Governance พื้นฐานสำคัญของ ‘ความยั่งยืน’ ถ้าไม่มี G ที่แข็งแรง สุดท้ายแล้ว ทั้ง E และ S ก็ต้องพังทลาย

​ความยั่งยืน​​ คือ การพัฒนาเพื่อสร้างการเติบโตที่ขับเคลื่อนภายใต้การคำนึงถึง 3 กรอบสำคัญ ทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental) ผลกระทบทางด้านสังคม (Social) และการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล และมีจริยธรรม (Governance) หรือ ESG

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในเชิงการรับรู้ หรือ Awareness ส่วนใหญ่ของผู้คน มักจะอยู่ที่มิติด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม หรือ E : Environmental เป็นหลัก เนื่องจาก ความกังวลต่อปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง หรืออุณหภูมิที่สูงขึ้นต่อเนื่อง จนเริ่มมีเอฟเฟ็กต์ ทั้งจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ หรือค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่ปรับตัวสูง จนกระทบเงินในกระเป๋าของผู้คนมากขึ้น

ขณะที่ในมิติของ S : Social นั้น ก็เริ่มถูกพูดถึงมากขึ้นทั้งในแง่ของการลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างความเท่าเทียม การดูแลคน ดูแลพนักงานในองค์กร และขยายมาสู่การดูแลชุมชน ดูแลสังคม ซึ่งอาจจะยังไม่เป็นกระแสวงกว้างมากนัก แต่เริ่มมีการขยายตัวและสร้างการรับรู้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนมิติของ G : Governance หรือเรื่องของความมีธรรมาภิบาล ความมีจริยธรรมในธุรกิจ น่าจะเป็นมิติที่มี Awareness หรือเรียกได้ว่า คนทั่วไปอาจไม่ค่อยให้ความสำคัญมากนัก เมื่อเทียบกับ E และ S เพราะส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องของฝ่ายบริหาร ขณะที่รายละเอียดลึกๆ ก็มักจะเป็นข้อกำหนดด้านความโปร่งใส การจัดตั้งคณะกรรมการสำหรับการขับเคลื่อนองค์กร รวมทั้งบทบาทหน้าที่ในการบริหารจัดการองค์กร หลายคนจึงมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว และให้ความสนใจหรือ​มองความสำคัญของตัว G น้อยที่สุด เมื่อเทียบกับ E หรือ S

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว G  ถือว่ามีความสำคัญมากที่สุด และเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างให้เกิดการเติบโตที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนธุรกิจที่ต้องบาลานซ์ทั้ง 3P คือ People หรือมิติของผู้คน และสังคม,  Planet ในมิติด้านสิ่งแวดล้อม และ Profit ในมิติของการสร้างความแข็งแกร่งให้ธุรกิจ จนสร้างกำไร และเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ดังนั้น ธุรกิจต้องแข็งแกร่ง และอยู่ได้ จึงสามารถส่งต่อความแข็งแรงไปสู่สังคม และสิ่งแวดล้อมได้ แต่หากธุรกิจใด แม้จะมีความโดดเด่นในการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อม แต่หากไม่มีธรรมาภิบาล รากฐานของธุรกิจก็จะอ่อนแอ และสามารถทำให้ทุกอย่างพังทลายลงได้ในที่สุด ​​ธรรมาภิบาล และจริยธรรมในการทำธุรกิจ หรือ Governance จึงถือเป็นแก่นสำคัญของการเติบโตอย่างยั่งยืนเช่นเดียวกัน

 

G = พื้นฐานความยั่งยืน ไม่มี G ก็ไม่มี E ไม่มี S

ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร  รองผู้จัดการ  หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและโครงการกลยุทธ์ และหัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET กล่าวถึงถึงความสำคัญของ Governance หรือการดูแลธรรมาภิบาลในธุรกิจ  ในงานสัมมนา ESGNIVERSE 2024 : Real – World of Sustainability งานสัมมนาจักรวาลแห่งความยั่งยืน โดย BrandBuffet โดยมองว่า มิติด้าน Governance เป็นพื้นฐานสำคัญของความยั่งยืน ถ้าไม่มี G ​ก็จะไม่สามารถมี E และ S ได้เช่นกัน ซึ่งการขับเคลื่อน Governance ที่ดี ไม่ใช่เพียงแค่การกำหนดเป็นนโยบายลงมาเพื่อให้ปฏิบัติตามเท่านั้น แต่ต้องสามารถปลูกฝังให้กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร ต้องทำให้เป็นเรื่องที่คนทั้งองค์กรต้องให้ความสำคัญ ไม่ใช่แค่หน้าที่ของฝ่ายบริหาร แต่เป็นเรื่องของภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือ และการสร้างความเชื่อมั่นซึ่งสุดท้ายแล้วจะส่งผลต่อความอยู่รอดขององค์กรและทุกคนในองค์กร

“ผลกระทบจาก Governance ​สั่นสะเทือนต่อธุรกิจได้ทุกมิติ แม้บริษัทหนึ่งที่มีชื่อเสียงด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม ลดคาร์บอนได้โดดเด่น ช่วยเหลือสังคมมาอย่างต่อเนื่อง หรือแม้กระทั่งมีตัวเลขผลประกอบการที่ดีมาก แต่สุดท้ายแล้วพบว่าข้อมูลต่างๆ เหล่านั้​นได้มาจากกระบวนการที่ไม่โปร่งใส และไม่ถูกต้อง ไม่เพียงแค่เสียชื่อ เสียภาพลักษณ์ แต่จะกระทบต่อความเชื่อมั่น และความไว้วางใจจากทุกฝ่ายในอนาคต จนสุดท้ายธุรกิจ องค์กร หรือโครงการต่างๆ เหล่านี้ก็จะสามารถพังทลายลงได้ในเวลาเพียงแค่ข้ามคืน ดังนั้น เสาของ Governance ก็คือเสาของ Profit ใน 3P  ซึ่งมีความสำคัญมาก และสามารถส่งผลกระทบไปยังทุกมิติ”

ในทางกลับกัน การมี Governance ที่แข็งแรง สามารถสร้าง Advantage ให้ธุรกิจได้หลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น ​สร้างการเติบโตที่​ยั่งยืน ลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจ ​ลดความขัดแย้งและการฉ้อโกง​ต่างๆ ช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้ธุรกิจ ลดความท้าทายจากการยกระดับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม​ รวมทั้งส่งเสริมการปลูกฝังทัศนคติ พฤติกรรมเชิงบวกให้เกิดขึ้นภายในองค์กร เพื่อมุ่งสู่องค์กรที่ยั่งยืน ที่มีระบบการกำกับดูแลอย่างโปร่งใส ​เป็นองค์กรที่เต็มไปด้วยทั้งคนเก่งและคนดี มีภูมิต้านทานจากความเสี่ยงในกระแสโลก พร้อมสำหรับการปรับตัวและเปิดรับนวัตกรรม เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ๆ นำมาซึ่งกำไรที่ และพลังในการดูแลสังคม และสิ่งแวดล้อมได้เพิ่มมากขึ้น

“มีหลายเคสธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ ที่มีปัญหาด้านธรรมาภิบาลและจริยธรรมในธุรกิจ ทำให้เกิดแรงต้านจากสังคมหรือแม้แต่พนักงานในหลากหลายรูปแบบ ขณะที่หากมี Good Governance ก็จะได้รับการยอมรับและความเชื่อมั่น กลายมาเป็นภาพลักษณ์​และวัฒนธรรมขององค์กร หรือการลงทุน การปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับทิศทางกระแสความยั่งยืน ซึ่งสุดท้ายทำให้สามารถเข้าไปเป็นซัพพลายเชนของบริษัทชั้นนำระดับโลกได้ เป็นการสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ธุรกิจ ​การมีพื้นฐานตัว G ที่แข็งแรง จึงเป็นการป้องกันความเสี่ยงก่อนเกิดปัญหา จากการบริหารจัดการภายในอย่างถูกต้อง โปร่งใส ทำให้เห็นข้อมูลต่างตามความเป็นจริง และประเมินแนวทางการรับมือได้อย่างแม่นยำ พร้อมทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนในมิติของ E และ S ให้ดีมากขึ้น เพราะมีการปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆ ด้วยความโปร่งใส และถูกต้องทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกธุรกิจทั้งขนาดเล็กและใหญ่ สามารถขับเคลื่อนได้ไม่แตกต่างกัน”   

ดร.ศรพล ยัง​ได้ยกคำกล่าวของ ศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย อดีตประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  ที่ว่า “สิ่งที่ถูกต้องคือถูกต้อง แม้ไม่มีใครทำสิ่งนั้น สิ่งที่ผิดคือผิด แม้ทุกคนทำสิ่งนั้น” ที่สามารถสะท้อนให้เห็นลักษณะของหลักธรรมาภิบาลได้เป็นอย่างดี

เนื่องจาก Governance ไม่ใช่เรื่องที่ต้องทำตามกระแส แต่เป็นความจริงที่เรารู้อยู่ว่า อะไรคือถูก อะไรคือผิด ไม่ใช่ว่า เมื่อเห็นว่ามีใครทำสิ่งนั้นๆ แล้ว จะหมายความว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้นคือสิ่งที่สามารถทำได้ เช่นเดียวกับเรื่องของธรรมาภิบาล เรื่องของจริยธรรมในธุรกิจ ที่ทุกองค์กร และทุกคนในองค์กรต้องขับเคลื่อนไปด้วยกัน และทำอย่างถูกต้อง ไม่มีการบิดเบือน ​เพื่อสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงสำหรับการเติบโตได้อย่างยั่งยืนให้ธุรกิจ ​

Stay Connected
Latest News