‘ทักษะ’ มาก่อน ‘ประสบการณ์’ โมเมนตัมใหม่ ‘ตลาดงาน’ ยุคทาเลนต์ขาดแคลน เมื่อ AI Effect ส่งผล​ Jobs Landscape เปลี่ยน

การเติบโตของเทคโนโลยี AI ที่​เข้ามามีบ​​​ทบาทสำคัญในโลกยุคปัจจุบันมากขึ้น​ โดยเฉพาะใน ‘ตลาดแรงงาน’ ที่นำมาสู่​ความกังวลว่าการพัฒนา AI อาจ​ทำให้งานในหลายๆ ตำแหน่งต้องหายไปเพราะถูกทดแทนด้วย AI แต่ขณะเดียวกัน ก็นำมาสู่การเกิดตำแหน่งงานใหม่ๆ ในตลาดด้วยเช่นเดียวกัน

คุณธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ ประเทศไทย (Adecco Thailand) กล่าวว่า การพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในช่วง Post-covid โดยเฉพาะการเติบโตของ AI ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ในตลาดแรงงานทั้งประเทศไทยและทั่วโลก โดยเชื่อว่าหลายองค์กร​ยังคงปรับโครงสร้างอย่างต่อเนื่องในปีนี้ และมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้น ​​ทำให้บริบทในตลาดแรงงาน หรือ Jobs Landscape เปลี่ยนแปลง เกิดการแทนที่แรงงานด้วย AI ในบางตำแหน่ง

ขณะเดียวกันก็จะมีตำแหน่งงานใหม่ๆ เกิดขึ้นมาทดแทน ทำให้ภาพรวม​ปริมาณงานไม่ได้ลดลง แต่ Jobs Landscape เปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจส่งผลให้ Skill Set แบบเดิมที่เคยมีอยู่ในตลาดไม่สามารถตอบโจทย์การทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้ขาดแคลนคนทำงานโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่ม Talent หรือกลุ่มคนที่มี​ศักยภาพระดับสูงจะยิ่งหายากมากขึ้นไปอีก

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนภาพการเปลี่ยนผ่านของตลาดแรงงาน​จาก Job-Based Economy มาเป็น Skill-Based Economy หมายความว่า การทำงานต่างๆ ในอนาคต ​​แม้จะเป็นงานในตำแหน่งเดิมที่เคยทำมาก่อนหน้า​นี้​ แต่อาจไม่สามารถใช้ความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ หรือสกิลเดิมๆ ที่เคยมีมาขับเคลื่อนงานได้อีกต่อไป​ ซึ่งถือ​เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้องค์กรต่างๆ จำเป็นต้องเติมเรื่องของการ Up-skill ให้แก่พนักงาน เพิ่มมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการปรับกลยุทธ์ในการหาคน ที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องทักษะ ความสามารถ หรือ Skill Base เป็นอันดับแรกเช่นกัน

“องค์กรจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ในการหาคน โดยเฉพาะในกลุ่มทาเลนต์ที่ตลาดต้องการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องยึดติด​กับเรื่องของประสบการณ์ เพราะคนที่เคยมีประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา อาจ​ไม่สามารถทำงานในปัจจุบันได้ จากแลนด์สเคปที่เปลี่ยนแปลงไป หรือการมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ​เข้ามา ​ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องมองว่าเค้าเป็นใคร จบจากมหาวิทยาลัยไหน หรือแม้แต่มีประสบการณ์​ทำงานในตำแหน่งนี้หรือด้านนี้มาก่อนหรือไม่ เพราะบางครั้งประสบการณ์เดิมๆ อาจไม่สามารถนำมาปรับใช้กับงานปัจจุบันได้ รวมทั้งมหาวิทยาลัยก็ไม่ใช่แหล่งเรียนรู้เดียว แต่​มีชุดความรู้ หรือบางทักษะที่สามารถสร้างได้แม้ไม่จบปริญญาตรีด้วยซ้ำ แต่สิ่งที่องค์กรต้องมองคือ คนที่สามารถทำงาน​ตอบโจทย์ตามบริบทของงานที่เปลี่ยนแปลงไป หรือต้องเปลี่ยนมามองเรื่องของ Skill Base เป็นอันดับแรก ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีความต้องการในตลาดสูง แต่ปริมาณซัพพลายยังขาดแคลน” ​

Flexible Workforce ปัจจัยดึง​ทาเลนต์ร่วมงาน 

Adecco Thailand ยังแชร์อินไซต์จากผลสำรวจ Salary and Work Trend Survey โดยเฉพาะมุมมองต่อการเข้ามาของเทคโนโลยี AI พบว่า คนทำงานไทยส่วนใหญ่มากกว่า 2 ใน 3 (74%) มองการเกิดขึ้นของ Generative AI (GenAI) เช่น ChatGPT ในแง่ดี เพราะเชื่อว่ามีส่วนช่วยให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น​ โดยมีถึง 45% ที่ใช้ AI มาช่วยในการทำงานเป็นประจำ มีเพียง 24% ที่กังวลว่าอาจโดน AI แย่งงานได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า

โดย​เฉพาะ​กลุ่มพาร์ทไทม์ คนที่กำลังว่างงาน และผู้บริหาร ​เนื่องจาก GenAI สามารถทำงานได้หลากหลายและช่วยจัดการงานตั้งแต่งานเล็กๆ อย่างการแปลภาษา งานออกแบบ ทำกราฟฟิค จนถึงวางโครงงานโปรเจคต่างๆ  ทำให้คนที่ทำงานพาร์ทไทม์ที่อาจรับงานเป็นชิ้นงาน อาจไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ในขณะที่ผู้บริหารอาจเกิดความกังวลว่าจะไม่สามารถตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ทัน ไม่รู้วิธีใช้งาน AI อย่างมีประสิทธิภาพ หรืออาจกังวลว่า ด้วยข้อมูลที่มีมากกว่า และความสามารถในการประมวลผลที่เร็วกว่า AI ก็อาจจะประเมินสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีกว่าคนที่มีประสบการณ์สูง

ทั้งนี้ ยังพบว่าอีกหนึ่งสิ่งที่ Workforce รุ่นใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มทาเลนต์ให้ความสำคัญอย่างมากในปัจจุบัน คือ Flexible Workforce เช่น การมีนโยบาย Remote / Hybrid Work ซึ่งมีความสำคัญมาเป็นอันดับ 2 รองจากเรื่องของผลตอบแทน (Competitive Salary) และมาก่อนเรื่องของโอกาสในการเติบโต หรือ Career Path จึงเป็นอีกแนวทางที่องค์กรจะสามารถนำไปปรับเพื่อเป็นกลยุทธ์ในการดึงดูดและรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรได้ รวมทั้งสามารถดึงดูดทาเลนต์ได้จากทั่วโลก แต่การที่แต่ละองค์กรจะสามารถขับเคลื่อน​ Flexible Workforce ยังเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะจำเป็นต้องขับเคลื่อนพร้อมกันในหลายมิติ ทั้งในส่วนผู้ปฏิบัติงาน หัวหน้างาน ฝ่ายบุคคล เพื่อหาโซลูชั่นในการทำงานแบบรีโมท หรือไฮบริด ที่สอดคล้องกับลักษณะและรูปแบบงาน เพื่อให้ได้ Productivity สูงสุด รวมทั้งความพร้อมในเชิงระบบและเทคโนโลยี เพื่อป้องกันความปลอดภัยของข้อมูลทั้ง​เรื่องของ PDPA หรือ Data Security เพื่อไม่ให้ข้อมูลสำคัญต่างๆ รั่วไหล เป็นต้น

Workforce รุ่นใหม่ ​ยังมองเรื่องการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง (Strong Company Culture) เพื่อให้พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร และให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายร่วมกัน นำมาสู่ความผูกพันและต้องการอยู่กับองค์กรในระยะยาว ซึ่ง​ทาเลนต์คุณภาพมักจะมองหาองค์กรที่มีวัฒนธรรมที่สะท้อนถึงค่านิยมและเป้าหมายที่ตรงกับตนเองและสะท้อนถึงความรับผิดชอบทางสังคมแบบยั่งยืน ​โดยเฉพาะ Gen Z ที่เป็นแรงงานรุ่นใหม่ และจะกลายเป็นแรงงานหลักในตลาด ที่นิยมการทำงานแบบทีม ​แบ่งปันความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การส่งเสริมความหลากหลายและการรวมกลุ่ม ความยืดหยุ่นในการทำงาน

“หนึ่งในวัฒนธรรมองค์กรที่สำคัญคือ การดูแลด้าน Well Being ของพนักงาน ทั้ง Physical และ Emotional โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่​​ที่อาจมีมุมมองแตกต่างจากคนุร่นก่อนหน้า จึงต้องดูแลทั้งร่างกายและจิตใจไปพร้อมกัน ซึ่งการให้ความสำคัญกับเรื่องของจิตใจมากขึ้น ซึ่งการ​​ทำให้พนักงานที่มีความสุขและพึงพอใจมักจะทำงานได้ดีขึ้น และสามารถช่วยลดอัตราการเปลี่ยนงานของพนักงาน ซึ่งเป็นการประหยัดทรัพยากรและเวลาที่จะต้องใช้ในการสรรหาและฝึกฝนพนักงานใหม่” 

เปิดอินไซต์คนทำงานรุ่นใหม่ ยุค GenAI

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยต่างๆ  พร้อมอินไซต์ที่พบจากการสำรวจ เพื่อเข้าใจและสามารถดึงดูดกลุ่ม Workforce รุ่นใหม่ รวมทั้ง Talent ในตลาดได้ ประกอบด้วย

1.  คนทำงานในประเทศไทยส่วนใหญ่ หรือ 67% รู้สึกมั่นคงในอาชีพมากกว่าเดิม โดยเฉพาะคนในอุตสาหกรรมไอที อสังหาริมทรัพย์ และบริการเฉพาะด้านการให้คำปรึกษา ซึ่งเป็น 3 อุตสาหกรรมที่มองว่าธุรกิจที่ตนเองสังกัดกำลังเติบโตมากที่สุด ทั้งนี้อาจเป็นผลมาจากการใช้เทคโนโลยีในองค์กรที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ทำให้คนกล้าใช้เงินซื้อสินทรัพย์หรือพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น รวมถึงการหันมาใช้บริการจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อตอบสนองความต้องการขององค์กรได้อย่างทันท่วงที

2. คนทำงาน 36% บอกว่าตนเองกำลังมองหางานใหม่อย่างจริงจังในช่วงปีนี้ ในขณะที่ 54% บอกว่าพร้อมเปิดรับโอกาสใหม่ ๆ

3. ปัจจัยสำคัญของ Workforce ยังคงเป็นเรื่องของ ​Competitive Salary  ซึ่งจากผลสำรวจพบว่าเป็นปัจจัยที่ผู้สมัครงาน 94% ใช้พิจารณาในการร่วมงานกับองค์กรหนึ่งๆ

4. คนที่ต้องการเปลี่ยนงาน 60% คาดหวังการได้เงินเพิ่มมากกว่า 20% จากงานใหม่ และยิ่งมีอายุการทำงานน้อยก็จะมีสัดส่วนที่ต้องการเงินเดือนเพิ่มมากกว่าคนที่อยู่นานกว่า

5. พนักงานในองค์กรขนาดใหญ่ (องค์กรขนาด 500 คนขึ้นไป) ให้คะแนนระบบพัฒนาทรัพยากรบุคคลขององค์กร (Learning & Development) ในระดับดี-ดีมาก ซึ่งเป็นคะแนนที่สูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนจากพนักงานในองค์กรขนาดเล็กถึงขนาดกลาง แสดงถึงการให้ความสำคัญขององค์กรใหญ่ที่จำเป็นต้องมีการ reskill/upskill ให้กับพนักงานจำนวนมาก เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ

6. คนทำงาน 64% มองว่า CSR (Corporate Social Responsibility) / ESG (Environment Social Governance) เป็นหน้าที่ที่สำคัญลำดับต้นๆขององค์กร

7. ทักษะด้านดิจิทัลและความเป็นผู้นำ เป็นทักษะอันดับหนึ่งร่วมกันที่คนทำงานกว่า 60% ต้องการพัฒนา โดยมองว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการก้าวหน้าในอาชีพได้มากที่สุด โดยทักษะด้านดิจิทัลเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ไม่ว่าจะทำงานในตำแหน่งหรือระดับใดในยุคปัจจุบัน ในขณะที่ทักษะความเป็นผู้นำก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้สามารถบริหารทีมงานที่มีความหลากหลายมากขึ้นในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

8. ผลกระทบจาก digital disruption จะเพิ่มการจ้างงานในรูปแบบ partnership & outsourcing หรือการจ้างคนและทีมงานภายนอก เพื่อเพิ่มความคล่องตัวให้กับองค์กร ซึ่งการปรับโครงสร้างองค์กรในลักษณะนี้ยังส่งผลให้ธุรกิจ career transition & outplacement ที่เชี่ยวชาญในการปรับโครงสร้างองค์กรและการเลิกจ้างเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมมากขึ้น รวมถึงเชื่อว่าการแย่งชิงตัวทาเลนต์จะคึกคักมากกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในตำแหน่งดิจิทัล AI และพลังงานทดแทน เพื่อรองรับแนวทางการพัฒนาธุรกิจในปัจจุบันและอนาคต

Stay Connected
Latest News