บริษัท ซีพีแรม จำกัด (CPRAM) ผู้นำอุตสาหกรรมอาหารพร้อมรับประทาน เปิดตัว FTEC (Food Technology Exchange Center) ที่อาคารฟู้ด เทคโนโลยี ธาราพาร์ค ถนนแจ้งวัฒนะ จังหวัดนนทบุรี เพื่อเป็นศูนย์กลางความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีอาหาร เสริมศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ พร้อมผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารโลก
โดยใช้งบลงทุนในเฟสแรกนี้ราว 100 ล้านบาท เพื่อสร้างศูนย์กลางความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีอาหารกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นส่วนของต้นน้ำ กลางน้ำ หรือปลายน้ำ ทั้งผู้ประกอบการที่อยู่ภายในซัพพลายเชนธุรกิจเดียวกัน หรืออยู่นอกซัพพลายเชน ทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการในประเทศ ต่างประเทศ รวมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี เพื่อร่วมผลักดันการพัฒนาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ พร้อมทั้งเทคโนโลยีในธุรกิจอาหารร่วมกัน
เปิดตัว FTEC เพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารประเทศไทยแบบไร้พรมแดน
คุณวิเศษ วิศิษฏ์วิญญู กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีแรม จำกัด เปิดเผยว่า การตั้ง FTEC เพื่อมุ่งมั่นสร้างความร่วมมือแบบไร้พรมแดนให้เกิดขึ้นได้จริง เพื่อตอกย้ำความเป็น ‘ครัวโลก’ ของประเทศไทย ที่มีศักยภาพในการแข่งขัน และมีการพัฒนาในทุกเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่การเป็นครัวโลกแค่ในนาม แต่กลับไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก
ทั้งนี้ ซีพีแรมในฐานะผู้นำอุตสาหกรรมอาหารพร้อมรับประทาน จึงมุ่งมั่นยกระดับความแข็งแกร่ง ความหลากหลาย และศักยภาพทั้งในการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การทำความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคและตลาดมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพให้ซัพพลายเออร์ตลอดทั้งซัพพลายเชน ยกระดับคุณภาพการผลิต ความสามารถในการดูแลต้นทุนและใช้ทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่การยกระดับศักยภาพ เพียงแค่ภายในซัพพลายเชนธุรกิจของตัวเองยังไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนประเทศให้แข่งขันในตลาดโลกได้อย่างแข็งแกร่ง การเปิดกว้างเพื่อร่วมมือ และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีระหว่างกันจึงเป็นเป้าหมายสำคัญในการเพิ่มความสามารถการแข่งขันในระดับประเทศ โดยเฉพาะใน 3 เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทหลักในอุตสาหกรรมอาหารอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็น Biotech สำหรับการพัฒนานวัตกรรมอาหาร ทั้งคุณภาพ ความปลอดภัย และความหลากหลายต่างๆ Robotech เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต ทั้งการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ลดต้นทุน หรือพัฒนาระบบ Automation และ Digitech เพื่อสร้างมาตรฐานและความแม่นยำภายในอุตสาหกรรมได้เพิ่มมากขึ้น โดยเชื่อว่าภายใต้ความร่วมมือภายใน FTEC นี้ จะสามารถช่วยให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยบริหารต้นทุนได้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น หรือลดต้นทุนในภาพรวมตลอดทั้งซัพพลายเชนลงได้ราว 20%
“การสร้างความร่วมมืออย่างไร้พรมแดน จำเป็นต้องมีศูนย์กลางให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งนักวิจัย นักพัฒนา และนักธุรกิจ ผู้ประกอบการได้มาพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ได้บูรณาการศาสตร์ต่างๆ รวมทั้งเทคโนโลยี ระดมความคิด โดยนักวิจัยได้โจทย์จริงไปทำวิจัยและพัฒนา ส่วนนักธุรกิจ และผู้ประกอบการก็ได้นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐ และเอกชน มาช่วยแก้โจทย์ มาร่วมกันพัฒนานวัตกรรมอาหาร ผ่านโครงการวิจัย ซีพีแรมจะทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ที่ช่วยเปิดประตูให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารได้มาพบ และร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาไปด้วยกัน โดยสนับสนุนการจัดทำห้องปฏิบัติการ บุคลากร เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถอุตสาหกรรมอาหารของไทย ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผ่านการทดลองสมมติฐาน การศีกษาวิเคราะห์ตลาดและผู้บริโภคร่วมกัน จนสามารถขยายสเกลการผลิตและทำตลาดไปสู่ระดับประเทศ รวมทั้งสามารถเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในระดับนานาชาติได้ “
Biotech นำร่องเฟสแรก ก่อนต่อจิ๊กซอว์ ด้วย Robotech และ Digitech
สำหรับการวางโครงสร้างพื้นฐานภายใน FTEC ในเฟสแรกนี้ จะเน้นที่ Biotech ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจอาหาร ทั้งการพัฒนานวัตกรรม การควบคุมคุณภาพ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรสำคัญอย่างนักวิจัยเข้ามาเติมเต็มในอุตสาหกรรม ทำให้ภายใน FTEC ในเฟสแรกจะมีทั้ง ซีพี ฟู้ดแลป ครัวกลาง รวมทั้งการอยู่ในพื้นที่เดียวกับ คณะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการจัดการอาหาร (SMAFT) สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) เพื่อร่วมกันพัฒนาและเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรสำหรับอุตสาหกรรมอาหารได้อย่างมีคุณภาพสูงสุด ก่อนที่ในเฟสต่อไป จะเริ่มเติมเต็มด้าน Robotech และ Digitech ให้มีความสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้นในอนาคต ภายใต้งบลงทุนเพิ่มเติมอีกราว 100 -200 ล้านบาท
ดร.เดโช ปลื้มใจ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการจัดการอาหาร (SMAFT) สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวถึงการสนับสนุนเพื่อพัฒนาความพร้อมด้านบุคลากรในอุตสาหกรรมอาหาร โดยซีพีแรมได้สนับสนุนการพัฒนาหลักสูตรยกระดับคุณภาพการเรียน ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ไปจนถึงการฝึกงาน รวมถึงมอบทุนการศึกษาตลอดหลักสูตร ขยายโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนไทย และร่วมพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ให้มีองค์ความรู้ และทักษะมาตรฐานขั้นสูง เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหาร รองรับการเติบโตสร้างผลกระทบเชิงบวกในการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอาหารอย่างยั่งยืนในอนาคต รวมถึงบริษัท ซีพี ฟู้ดแล็บ จำกัด ได้ร่วมสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมแลกเปลี่ยนและแบ่งปันองค์ความรู้ รวมถึงสนับสนุนงานด้านการวิจัย เพื่อต่อยอดองค์ความรู้และนวัตกรรม รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คุณณัฐสิทธิ์ อึ๊งภากรณ์ ผู้จัดการทั่วไปอาวุโส บริษัท ซีพีแรม จำกัด ในฐานะกำกับดูแล FTEC (Food Technology Exchange Center) กล่าวว่า ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเกิดได้จากทั้งภายใน และภายนอกองค์กร ภายในห่วงโซ่อุปทานไปจนถึงหน่วยงานภายนอก เพียงแค่มีการคิดและร่วมมือกันทำ ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาต่อไปได้ไม่มีที่สิ้นสุด ขยายความร่วมมือทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง และเชื่อว่าการจัดตั้ง FTEC จะมีบทบาทในการทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร ของไทย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี อย่างไร้พรมแดน
ดร.พัชรี กิตติสุบรรณ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซีพี ฟู้ดเเล็บ จำกัด กล่าวว่า ซีพี ฟู้ดแล็บ เป็นศูนย์กลางข้อมูลความรู้ด้านการวิจัยเพื่อรองรับการวิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารในเครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัทอื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางประสานงานความร่วมมือด้านวิจัยเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารอย่างยั่งยืน โดยมุ่งตอบสนองความต้องการผู้บริโภคอย่างเหมาะสม ทั้งอายุ อาชีพ หรือกลุ่มผู้ป่วยหรือผู้ที่ต้องการโภชนาการเฉพาะเจาะจง รวมไปถึงการส่งเสริมสุขภาพในทางที่ดีขึ้น และเป็นอีกหนึ่งภาคส่วนที่เข้ามาร่วมขับเคลื่อน FTEC ในการยกระดับเทคโนโลยีนวัตกรรมทางด้านอาหารสู่ความมั่นคงและความยั่งยืนทางอาหาร
ตลาดอาหารพร้อมทานประเทศไทยเติบโตต่อเนื่อง
คุณพิภักดิ์ จรูญลักษณ์คนา รองผู้จัดการทั่วไป บริษัท ซีพีแรม จำกัด ในฐานะกำกับดูแลครัวกลาง (Central Kitchen) กล่าวถึงตลาดอาหารพร้อมรับประทานในประเทศไทย ซึ่งเป็นตลาดหลักที่ซีพีแรมทำตลาดอยู่ โดยตลาดเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปี 2568 นี้ กลุ่มอาหารพร้อมทาน (Ready to Eat and Go) ตลาดจะขยายตัวได้อีกมาก จากไลฟ์สไตล์ที่ตอบโจทย์คนเมือง ทั้งขนาดครอบครัวที่เล็กลง การอาศัยในคอนโดเพิ่มขึ้น รวมทั้งการต้องการความสะดวก และวิถีชีวิตที่เร่งรีบ
ขณะที่ซีพีแรมสามารถตอบโจทย์ตลาดได้ ทั้งความสะดวกสบาย ความหลากหลาย และรสชาติอาหารที่ดี โดยมุ่งพัฒนาตลาดอาหารพร้อมรับประทานและเบเกอรี่ที่มีคุณภาพสูงและคุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้น เพื่อขยายส่วนแบ่งตลาด พร้อมเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บน โดยแต่ละปีมีการพัฒนาสินค้าใหม่มาทำตลาด 450 -500 รายการ หรือราววันละ 1-2 รายการ พร้อมพัฒนาอาหารท้องถิ่น หรืออาหารจากภูมิภาคต่างๆ ให้กลายเป็นที่นิยมในตลาดแมส เช่น ใบเหลียงผัดไข่ ข้าวซอยไก่ ก๋วยจั๊บญวน จากความเข้าใจอินไซต์ผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่ ผ่านเครือข่ายนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทำให้สามารถรักษามาตรฐานรสชาติให้สม่ำเสมอทุกภูมิภาค ขยายขีดความสามารถด้านนวัตกรรมอาหาร พร้อมรับมือพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ โดยซีพีแรมมุ่งสร้างนวัตกรรมอาหารเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกกลุ่ม ด้วยทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์กว่า 200 คน ทำให้สามารถนำเสนออาหารใหม่ๆ ที่มีคุณภาพและหลากหลายสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง
คุณวิเศษ กล่าวเพิ่มเติมว่า ซีพีแรมสามารถตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่ ด้วยการเป็น Catering Kitchen ซึ่งสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์และวิถีชีวิตในปัจจุบันมากกว่ารูปแบบ Home Kitchen แบบที่ผ่านมา ทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงอาหารคุณภาพ รสชาติดี และราคาคุ้มค่า รวมทั้งมีความหลากหลายและครบถ้วนทั้งอาหาร ของว่าง เบเกอรี่ ทำให้ปัจจุบันซีพีแรมเป็นผู้นำในตลาดอาหารพร้อมทาน โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารแช่เย็นที่มีส่วนแบ่งราว 60% ขณะที่กลุ่มแช่แข็งมีส่วนแบ่งราว 20% รวมทั้งสามารถรักษาการเติบโตต่อเนื่องได้ทุกปีที่ 12-13% สร้างยอดขายปีที่ผ่านมาได้ราว 3.1 หมื่นล้าน และคาดว่าจะเติบโตเพิ่มเป็น 3.4 หมื่นล้านในปีนี้
“ซีพีแรมทำธุรกิจภายใต้ปณิธาน FOOD 3S เพื่อยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมอาหารของไทยอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับ Food Safety (ความปลอดภัยทางอาหาร), Food Security (ความมั่นคงทางอาหาร) และ Food Sustainability (ความยั่งยืนทางอาหาร) ขณะที่การเปิด FTEC เป็นหนึ่งในการตอกย้ำตามปณิธาน ที่สะท้อนความมุ่งมั่นของซีพีแรมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืน พร้อมเดินหน้าสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคในทุกระดับ และเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารโลก”