ผู้บริโภคจีนเกือบ 90% เต็มใจซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นมิตรต่อส่ิงแวดล้อม พร้อม 5 แนวทาง​ขับเคลื่อนแบรนด์สู่ความยั่งยืน

รายงานแนวโน้มผู้บริโภคของจีนประจำปี 2023 โดยเว็บไซต์ Zhimeng Consulting ระบุว่า ​การส่งเสริม​เศรษฐกิจสีเขียวและคาร์บอนต่ำของประเทศ กลายเป็นประเด็นร้อนในการพัฒนาของอุตสาหกรรม​ในปี 2566

ปัจจุบันบริษัทหลายแห่งที่อยู่ภายในซัพพลายเชนธุรกิจต่างๆ มักมีการดำเนินกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคม และการสำรวจเส้นทางการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในเชิงลึกเพิ่มมากขึ้น ​รวมไปถึงความสนใจของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์สีเขียวที่มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็เพิ่มมากขึ้น โดยพบว่า ผู้บริโภคเต็มใจที่จะมีส่วนร่วม เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืน ตามผลที่ได้จากการสำรวจผู้ใช้งานโต้วอิน (Tiktok จีน) พบว่า  88.9% ของผู้ใช้งานมีความเต็มใจที่จะเลือกซื้อหรือให้การสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

เนื่องจาก มองว่าผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีความสอดคล้องกับชีวิตที่ปลอดภัย มีสุขภาพดี และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจ​ซื้อสินค้าของผู้บริโภคเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

ทำให้​สินค้าหลายแบรนด์​มุ่งเน้นสร้างการบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยในปี 2022 ยอดขายสินค้า​ที่ติดฉลากประหยัดพลังงานบนแพลตฟอร์ม JD.com เพิ่มขึ้นถึง ​22% (YoY)  รวมทั้ง​สินค้าที่ติดฉลากเกษตรอินทรีย์ เพิ่มขึ้น​ 39% (YoY)

นอกจากแนวคิดความนิยมผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ผลิตภัณฑ์สินค้ามือสองก็ยังกลายเป็นเทรนด์ในการบริโภคของผู้คนในปัจจุบันเช่นกัน โดยในปีที่ผ่านมา ผู้บริโภค​ 59.7% ยินดีที่จะซื้อสินค้ามือสอง และข้อมูลของแพลตฟอร์ม Xianyu (แพลตฟอร์มขายสินค้ามือสองที่นิยมในจีน) มีสินค้ามือสองจำหน่ายหมุนเวียนกว่า 40 ล้านชิ้น

5 แนวทาง ขับเคลื่อนแบรนด์สู่ความยั่งยืน

Zhimeng Consulting ยังได้นำเสนอกลยุทธ์ 5 ประการ เพื่อแนะให้​แบรนด์ต่างๆ นำไปปรับใช้ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของแบรนด์ไปสู่ความยั่งยืน ประกอบด้วย

1. แนวคิดสร้างแบรนด์ที่ยั่งยืน : บูรณาการแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนเข้ากับการดำเนินงาน และ​เรื่องราวในการขับเคลื่อนแบรนด์ เช่น แบรนด์ชาระดับ ไฮเอนด์ CHALI ที่มีแนวคิด ​“มาจากธรรมชาติ ต้องส่งกลับคืนสู่ธรรมชาติ” โดยผลิตภัณฑ์ของแบรนด์จะ​ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีส่วนช่วย​อนุรักษ์สัตว์ป่า​​ โดยนำกำไรจากการขายสินค้า​ไปบริจาคให้​องค์กรปกป้องสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศต่างๆ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ทางสังคมอย่างยั่งยืนให้กับแบรนด์

ภาพ : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

2. แนวคิดคาร์บอนต่ำ : การขับเคลื่อนนโยบายเพื่อมุ่งสู่การเป็นแบรนด์  Low Carbon เช่น แพลตฟอร์ม JD.com ที่นำแนวคิด Green มาขับเคลื่อนอย่างจริงจัง รวมท้ังส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนทำให้ลดการปล่อยคาร์บอนลงได้กว่า 200 ล้านกิโลกรัม นอกจากนี้ ยังมีการจำหน่ายสินค้าสีเขียวบนแพลตฟอร์มกว่า 2​ แสนรายการ รวมทั้งการเพิ่มกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการช่วยลดคาร์บอนเพิ่มมากขึ้นด้วย

3. แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน : ผลักดันกิจกรรมหรือโครงการที่สนับสนุน Circular Economy ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้สิ่งของที่ไม่ได้ใช้งาน ตามแนทาง Zero Waste เช่น แบรนด์​กาแฟ Super Coffee ที่ใช้กลยุทธ์ “รับคืนถ้วยกาแฟ รีไซเคิล” โดยแบรนด์จะกำหนดรับถ้วยบรรจุภัณฑ์กาแฟคืนปีละ 2 ครั้ง โดยผู้บริโภคสามารถนัดส่งคืนผ่านทาง Mini Program ของแบรนด์ และนำคะแนนไปแลกสินค้าต่าง ๆ ตามกำหนด เป็นการสร้างกิจกรรมร่วมและสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้เป็นอย่างดี

4. แนวคิดบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน : ผลักดันการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ​เครื่องสำอาง BAUM มีการใช้ไม้โอ๊คที่เหลือจากการทำเฟอร์นิเจอร์มาเป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์ยังมีความทนทานและยังมีอายุการใช้งานที่ยืนยาว จึงออกมาเป็นแนวคิดแบบบรรจุภัณฑ์ผสมผสาน “การอยู่ร่วมกับต้นไม้” ทำให้ผู้ใช้รู้สึกถึงความเชื่อมโยงกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

5. แนวคิดฉลากที่ยั่งยืน : การมีฉลากรับรองถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับผลิตภัณฑ์ จะมีส่วนช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้รวดเร็วขึ้น เช่น ในช่วง Big Promotion 618 ของ JD.com ได้เปิดโครงการ “ฉลากสีเขียว” ร่วมกับแบรนด์สินค้าต่าง ๆ อาทิ P&G, JOMOO, L’OREAL, Breeze, Purcooton เพื่อ​คัดสรรสินค้าเกือบ 1 ล้านรายการ เพื่อติดป้ายฉลากสีเขียว ช่วย​ยืนยันว่าสินค้าเหล่านี้​มีส่วนช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมและได้รับการตอบรับอย่างดี

ข้อมูล : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ  

Stay Connected
Latest News