PR News

ยูโอบี จัดสัมมนา UOB Sustainability Compass Forum เสริมความรู้เอสเอ็มอี เริ่มต้นลดคาร์บอน เพื่อความยั่งยืนและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย จัดงานสัมมนา UOB Sustainability Compass Forum เพื่อตอกย้ำบทบาทการสนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอีให้สามารถเริ่มต้นเส้นทางการลดการปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) ได้อย่างเป็นรูปธรรม

พร้อมเตรียมความพร้อมให้ธุรกิจเหล่านี้สามารถอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว งานเสวนาครั้งนี้ เป็นการเปิดพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น รวมถึงข้อมูลกฎระเบียบที่กำลังจะส่งผลกระทบ และแชร์มุมมองจากธุรกิจที่เริ่มต้นเรื่องความยั่งยืน

คุณ​พณิตตรา เวชชาชีวะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ Financial Institutions และ ESG Solutions ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า​ ธนาคารยูโอบี ได้เปิดตัว UOB Sustainability Compass ในปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นเครื่องมือ​สนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจ เอสเอ็มอี ในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ความยั่งยืน มีธุรกิจที่ให้ความสนใจแล้วมากกว่า 1,600 ราย

“ปัจจุบันสถานการณ์ด้านความยั่งยืนมีปัจจัยจากหลายด้าน ที่ผลักดันให้ภาคธุรกิจต้องเตรียมรับมือ งาน UOB Sustainability Compass Forum จึงเกิดขึ้น โดยธนาคารได้ร่วมมือกับพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของความยั่งยืน เพื่อสร้างการตระหนักรู้ และตื่นตัวในการเปลี่ยนแปลง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน”

จากภาคสมัครใจสู่ภาคบังคับ

ผู้นำทั่วโลกตระหนักตรงกันว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นความเสี่ยงสำคัญที่สุดในทศวรรษนี้ คำถามสำคัญคือ ทำอย่างไรจึงจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่ไปกับการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจและธุรกิจได้

ดร. ธีรเดช ทังสุบุตร Partner บริษัท เดอะ ครีเอจี้ จำกัด และกรรมการบริหารเครือข่ายการเงินเพื่อรับมือกับภาวะโลกรวน (Climate Finance Network Thailand หรือ CFNT) กล่าวว่า ​นอกเหนือจากความร่วมมือภาคสมัครใจแล้ว หลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีการร่างและออกกฎเกณฑ์และกฎหมายที่เริ่มมีผลบังคับใช้และจะมีเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ ในอนาคตอันใกล้ เพื่อมุ่งสู่ระบบเศรษฐกิจ Net Zero ซึ่งกลไกเหล่านี้จะเป็นกติกาของเกมธุรกิจใหม่ บริษัทที่เข้าใจเกมใหม่นี้ก่อนก็จะสามารถเพิ่มโอกาสและสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจและการค้าในบริบทการแข่งขันบนกติกาใหม่นี้

“ประเทศไทยอยู่ระหว่างการพิจารณาผ่านกฎหมาย พรบ. ลดโลกร้อน รวมถึงกลไกต่างๆ ที่จะอยู่ภายใต้ พรบ. ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ในอนาคตอันใกล้นี้ และยังมีความพยายามจากหลายหน่วยงานร่วมกันจัดทำมาตรฐาน Thailand Taxonomy ซึ่งเป็นมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ที่ทุกหน่วยงานสามารถนำไปใช้อ้างอิงได้โดยสมัครใจเพื่อส่งเสริมและช่วยขับเคลื่อนการลงทุนที่ยั่งยืน”

ทั้งนี้ มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนและสภาพภูมิอากาศ (IFRS S1 และ S2) รวมถึงแนวปฏิบัติการรายงานความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต่างก็ได้กำหนดให้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 1, 2 และ 3

Scope 1 คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง (Direct Emissions) ที่เกิดจากกิจกรรมขององค์กรหรือภายใต้การควบคุมขององค์กร Scope 2 คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Indirect Emissions) Scope 3 คือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ (Other Indirect Emissions) หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานทั้งจากต้นน้ำและปลายน้ำ นำมาซึ่งความสำคัญของการเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อทำการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดความเสี่ยงจาก Climate Change

มาตรฐาน IFRS S1 – S2 กำหนดให้มีการเปิดเผยบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope 1, 2, และ 3 อย่างไรก็ตาม ในมุมของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีแนวทางให้บริษัทพยายามรวบรวมข้อมูล Scope 3 ให้ได้มากที่สุด โดยให้ระยะเวลา 5 ปี สำหรับการจัดเก็บข้อมูลดังกล่าว หลังจากนั้น ทุกบริษัทต้องปฏิบัติตามมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีการทำรายงานความยั่งยืน (TCFD: Task Force on Climate-related Financial Disclosures) ซึ่งหนึ่งในประเด็นสำคัญคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับ Scope 1 และ 2 เป็นหลัก และคาดว่า ภายใน 5 ปีข้างหน้าจะมีการดำเนินมาตรการเกี่ยวกับ Scope 3 อย่างจริงจัง

เอสเอ็มอีเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน Scope 3

คุณชยาธร ฉันท์เรืองวณิชย์ หุ้นส่วน บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Decarbonization) มีความสำคัญ เพราะในบางอุตสาหกรรม เช่น ภาคการเงินและการลงทุน อาจมีสัดส่วนของการปล่อย Scope 3 สูงถึง 99.98% อันมาจากการปล่อย GHGs ของลูกค้าของธนาคาร ทำให้เอสเอ็มอี จะต้องเก็บข้อมูลและจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อตอบโจทย์คู่ค้าที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของบริษัทฯ ที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน IFRS S1 – S2

หลักการทำ Supply Chain Decarbonization ทั้งในขอบเขตที่ 1 และขอบเขตที่ 2 ​มีหลักการเหมือนกัน คือเริ่มจากการเก็บรวบรวมข้อมูล จากนั้นดูในส่วนของ baseline และพิจารณาว่ามีส่วนไหนบ้างที่สามารถปรับปรุงเพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อที่จะนำมากำหนดเป็นแผนดำเนินการในการเริ่มลงมือจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งเอสเอ็มอีเสามารถเริ่มต้นการเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เลย เพื่อที่จะสามารถวางแผนการจัดการในอนาคตได้”

ธุรกิจลดต้นทุนได้ ด้วยโซลูชันลดคาร์บอน
คุณภาณุ เภตรา รองกรรมการผู้จัดการบริษัทในเครือเภตรากรุ๊ป ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์รายใหญ่ ซึ่งดำเนินธุรกิจมามากกว่า 30 ปี กล่าวว่า ​บริษัทวางหัวใจ 4 ข้อในการทำธุรกิจคือ บริษัท พนักงาน ลูกค้า และชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทเริ่มทำเรื่องความยั่งยืนมามากกว่า 10 ปี เริ่มจากการทำโชว์รูมรถยนต์ให้ได้มาตรฐานอาคารสีเขียว (Green Building) และทำหลังคาโซลาเซลล์ (Solar Rooftop) นำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ พร้อมแบตเตอรี่เก็บพลังงาน รวมถึงการดำเนินการเรื่องขยะอาหาร การรีไซเคิลชิ้นส่วนนำกลับมาใช้ใหม่ พัฒนาประสิทธิภาพการทำงานเพื่อลดการทำงานของพนักงานลง สำหรับแผนระยะยาวคือการพัฒนาพนักงานทุกคนในองค์กรเป็นแกนหลักในการคิดและพัฒนารูปแบบการทำงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“บริษัทเน้นลดและประหยัดเพื่อสิ่งแวดล้อม และปรับทัศคติของพนักงาน กว่าที่บริษัทจะเดินทางมาจนถึงวันนี้วันที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและอยู่บนเส้นทางสู่ความยั่งยืนได้ บริษัทต้องใช้เวลาและทรัพยกรจำนวนมากในการทำ แต่เมื่อได้มารู้จักกับ UOB Sustainability Compass เป็นแผนที่นำทางสำหรับผู้เริ่มต้นใหม่ที่เริ่มต้นเส้นทางความยั่งยืนได้ง่ายมาก ที่จะช่วยให้ เอสเอ็มอีสามารถมีแนวทางชัดเจน เป็นผู้ช่วยที่ดี มีข้อมูลครบในทุกมิติและทุกอุตสาหกรรม”

คุณโสฬส ยอดมงคล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท ยูนิคพลาสติก อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคือคนของทั้งองค์กร ตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนถึงระดับพนักงานต้องมีความเข้าใจ มีความรู้ และร่วมมือกัน บริษัทมีการตั้งคณะกรรมการด้านความยั่งยืน ที่ทำงานแบบ Cross Function ทุกหน่วยงานต้องมีส่วนร่วม

ทั้งนี้ ในอนาคตจะมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจหากไม่มุ่งหน้าสู่ความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นข้อกำหนดในการเปิดเผยข้อมูลทั้งจากผู้มีส่วนได้เสียทั้งภาครัฐและภาคเอกชน หรืออาจจะไปถึง Carbon Tax บริษัทควรพิจารณาและวางแผนว่าจะทำอย่างไร กับต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น การพิจารณาใช้เทคโนโลยีเพื่อลดต้นทุนในกระบวนการทำงาน ทำให้ต้นทุนการทำงานรวมลดลง บริษัทต้องเตรียมอย่างรวดเร็ว

ด้าน คุณอาทิตย์ เวชกิจ ประธานคณะกรรมการ บริษัท นีโอ คลีน เอนเนอร์ยี่ จำกัด กล่าวว่า พรบ. โลกร้อน จะออกภายในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ทุกธุรกิจจะต้องเข้าสู่ภาคบังคับเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหนึ่งในความต้องการของธุรกิจในการทำการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากธุรกิจไหนไม่มีแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Low Carbon Plan) อาจจะได้รับผลกระทบทางธุรกิจหากปรับตัวไม่ทันกับข้อกำหนดของคู่ค้าที่มีความต้องการด้านนี้

การลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะช่วยให้องค์กรสามารถลดลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและได้ผลตอบแทนจากการลงทุน นอกจากนี้ BOI มีการสนับสนุนเรื่องการทำ Renewable Energy และ Efficiency Energy รวมถึงการลงทุนนวัตกรรมเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน บริษัทสามารถนำเงินลงทุน 50% ไปลดหย่อนภาษีนิติบุคคลได้

ยูโอบี พร้อมสนับสนุนการลดคาร์บอน
พันธกิจหลักของธนาคารยูโอบี คือการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ ธนาคารพยายามให้สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนผ่านกรอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ยั่งยืนเพื่อเมืองอัจฉริยะ (Smart City Sustainable Financing Framework) เป็นการให้การสนับสนุนสินเชื่อแก่กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม อาทิ การติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ การก่อสร้างอาคารประหยัดพลังงาน การปรับเปลี่ยนอาคารให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น การบริหารจัดการขยะ การบริหารจัดการน้ำ การให้สินเชื่อเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า

“ความยั่งยืนเป็นทั้งโอกาสและการบริหารความเสี่ยง ว่าทำอย่างไรให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ธนาคารยูโอบี ต้องการเป็นพันธมิตรกับทุกภาคส่วนในการเดินไปสู่ความยั่งยืนร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น UOB Sustainability Compass ที่เป็นคู่มือเริ่มต้น หรือการเชื่อมลูกค้าเอสเอ็มอีกับผู้ให้บริการทั้งผู้ให้บริการโซลูชันต่างๆ รวมทั้งการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน

นอกจากนั้น เรายังมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ โดยมีเป้าหมายที่จะเปิดโอกาสให้ลูกค้าที่ได้เริ่มดำเนินการด้านความยั่งยืนแล้ว ได้พบปะและแลกเปลี่ยนกับผู้ให้บริการโซลูชันต่างๆ และในครึ่งหลังของปีนี้ เราจะจัดโครงการนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องจากปีที่แล้ว เนื่องจากความยั่งยืนเป็นประเด็นที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และธนาคารยูโอบี ก็พร้อมเป็นส่วนหนึ่งเพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนไปด้วยกัน” ​คุณพณิตตรากล่าวทิ้งท้าย