผู้อยู่อาศัยได้

รวมทั้งยัง​เป็นการพัฒนาสู่ Step 3 ของ​ที่อยู่อาศัย ซึ่งเริ่ม​จากการพัฒนาบ้านประหยัดพลังงานด้วยการติดตั้งโซลาร์เซลล์  สู่การพัฒนาบ้านพลังงานเป็นศูนย์ด้วยระบบปฏิบัติการ​รคำนวณการใช้พลังงาน​อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งจาก Active Design และ Passive Design ตามแนวทางพัฒนาบ้านพลังงานเป็นศูนย์​ จนมาถึงการคำนึงถึง ‘สภาวะน่าสบาย’ ​เพื่อให้สอดคล้องในการอยู่อาศัยได้จริงในชีวิตประจำวัน ​และเป็นการอยู่สบายโดยที่ไม่จำเป็นต้องเสียพลังงานมากด้วย สะท้อนว่าการอยู่สบาย และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่ดีต่อโลกนั้น ไม่จำเป็นต้องเดินสวนทางกัน

“ความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริงในการ​พัฒนา​บ้านพลังงานเป็นศูนย์หรือ ZEH ที่ไม่เพียงแค่ตอบโจทย์เรื่อง​การประหยัดพลังงานเท่านั้น แต่ต้องทำให้​ผู้อยู่อาศัย​อยู่สบายได้ด้วย ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้นของ Developer เพราะคำว่าอยู่สบายจำเป็น​ต้องมีองค์ประกอบหลากหลายด้านที่ต้องคำนึงถึง ​ซึ่งทางเสนาฯ จะต่อยอดองค์ความรู้จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ​เทคโนโลยีจากพานาโซนิค เพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสู่การสร้างบ้านที่ตอบโจทย์​ทั้งการอยู่อาศัยที่สบาย และสามารถประหยัดพัลงงานไปพร้อมกัน ในราคาจับต้องได้ เพื่อให้เกิดขึ้นได้จริงในตลาดประเทศไทย”

ด้าน ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ได้ร่วมมือ​จัดทำการวิจัยกับพานาโซนิคในประเทศไทย โดยนำความเชี่ยวชาญของจุฬาฯ ทั้งจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มาผนวกกับความรู้ความชำนาญทางเทคโนโลยีของพานาโซนิค มาพัฒนาโซลูชั่นและนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมที่อยู่อาศัยในประเทศไทยในอนาคตได้  โดยได้พัฒนา​​โมเดลที่อยู่อาศัยแบบจำลอง โดย​นำเทคโนโลยี BIM หรือ Building Information Modelling ​มาช่วย​ออกแบบและก่อสร้างบ้านโมดูลาร์ในชื่อ ‘ZEN Model’ ขนาดพื้นที่ 36 ตารางเมตร ภายในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ​พร้อมจำลองบรรยากาศที่อยู่อาศัยในสภาวะน่าสบาย และ​​เก็บข้อมูลจาก​กลุ่มตัวอย่างที่​เข้ามาทดลองใช้ชีวิตในพื้นที่แห่งนี้  ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งเป้าหมายในการเผยแพร่ผลงานวิจัยจากการร่วมมือของ MOU เพื่อยกระดับการประยุกต์องค์ความรู้ของทางวิชาการ นำไปสู่การใช้งานได้จริง ในการสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัยยั่งยืนในอนาคตต่อไป

มร.ฮิเดคาสึ อิโตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พานาโซนิค โซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แนวคิดการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับการสร้างสังคมที่อยู่อาศัยแห่งอนาคตอย่างยั่งยืนและสอดรับกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป พานาโซนิค จึงได้มุ่งมั่นศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายในการสร้างภาวะแวดล้อมภายในบ้านที่อยู่สบายสำหรับผู้บริโภคที่แตกต่างกันไปทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันมีหลายองค์กรได้ทำการศึกษาวิจัยพบว่า สภาวะน่าสบายเชิงอุณหภาพตามมาตรฐานสากล (ANSI/ASHRAE Standard 55) จะอยู่ที่ประมาณ 20-27 องศาเซลเซียส แต่สภาวะน่าสบายนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ร่วมด้วย

“พานาโซนิคเล็งเห็นว่า สภาพแวดล้อมภายในบ้านที่อยู่สบายนั้น ควรมีองค์ประกอบสำคัญทั้งภาวะน่าสบาย (Comfort Zone) ปราศจากความเครียด (Stress-free) ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ (Carbon-free) และลดการใช้พลังงาน (Energy Efficiency) จึงมีแนวคิดสร้างความร่วมมือด้านการวิจัย (Research collaboration project) กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทย เพื่อร่วมกันศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่อยู่อาศัยที่ยั่งยืนและประหยัดพลังงานในประเทศไทย  (Sustainable and Energy-Efficient Housing Technologies in Thailand) ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยคาดหวังว่าผลของการวิจัยจะทำให้สามารถค้นพบ “สภาวะน่าสบายภายในบ้าน”สำหรับคนไทยโดยเฉพาะ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่อยู่อาศัยในอนาคตที่เหมาะกับบริบทของประเทศไทย” 

มร.มิสึฮิโระ นาคาซาว่า กรรมการผู้จัดการทั่วไป บริษัท ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์ คอร์ป กล่าวว่า ฮันคิว ฮันชิน ในฐานะ​นักพัฒนาตระหนัก​ถึงความจำเป็นในการเผชิญกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยฮันคิว ฮันชิน ในประเทศญี่ปุ่นได้ ได้เร่งดำเนินการติดตั้งบ้านพลังงานเป็นศูนย์ (Zero Energy House – ZEH) สำหรับที่พักอาศัยและยังคงเร่งดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อรับมือกับลดภาวะโลกร้อนอย่างเต็มที่

“เราเชื่อว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดของที่อยู่อาศัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คือการพัฒนาที่อยู่อาศัยบนพื้นฐานของความเข้าใจ ดูแล และสร้างความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตของลูกค้าอย่างดีที่สุด ซึ่งการศึกษา”สภาวะน่าสบาย” ผ่านบ้านแบบจำลองโดยพานาโซนิค และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะศึกษาเพื่อค้นหาโซลูชั่นและนวัตกรรมใหม่ๆที่ให้ความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตของผู้พักอาศัย รวมถึงเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของวิศวกรรมระบบ สอดคล้องกับแนวคิดในการพัฒนาที่พักอาศัยของเราเช่นกัน โดยคาดหวังว่าการร่วมมือในการสนับสนุนงานวิจัยในครั้งนี้ จะสามารถตอบโจทย์ ได้ทั้งในด้านประหยัดพลังงาน และความสะดวกสบายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้อยู่อาศัย”

 

Stay Connected
Latest News