ส่อง 4 Climate Smart Water Management Solutions ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตอบโจทย์เทรนด์ Climate Change

ภาคเกษตรและอาหารเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) เนื่องจากมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 26% ของปริมาณการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งประเทศ

ขณะที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กลับยังต้องเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังไม่สามารถก้าวข้ามได้ คือ Productivity ที่อยู่ในระดับต่ำ ทำให้สัดส่วน GDP จากภาคเกษตรเหลืออยู่ไม่ถึง 10% จาก GDP โดยรวมทั้งประเทศ

ซึ่งหนึ่งในปัญหาสำคัญของภาคเกษตรคือ การบริหารจัดการน้ำที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ดังนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีในการบริการจัดการน้ำที่ก้าวหน้ามากขึ้น ผ่านการพัฒนา Climate Smart Water Management Solutions เพื่อนำมาประยุกต์ใช้เพื่อบริหารจัดการน้ำในภาคเกษตร นอกจากจะช่วยเพิ่ม Productivity ในภาคเกษตรให้สูงขึ้นแล้ว ยังเป็นตัวช่วยในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การทำเกษตรสีเขียวได้ด้วย

สำหรับ Climate Smart Water Management Solutions หรือ การบริหารจัดการน้ำ​แบบอัจฉริยะเพื่อรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คือ การใช้เทคโนโลยีมาช่วยยกระดับการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้สอดคล้องกับการมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลัก ESG โดยใน Ecosystem ประกอบด้วย 4 ส่วน ประกอบด้วย 1. กระบวนการได้มาซึ่งแหล่งน้ำ (Source of Water) 2. กระบวนการบำบัดน้ำ (Water Treatment) 3. กระบวนการลำเลียงน้ำ (Water Distribution) และ 4. กระบวนการใช้น้ำ (Use)

ทั้งนี้ Krungthai COMPASS ประเมินตลาด Climate Smart Water Management Solutions ผ่านการศึกษาเรื่อง Climate Smart Water Management Solutions ทางรอดภาคเกษตรไทย ในยุค Decarbonization​ โดยคาดว่าตลาด Climate Smart Water Management Solutions ของโลก จะมีมูลค่า 24,940 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 8.6 แสนล้านบาท) ในปี 2574 หรือเติบโตเฉลี่ย 13.7% ต่อปี ขณะที่ในช่วงปี 2567-2573 คาดว่า ประเทศไทยจะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนเทคโนโลยี Climate Smart Water Management Solutions อยู่ที่ 3.6 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการจัดการน้ำในภาคเกษตรลงได้ราว  50-75% ​ข้ึนอยู่กับประเภทของเทคโนโลยี​

พร้อมทั้งแนะนำ 4 เทคโนโลยี Climate Smart Water Management Solutions ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้ภาคเกษตรลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ตลอดห่วงโซ่การผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยลดผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ​ ประกอบด้วย

1. เทคโนโลยีผลิตน้ำจากอากาศ (AWG : Atmospheric Water Generator)โดยข้อมูลจาก Airwaterawg ระบุว่า กระบวนการในการได้น้ำมาใช้จำเป็นต้องมีการสูบน้ำจากบาดาล ทำให้มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่หากมีการประยุกต์เทคโนโลยีผลิตน้ำจากอากาศ ด้วยการเปลี่ยนความชื้นในอากาศให้กลายเป็นน้ำ ที่เลียนแบบกระบวนการเกิดฝนตามธรรมชาติ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในที่ห่างไกล จะทำให้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 70%

 2. การบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีทางชีวภาพ (Biological Treatment) ซึ่งงานวิจัยของ J. L. Campos และ คณะ ได้ชี้ว่าการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีการทางชีวภาพหรือใช้จุลินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมีในการกำจัดสิ่งเจือปนในน้ำเสีย โดยเฉพาะสาร์คาร์บอนอินทรีย์ไนโตรเจน และฟอสฟอรัส โดยจุลินทรีย์เป็นแบบไม่ใช้ออกซิเจน (Anaerobic Organisms) จะมีการใช้พลังงานต่ำ มีการนำก๊าซชีวภาพกลับมาใช้ใหม่ และการผลิตตะกอนที่น้อยลง ซึ่งมีส่วนลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ราว 60%

3. เครื่องสูบน้ำพลังแสงอาทิตย์  (Solar-Powered Water Systems) ในภาคเกษตรของอินเดียมีการประยุกต์ใช้เครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์โดยไม่ต้องพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และพลังงานไฟฟ้า จึงสามารถติดตั้งในบริเวณที่มีแสงแดดส่องถึงได้ง่าย และเหมาะสำหรับพื้นที่ชนบทส่วนใหญ่ของอินเดีย ที่ไม่สามารถเข้าถึงการใช้ไฟฟ้า รวมถึงยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย​การศึกษาของ ICA (International Copper Association -India และ IIEC (International Institute of Energy Conservation) ชี้ว่า เครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 75% พร้อมทั้งช่วยให้เกษตรกรชาวอินเดียมีรายได้เพิ่มขึ้น 25% เนื่องจากมีน้ำใช้ที่เพียงพอจนทำให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มสูงขึ้น

4. การปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง (AWD : Alternate Wetting and Drying) ​เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยข้อมูลจาก World Bank​ ชี้ว่า การปลูกข้าวแบบ เปียกสลับแห้งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตข้าวลงได้ถึง 50% และยังช่วยลดการใช้น้ำลงได้ 30-35% สอดคล้องกับเกษตรกรขาวฟิลิปปินส์ที่มีการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง ซึ่งเป็นการทำนาโดยควบคุมระดับน้ำในแปลงนา ให้มีช่วงน้ำขัง สลับกันไปกับช่วงน้ำแห้ง ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งพบว่า ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตข้าวได้ถึง 20-70% รวมทั้งช่วยลดการใช้น้ำได้ถึง 30%

Stay Connected
Latest News