กรณีศึกษา ​’Green Chongqing’ ​​การจัดการ​​ ‘ฉงชิ่ง’ เปลี่ยนผ่านจากเมืองอุตสาหกรรม สู่มหานครที่​เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ฉงชิ่ง (Chongqing) เป็นอีกหนึ่งเมืองเศรษฐกิจสำคัญทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และเป็นมหานครที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน มีเนื้อที่ราว 82,400 ตารางกิโลเมตร เกือบเท่ากับภาคกลางของประเทศไทย และมีจำนวนประชากรรวมกันกว่า 32 ล้านคน

ทั้งนี้ เมื่อราว 10 ปีก่อน เมืองเศรษฐกิจของแผ่นดินใหญ่แห่งนี้ เคยประสบปัญหามลพิษทางอากาศอย่างมาก โดยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการขับเคลื่อนของภาคอุตสาหกรรม การเผาไหม้ถ่านหินและเชื้อเพลิงชีวภาพ ทำให้รัฐบาลเร่งออกนโยบาย​​ช่วยแก้ไขปัญหา เช่น สงครามปกป้องท้องฟ้าสีคราม (Blue sky defense battle) ​นโยบาย​ส่งเสริมพลังงานสะอาด ​ รวมทั้งนโยบาย​ขับเคลื่อนอย่างยั่งยืน โดยวางเป้าหมายเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2060

นอกจากนี้ ยังได้ขับเคลื่อนการจัดการในมิติอื่นๆ ภายในเมือง เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนและเปลี่ยนผ่าน ไปสู่การใช้พลังงานสะอาด เพื่อช่วยแก้ปัญหามลพิษทางอากาศให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างสูงสุด ซึ่งคุณเบญจมาส โชติทอง และ คุณวิลาวรรณ น้อยภา นักวิชาการจาก สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) ได้​ศึกษา​แนวทางการขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองของอีกหนึ่งมหานครของโลกอย่าง​ฉงชิ่ง พร้อมสรุปข้อมูล​​​การจัดการ​ตามแนวทาง​ ‘Green Chongqing’ ไว้ดังต่อไปนี้

1. การดูแลภูมิทัศน์รอบเมือง การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง โดยการปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้ตลอดสองข้างทางของถนน นับตั้งแต่สนามบินเจียงเป่ย (Jiangbei) และการมอบหมายให้มีการดูแลบริหารจัดการเป็นอย่างดี

2. การสร้างเครือข่าย​ทางสังคม โดยการเป็นพันธมิตรกับกลุ่ม Social organizations ​ซึ่งเป็น​องค์กรพัฒนาภาคเอกชน​ หรือ​กลุ่ม NGO ต่างๆ ให้เข้ามา​มีส่วนร่วมในการช่วยเฝ้าระวังมลพิษ และทำงานร่วมกับบริษัทเอกชนมากขึ้น พร้อมทั้งกระตุ้นเยาวชนและสังคมให้เรียนรู้และปกป้องธรรมชาติ เช่น กรณีศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติ การอนุรักษ์นกอินทรีย์

3. ขยายชุมชนเกษตรอินทรีย์ โดยนำองค์ความรู้สมัยใหม่เข้ามาใช้ในการทำเกษตร ​พัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรพื้นบ้านให้เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เพื่อสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่น รวมทั้งการเข้ามาส่งเสริมของทางภาครัฐ เช่น โมเดลพัฒนาเมืองดาชู (Dashu Town)

4. แยกประเภทรถยนต์ด้วยสีป้ายทะเบียน การแยกป้ายทะเบียนรถยนต์เป็น 2 สี อย่างชัดเจน คือ ป้ายทะเบียนสีน้ำเงิน ที่เป็นรถเครื่องยนต์สันดาปแบบดั้งเดิม และป้ายทะเบียน​สีเขียว สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV (Electricity vehicle) ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนวิ่งอยู่ภายในเมืองประมาณ 20% ​และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต

5. ​โครงสร้างพื้นฐานและ​เทคโนโลยี EV Charger การเร่งพัฒนาระบบชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ EV พร้อมลงทุนขยายสถานี และจุด​ชาร์จแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ EV ซึ่งเริ่มมีจำนวนครอบคลุมมากขึ้น​ในเขตเมือง และจะเร่งขยายเพิ่มเติมในพื้นที่ชนบทที่ยังมีอยู่อย่างจำกัดให้​มากขึ้น

6. สถานีสลับแบตเตอรี่สำหรับรถแท็กซี่ EV โดยใช้เวลาในการเปลี่ยนแบตก้อนใหม่ไม่ถึง 1 นาที เพิ่มความสะดวกและช่วยลดเวลาในการชาร์จไฟฟ้าระหว่างการวิ่งให้บริการ ซึ่งมีแผนขยายจุดให้บริการให้ครอบคลุมเพิ่มเติมในอนาคต

7. การสนับสนุน​ธุรกิจสตาร์อัพใหม่ ๆ โดยเฉพาะด้านธุรกิจพลังงานสะอาด และการเข้ามาสนับสนุนจากภาครัฐบาล เพื่อช่วยเร่งการเติบโตของธุรกิจที่มีส่วนเข้ามาช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน และเพิ่มความแข็งแรงให้ธุรกิจที่อยู่ในระบบนิเวศ ซึ่งบางบริษัท แม้เพิ่งก่อตั้งได้ 4-5 ปี แต่สามารถขยายการดำเนินงานได้อย่างก้าวกระโดด

8. การขยายระบบนิเวศธุรกิจพลังงานสะอาด โดยเฉพาะการให้บริการแบบครบวงจร (Total Solutions) ของธุรกิจ​พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ (Solar Power Solutions) ตั้งแต่การขออนุญาตติดตั้ง การติดตั้ง ระบบการติดตามแบบเรียลไทม์ บริการทำความสะอาดซ่อมบำรุงแผงโซลาร์ ฯลฯ โดยยังต้องเสริม​ด้านการจัดการซากอุปกรณ์หลังการใช้งานเพิ่มเติมให้มากขึ้น

9. พัฒนาระบบเก็บพลังงาน (Energy storage) ​โดยต้องตอบโจทย์การใช้งานได้ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งรองรับการใช้งานในระดับอุตสาหกรรม ​ระดับครัวเรือน รวมไปถึงรองรับไลฟ์สไตล์ในยุค Mobility เช่น สามารถอำนวยความสะดวก​การใช้งานนอกสถานที่ เช่น การแคมปิ้ง

10. ส่งเสริมการพัฒนาในเชิงวิชาการ ทั้งความร่วมมือเพื่อการทำงานวิจัย ด้านพลังงาน เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนการลงทุนของภาคเอกชน เช่นที่ Chongqing University มีงานวิจัยเกี่ยวกับพลังงานสะอาด การรีไซเคิลวัสดุ พลังงานจากขยะ

ปัจจุบ้น ฉงชิ่งมีความก้าวหน้าในการพัฒนาด้านพลังงานสะอาด​ เป็นเพราะนโยบายและมาตรการส่งเสริมจากรัฐบาล ​ช่วยเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนให้แก่ภาคเอกชน แต่​ย่างไรก็ตาม แม้การพัฒนาด้านพลังงานสะอาดของจีนจะรุดหน้าเพิ่มมากขึ้น ​จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานสะอาดออกไปทั่วประเทศ แต่​​ปัจจุบันจีนยังใช้แหล่งพลังงานส่วนใหญ่จากถ่านหินกว่า 50% และน้ำมันดิบเกือบ 20% เพื่อรักษาความมั่นคงทางพลังงาน​ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ เนื่องจากยังคงมีปริมาณการใช้พลังงานจำนวนมาก และแนวโน้มที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น แหล่งพลังงานฟอสซิลก็ยังคงมีบทบาทสำคัญอยู่​ในปัจจุบันนี้

Stay Connected
Latest News