‘ความยั่งยืน’ จุดอ่อนประเทศไทย รั้งท้ายตาราง อันดับ 88 จาก 107 ประเทศทั่วโลก คะแนนรวม 40 เต็มร้อย

‘ความยั่งยืน’ ประเทศไทย รั้งท้ายโลก ติดอันดับ 88 จาก 107 ประเทศ คะแนนรวม 40 เต็ม 100 ซึ่งยังถือเป็นจุดอ่อนที่เข้ามาถ่วงศักยภาพการพัฒนาในอนาคตโดยรวมของประเทศ

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CBS  เผยแพร่รายงาน The Future of Growth Report 2024 สะท้อนความสามารถในการสร้างการเติบโตในอนาคตของประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวม 107 ประเทศ ซึ่ง CBS เป็นองค์กรหนึ่งเดียวของไทยที่ได้ร่วมจัดทำรายงานร่วมกับ World Economic Forum (WEF)

ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าว ได้พิจารณาความแข็งแรงจาก 4 มิติ ที่มีผลต่อการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในอนาคตของแต่ละประเทศ ประกอบด้วย Innovativeness : การพัฒนาด้านนวัตกรรม,  Inclusiveness : การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างครอบคลุม, Sustainability : ความยั่งยืน และ Resilience : ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว

 
ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งจากผลการศึกษา The Future of Growth Report 2024 ท่ีเกี่ยวข้องกับศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทย พบว่า
– ความสามารถสร้างการเติบโตในอนาคตของประเทศไทยโดยภาพรวม อยู่อันดับ 51 ของโลก เมื่อเทียบกับทั้ง 107 ประเทศ โดยมีคะแนน 48.99 คะแนน จาก 100 คะแนน มีสวีเดนเป็นผู้นำโลกด้วยคะแนน 71.15 และเมื่อเทียบกับประเทศกลุ่ม ASEAN +3 พบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 7 โดยมีญี่ปุ่นเป็นผู้นำของกลุ่มด้วยคะแนน 63.51
 
– มิติด้านความยั่งยืน เป็นจุดที่ประเทศไทยอ่อนแอที่สุด เมื่อเทียบกับทั้ง 4 มิติ โดยคะแนนด้านความยั่งยืน ประเทศไทยอยู่อันดับ 88 ของโลก ด้วยคะแนนรวม 40.84 จาก 100 คะแนน ห่างจากสวีเดนที่ได้อันดับ 1 ด้วยคะแนน 62.87 และเป็นอันดับ 8 ใน ASEAN +3 โดยคะแนนที่ได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก (46.8) และค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (44.0)  เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความจำเป็นที่ต้องมีการเร่งดำเนินการเพื่อพัฒนาด้านความยั่งยืนของไทยให้เพิ่มมากขึ้น
– หากเทียบคะแนนกับอีก 3 มิติ จะพบว่า คะแนนโดยรวมของประเทศไทยจะอยู่ในอันดับกลางๆ ของตารางเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ ด้านนวัตกรรม ไทยอยู่อันดับ 38 ของโลก ด้วยคะแนน 47.94 ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก (45.2) และค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (39.3) สะท้อนให้เห็นถึงความโดดเด่นของไทยในการเพิ่มขีดความสามารถด้านนวัตกรรม
– ด้านความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐาน (Inclusiveness)  ประเทศไทยได้คะแนน 55.66 ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยโลก (55.9) และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (54.8) แสดงให้เห็นว่าไทยยังคงดำเนินการเพื่อการเติบโตที่เป็นธรรมและรวมทุกภาคส่วนเข้าไว้ด้วยกัน
– ด้านความยืดหยุ่นและการปรับตัว (Resilience) ซึ่งแสดงถึงการปรับตัวต่อผลกระทบต่างๆ คะแนนของประเทศไทยเท่ากับ 51.5 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก (52.75) เล็กน้อย แต่ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางระดับบน (50.0) สะท้อนให้เห็นว่าไทยมีความสามารถในการตอบสนองและฟื้นฟูจากวิกฤติต่างๆ ได้พอประมาณ และควรมีการพัฒนาในด้านนี้ต่อไป
– มิติด้านความยั่งยืนที่ประเทศไทยทำได้ค่อนข้างดี (TOP 5) เช่น การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ การขับเคลื่อนเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การอุดหนุนด้านพลังงาน ส่วนสิ่งที่ยังทำได้ไม่ดี (Bottom 5) เช่น การจดสิทธิบัตรนวัตกรรมสีเขียว การลงทุนและบริโภคพลังงานทดแทน การเกษตรที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม และการจัดการน้ำโดยรวม เป็นต้น
 
CBS มองว่าหากประเทศไทยจะเพิ่มศักยภาพการเติบโตในอนาคต ต้องเสริมแกร่งด้านนวัตกรรมที่ขณะนี้ทำคะแนนได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยของโลก แต่ต้องเปลี่ยนจากการเป็นผู้ใช้นวัตกรรมมาเป็นผู้สร้างนวัตกรรม และเร่งพัฒนาด้านความยั่งยืนที่ยังถือว่าเป็นจุดอ่อนอยู่ เพื่อมาช่วยดึงคะแนนภาพรวมให้สูงขึ้นได้อีกค่อนข้างมาก
 
-แต่ละมิติที่ต้องเสริมเพื่อสร้างการเติบโตแบบองค์รวม ประกอบด้วย Innovativeness : เร่งสร้างกฏระเบียบปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรม ให้ความสำคัญกับตลาดแรงงานที่มีความรู้ และป้องกันสมองไหล Inclusiveness : เร่งลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้และสิทธิ ลดหนี้นอกระบบ และเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน Sustainability : เร่งพัฒนากฏหมายคุ้มครองธุรกิจด้านความยั่งยืน เพิ่มการลงทุนในพลังงานทดแทน คุ้มครองสภาพแวดล้อมด้านเกษตรและคุณภาพน้ำ และ Resilience : เน้นเพิ่มทักษะแรงงานระดับกลาง ให้ความสำคัญกับบุคลากรการแพทย์และเพิ่มเตียงในโรงพยาบาล สร้างความเชื่อมั่นต่อบริการภาครัฐ และลดความแตกแยกทางการเมือง

ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ กล่าวปิดท้ายว่า การนำเสนอรายงานในครั้งนี้แสดงให้เห็นข้อมูลระดับประเทศที่ช่วยให้ผู้มีส่วนกำหนดนโยบายและทิศทางในการพัฒนาการเติบโตของประเทศจาก 4 มิติ ที่สำคัญต่อการเติบโตของประเทศ ซึ่งจะเป็นเข็มทิศในการกำหนดแนวทางนโยบาย และกลยุทธ์สำหรับประเทศไทย เพื่อเสริมสร้างการเติบโตที่มีทั้งในด้านนวัตกรรม ด้านความครอบคลุมของโครงสร้างพื้นฐาน ด้านความยั่งยืน และด้านยืดหยุ่นให้ดียิ่งขึ้นไป

“การพัฒนาต้องทำแบบองค์รวมทั้ง 4 มิติ เพื่อสร้างให้เกิดการเติบโตทุกด้านอย่างรอบด้านและมีความสมดุล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมีความสำคัญมากกว่าการผลักดันให้เกิดการเติบโตได้อย่างรวดเร็วแต่สุดท้ายแล้วไม่มีความยั่งยืน”

Stay Connected
Latest News