เบื้องหลังความสำเร็จ ​’มูลนิธิกระจกเงา’ กับ​การขับเคลื่อน ‘นวัตกรรมทางสังคม’ ​ภารกิจส่งต่อความช่วยเหลือ ‘กลุ่มเปราะบาง’ อย่างยั่งยืน

ในฐานะองค์กรเพื่อสังคม ซึ่งอาจไม่ได้มีทรัพยากรเพียงพอทั้งด้านกำลังคน หรือทุนทรัพย์เฉกเช่นองค์กรธุรกิจทั่วไป รวมทั้งความไม่แน่นอนของการได้รับสนับสนุนจากผู้คนในสังคม ขณะที่ ‘มูลนิธิกระจกเงา’ ต้องขับเคลื่อนภารกิจ​เพื่อสังคมที่มีมากถึง 19 โครงการ ในหลากหลายมิติ ทั้งการดูแลศูนย์ข้อมูลติดตามคนหาย การช่วยดับไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ การดูแลช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้านและผู้สูงอายุ รวมทั้งการช่วยเหลือส่งต่อแบ่งปันแก่ผู้ยากไร้ในสังคม เป็นต้น

ซึ่งแต่ละโครงการต่างมีความแข็งแรง ทั้งด้านการสร้างความรับรู้ รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมผ่านการสนับสนุนจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ทำให้ทางมูลนิธิฯ สามารถขับเคลื่อนภารกิจส่งต่อความช่วยเหลือทางสังคมได้อย่างต่อเนื่องมากว่า 30 ปี

เบื้องหลังความสำเร็จของมูลนิธิกระจกเงา ในฐานะผู้นำด้านการพัฒนา ​‘นวัตกรรมทางสังคม‘ ที่สามารถขับเคลื่อนและสร้างเครือข่าย​ทางด้านสังคมได้อย่างแข็งแรง แม้ว่าจะเป็นเพียงองค์กรอิสระที่ไม่ได้แสวงหากำไร โดยไม่ได้มีสินค้าหรือบริการใดๆ มาแลกเปลี่ยน แต่สามารถสร้างฐานการสนับสนุนจากผู้คนทั่วไป และเป็นหนึ่งในองค์กรที่มีความแข็งแรงในการส่งต่อความช่วยเหลือไปยังกลุ่มเปราะบางของสังคมได้อย่างต่อเนื่อง จึงถือเป็นกรณีศึกษาที่​​มีความน่าสนใจ เพื่อศึกษาแนวทางการ​ขับเคลื่อนภารกิจทางสังคม​ที่สามารถสร้างทั้ง Impact และ Engage ให้กับสังคมไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากการศึกษาโมเดลและกลยุทธ์​การขับเคลื่อนภารกิจทางด้านสังคมของมูลนิธิกระจกเงา ผ่านการให้ข้อมูลของ คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกระจกเงา ​ในงานสัมมนา ESGNIVERSE 2024 : Real – World of Sustainability งานสัมมนาจักรวาลแห่งความยั่งยืน โดย BrandBuffet  สามารถสรุปเป็น ​Key Success  ที่ทำให้ ‘มูลนิธิกระจกเงา’ กลายเป็นหนึ่งในองค์กรเพื่อสังคม ที่มี ‘กำลัง’ ที่แข็งแรงในการส่งต่อความช่วยเหลือ​ไปยังกลุ่มเปราะบางในสังคมไทยได้อย่างต่อเนื่อง ดังต่อไปนี้

1. Innovation :  เป้าหมายสำคัญของมูลนิธิกระจกเงา คือ การมุ่งสร้างนวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาทางสังคม เพื่อสร้างเครือข่ายหรือแนวร่วมมาช่วยขับเคลื่อน Positive Impact ผ่านการสร้าง ‘นวัตกรรมทางสังคม‘ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับ และพัฒนากลุ่มเปราะบางในสังคม ให้เข้มแข็ง และสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น ผ่านโครงการ และช่องทางสื่อสารต่างๆ โดยเฉพาะการสร้างสรรค์โครงการหรือการสื่อสารให้สอดคล้องกับบริบทในสังคม​ เพื่อช่วยกระตุ้นความสนใจของสังคม เช่นเดียวกับการทำ Real-time Marketing หรือ Event Marketing ของภาคธุรกิจ เช่น การสื่อสารโครงการรับบริจาคสิ่งของผ่านกระแสสังคมในช่วงเวลาต่างๆ  ทั้งการเล่นกับกระแส Netflix เพื่อรับบริจาคจานหรือกล่องรับสัญญาณ รับบริจาคสิ่งของที่ไม่ใช้หรือที่ต้องการทิ้งจากคนรักเก่าในช่วงวาเลนไทน์

หรือการสื่อสารแบบ Emotional ให้เห็นความขาดแคลนของกลุ่มเปราะบางช่วง Back to School เพื่อรับบริจาคชุดนักเรียนเก่า หรืออุปกรณ์การเรียนต่างๆ รวมทั้งการรับบริจาคไอโฟนในช่วงที่มีข่าวว่ารัฐบาลจะจัดซื้อสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ทางมูลนิธิฯ ก็ได้​ทำการเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงสำนักนายก เพื่อขอรับบริจาคมือถือเครื่องเก่าสำหรับนำมาใช้เป็นอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ให้เด็กๆ ที่ขาดแคลน ซึ่งถือว่ามีความจำเป็นในช่วงสถานการณ์โควิด​ ​​ที่แม้ว่าอาจจะไม่ได้การตอบรับจากทางสำนักนายกฯ โดยตรงแต่ก็ได้รับการบริจาคจากทางประชาชนทั่วไปที่ต้องการสนับสนุนการศึกษาให้กับเยาวชนจำนวนมากมาทดแทน เพื่อนำส่งมอบให้ทางเด็กๆ ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ต่อไป

2. Ecosystem : การสร้างความแข็งแรงภายในระบบนิเวศของมูลนิธิ ผ่าน​​การบูรณาการเครือข่ายและแนวร่วมของแต่ละโครงการ ให้สามารถเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันได้ เพื่อช่วยทั้งการแก้ปัญหาทางสังคมและเพิ่มทรัพยากรมาช่วยขับเคลื่อนโครงการของมูลนิธิไปได้พร้อมๆ กัน เช่น โครงการจ้างวานข้า หรือ​ชรารีไซเคิล ที่ช่วยแก้ปัญหากลุ่มคนไร้บ้าน และกลุ่มผู้สูงอายุ ด้วยการสร้างงาน สร้างอาชีพให้คนกลุ่มนี้สามารถสร้างรายได้ด้วยตัวเอง รวมทั้งกลับมามีสังคม และมองเห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้น ด้วยการเข้าไปทำงานภายในโครงการต่างๆ ของมูลนิธิ ทั้งการช่วยคัดแยก หรือให้ซ่อมแซมสิ่งของหรืออุปกรณ์ที่ได้รับบริจาคมาแต่เสียหายก่อนจะนำไปบริจาคหรือส่งต่อให้ผู้ขาดแคลนอื่นๆ  ซึ่งมูลนิธิมีหลากหลายโครงการที่ต้องขับเคลื่อน​ และจำเป็นต้องอาศัยทั้งงบประมาณ และกำลังคนเข้ามาช่วยขับเคลื่อนด้วยเช่นกัน

3. Partnership : การมีพันธมิตรที่ดี ถือเป็นอีกหนึ่ง Key Success ที่ทำให้มูลนิธิกระจกเงาสามารถเพิ่มศักยภาพในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ได้มากและไกลยิ่งขึ้น ซึ่งจะมีทั้งพันธมิตรในรูปแบบของผู้บริจาค จิตอาสาที่เข้ามาช่วยงานต่างๆ ภายในมูลนิธิ หรือในรูปแบบความร่วมมือทางสังคมของภาคธุรกิจต่างๆ  เช่น แบรนด์น้ำดื่มสิงห์ ที่เคยให้พื้นที่ฉลากข้างขวดจำนวน 20 ล้านขวด เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์ให้ศูนย์ข้อมูลติดตามคนหาย ​บริษัทเอเยนซี่โฆษณาและการตลาด ที่สร้างสรรค์แคมเปญเพิ่มการรับรู้และช่วยติดตามคนหาย ด้วยการนำใบหน้าคนหายมาเปรียบเทียบกับคนที่มีชื่อเสียง เพื่อเพิ่มโอกาสในการติดตามได้มากขึ้น รวมทั้งบริษัทให้บริการขนส่งโลจิสติกส์อย่างนิ่มชี่เส็ง ที่เข้ามาเป็นพันธมิตรผ่านการให้บริการขนส่งสิ่งของแก่ผู้ต้องการบริจาคมาส่งมอบให้กับทางมูลนิธิในราคาถูก รวมไปถึงการ​โอนแต้มหรือคะแนนสะสมจากการ​ซื้อสินค้าหรือใช้บริการต่างๆ มาให้ทางมูลนิธิกระจกเงาเพื่อนำไปร่วมต่อยอดสนับสนุนการทำงานของทางมูลนิธิกระจกเงาได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาคธุรกิจที่เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรกับทางมูลนิธิฯ​

​”สิ่งสำคัญที่ทำให้ทางมูลนิธิ ได้รับการสนับสนุนและขับเคลื่อมาได้ยาวนาน มาจากการมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาทางสังคมตามเจตนารมณ์ของแต่ละโครงการอย่างจริงจัง ภายใต้แนวทางการขับเคลื่อนที่ต้องบาลานซ์ 3 องค์ประกอบ คือ ความจริง ความดี และความงาม หรือการศึกษาปัญหาตามความเป็นจริง และหาโซลูชั่นในการแก้ปัญหาสังคมได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ตามหลักจริยธรรม และมีศิลปะในการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เพื่อสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงจุด และสามารถดึงผู้ที่มีเป้าหมายตรงกันมาช่วยขับเคลื่อนเพื่อเกิดเป็นพลังที่มากขึ้นได้”

เห็นได้ว่า เอฟเฟ็กต์จากกลยุทธ์การสื่อสารของมูลนิธิกระจกเงา สามารถสร้างความสนใจจากสังคม ที่นำมาทั้งการสร้าง Awareness ให้ทั้งช่องทางสื่อสาร และตัวโครงการ รวมทั้งแบรนดิ้งของทางมูลนิธิกระจกเงา ที่ไม่เพียงเพิ่มการรับรู้ แต่ยัง Call to Action เพิ่มการมีส่วนร่วมทั้งการบริจาคสิ่งของต่างๆ ตามที่มีการสื่อสารในขณะนั้น หรือการบริจาคเป็นทุนทรัพย์เพื่อสนับสนุนภารกิจต่างๆ ของทางมูลนิธิเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทำให้โครงการต่างๆ มีความเข้มแข็งและสามารถขับเคลื่อนส่งต่อความเช่วยเหลือ รวมทั้งสร้างการพัฒนาไปยังกลุ่มเปราะบางต่างๆ ให้มีความเข้มแข็ง และสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น เพื่​อกลายมาเป็นผู้ให้โอกาส เป็นผู้ส่งต่อความช่วยเหลือให้เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนได้ในที่สุด

Stay Connected
Latest News