การจัดซื้อสีเขียว (Green Procurement) ช่วยส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและการบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสู่กระบวนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนของทุกภาคส่วน
องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD : Thailand Business Council for Sustainable Development) จึงร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI : Thailand Environment Institute) จัดงานสัมมนา ‘Net Zero ด้วยการจัดซื้อจัดจ้างที่ยั่งยืน’ เพื่อร่วมขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามแนวทาง ESG โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน พร้อมส่งเสริมให้เกิดการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
คุณแพตริเชีย มงคลวนิช อธิบดีกรมบัญชีกลาง (CGD) กล่าวในงานสัมมนา ‘Net Zero ด้วยการจัดซื้อจัดจ้างที่ยั่งยืน’ ผ่านหัวข้อ ‘บทบาทกรมบัญชีกลางกับการสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ โดยระบุว่า กรมบัญชีกลางมีเป้าหมายในการดำเนินนโยบายขับเคลื่อนภาครัฐให้เป็นภาครัฐสีเขียวและยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันกรมบัญชีกลางอยู่ระหว่างจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Public Procurement Framework) เพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น โดยวางกรอบผ่านการกำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Product) พร้อมหน่วยงานนำร่องและรายการสินค้าที่สนับสนุนในปีแรกและระยะต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติได้ทันในปีงบประมาณ 2568 นี้ เพื่อสามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในปีงบประมาณ 2569
ทั้งนี้ ปัจจุบันมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ เฉพาะในส่วนที่ดำเนินการผ่าน พรบ.จัดซื้อจัดจ้าง มีสัดส่วนราว 7% ของ GDP ประเทศ หรือคิดเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาท แต่หากรวมการจัดซื้อจัดจ้างในรูปแบบ PPP รวมทั้งการซื้อโดยใช้เงินนอกงบประมาณ คาดว่าจะสูงถึง 10% ขณะที่มูลค่าการจัดซื้อของภาครัฐในส่วนที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Public Procurement) ตามข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ อยู่ที่ราว 800 ล้านบาท ซึ่งยังมีช่องว่างเป็นโอกาสในการเพิ่มสัดส่วน Green Procurement ของภาครัฐได้อีกมาก เพื่อสามารถตอบโจทย์เป้าหมายของประเทศไทย ทั้งการขับเคลื่อนประเทศสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2593 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emissions) ในปี 2608 รวมทั้งบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ในปี 2573 ตามที่ได้ทำข้อตกลงไว้ในเวทีโลก
“กรมบัญชีกลางวาง Framework และ Milestone เพื่อวางแผนการเปลี่ยนผ่านในการบังคับใช้ทั้งกับหน่วยงานทั้งหมด รวมทั้งหน่วยงานนำร่อง ที่อยู่ใน Ecosystem ของกลุ่มที่ต้องขับเคลื่อนเพื่อผลักดัน ทั้งกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และกระทรวงทรัยพากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นต้น โดยวางประเภทกลุ่มสินค้า และรายการสินค้า ที่ต้องจัดซื้อแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และขยับเพิ่มมากขึ้นในปีต่อๆ ไป ซึ่งต้องขับเคลื่อนควบคู่ไปกับกระบวนการเพื่อสามารถรายงาน และวัดผลอย่างจับต้องเป็นรูปธรรมได้”
คุณแพตริเซีย กล่าวเพิ่มว่า การขับเคลื่อนสู่การเป็นภาครัฐสีเขียว ยังช่วยลดต้นทุนให้ประเทศในระยะยาวได้ แม้อาจจะต้องแบกรับต้นทุนในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่ที่สุดแล้วจะเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และลดความเสี่ยงต่อค่าธรรมเนียมต่างๆ โดยเฉพาะในหลายประเทศที่ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน ส่วนเป้าหมายที่กรมบัญชีกลางคาดหวังในการขับเคลื่อน Green Public Procurement คือ การเพิ่มสัดส่วนการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานรัฐเพิ่มมากขึ้นทุกปี การสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เช่น การเลือกซื้อสินค้าที่สามารถรีไซเคิลหรือย่อยสลายในธรรมชาติได้
ขณะเดียวกัน ยังมีส่วนช่วยให้กลุ่มผู้ผลิตสินค้าหันมาผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น จากการขับเคลื่อนดีมานด์จากฝั่งภาครัฐที่เพิ่มมากขึ้น เป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่ต้องการขยายฐานลูกค้าในกลุ่มหน่วยงานภาครัฐเพิ่มมากขึ้นด้วย รวมทั้งโอกาสในการขยาย Product Lists สำหรับการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อเพิ่มทางเลือกกลุ่มสินค้าสีเขียว ที่มีราคาแข่งขันได้ โดยเฉพาะในสินค้าบางรายที่สามารถได้รับการรับรองมาตรฐานสากลต่างๆ ได้แล้ว ต่อการมีมาตรการเพื่อสามารถได้รับการรับรองมาตรฐานในประเทศ โดยไม่ต้องเริ่มกระบวนการใหม่ทั้งหมด เพื่อลดทั้งค่าใช้จ่ายผู้ประกอบการ และเพิ่มสินค้าทางเลือกสำหรับ Green Public Procurement ได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายและลดความเสี่ยงในระยะยาวจากการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนที่จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นในอนาคตอีกด้วย
“ความท้าทายในการขับเคลื่อน Green Public Procurement คือ การระมัดระวังเรื่องของการฟอกเขียว หรือ Green Washing รวมทั้งการหาช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อหาทางหลบเลี่ยง ซึ่งจะนำมาสู่ปัญหาอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบตามมาเป็นลูกโซ่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ที่มีหน้าที่ควบคุมต้องหาวิธีรับมือ ขณะที่ภาครัฐเองก็ต้องไม่กลายเป็นอุปสรรคในการผลักดันหรือขับเคลื่อน แต่ต้องสามารถสร้างสมดุลระหว่างการกำกับดูแล และควบคุม แต่ต้องไม่กลายเป็นอุปสรรค เพื่อให้สามารถสปีดและเกิดการขับเคลื่อนร่วมกันได้อย่างบูรณาการ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่การเป็น Green Economy ได้อย่างแท้จริง”