DialogueTop Stories

เบื้องหลัง ‘แบงก์กรุงเทพ’ ซื้อ ‘ธนาคารเพอร์มาตา’ ฐานกำลังสำคัญในอินโดนีเซีย สปริงบอร์ดสู่​ Top 3 Regional Bank พร้อมแผน ‘One Family One Team’ ดันกำไรธุรกิจต่างประเทศแตะหมื่นล้าน

จับตา 'ธนาคารเพอร์มาตา' New Engine ของ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ในอินโดนีเซีย อีกหนึ่งตลาดสำคัญทั้งในภูมิภาคและระดับโลก  เพิ่มโอกาสการขยายเครือข่ายเพื่อรุก Retail Banking ในธุรกิจต่างประเทศ พร้อมแนวโน้มเพิ่มโอกาสสร้างกำไรเติมให้พอร์ตแบงก์กรุงเทพในอนาคตได้อีกกว่าหมื่นล้านบาท

แม้จะมีโมเดลในการทำ International Banking  มายาวนานหลายสิบปีไม่ต่างกับการรุกธุรกิจการเงินในประเทศไทยที่ดำเนินการมากว่า 80 ปีแล้ว  แต่ที่ผ่านมา ธุรกิจต่างประเทศของ ธนาคารกรุงเทพ มักจะทำเพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มคอปอเรท หรือการค้าขายระหว่างประเทศเป็นหลัก ทำให้การเพิ่ม Value Added หรือการเพิ่มบริการต่างๆ ให้ลูกค้าเป็นไปได้ค่อนข้างจำกัด

ขณะที่ Big Move ล่าสุดในฟาก International Banking ของ BBL คือการขยายฐานลูกค้ามาสู่​กลุ่มรีเทล เหมือนที่มีให้บริการในประเทศไทย เพื่อทำความรู้จักและเข้าใจลูกค้าได้มากยิ่งขึ้น โดยเลือกประเทศที่มีศักยภาพสูงอย่าง ‘อินโดนีเซีย’ ด้วยการเข้าไปซื้อกิจการ ‘ธนาคารเพอร์มาตา’  ตั้งแต่ปี 2563 พร้อมควบรวมเข้ากับธนาคารกรุงเทพที่ให้บริการในอินโดนีเซีย 3 แห่ง ได้แก่ สาขาจาการ์ตา สาขาสุรายาบา และสาขาเมดาน ​ภายใต้ชื่อ ‘ธนาคารเพอร์มาตา’ ซึ่งเป็นภาษาอินโดนีเซียที่แปลว่า อัญมณี หรือเพชรพลอย เพื่อสร้างความใกล้ชิดและคุ้นเคยกับชาวอินโดนีเซียได้มากกว่า

พร้อมได้ปรับเปลี่ยนโลโกมาเป็นสัญลักษณ์ดอกบัวหลวง ​ของธนาคารกรุงเทพเหมือนที่ใช้อยู่ในประเทศไทย เพื่อเป็นสัญลักษณ์​​แสดงถึงการเป็นกลุ่มธุรกิจภายใต้ครอบครัวเดียวกัน​

โฟกัส ‘อินโดนีเซีย -อาเซียน’ ตลาดแห่งอนาคต

ทั้งนี้ หากจะโฟกัสให้เห็น​ศักยภาพของอินโดนีเซียนั้น ถือได้ว่าเป็นตลาดสำคัญทั้งจากขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 16 ของโลก และเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาคทั้งเอเชียและอาเซียน พร้อมทั้งคาดว่าจะเป็นโลเกชั่นที่จะกลายเป็นตลาดแห่งอนาคต โดยเชื่อว่าในช่วง 5 ปีจากนี้ จะเติบโตกลายเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก

รวมทั้งจำนวนประชากรที่มีกว่า 280 ล้านคน มากเป็นอันดับ 4 ของโลก และ​ส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มสาวที่เป็นกำลังสำคัญในการสร้างการเติบโตให้ประเทศ ขณะที่มีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบกับมีเสถียรภาพและความเชื่อมั่นที่ดี รวมทั้งยังเป็นประเทศสมาชิกในกลุ่มผู้นำเศรษฐกิจโลกอย่าง BRICS  และ  G20 จึงเป็นโอกาสที่ดีทั้งของธนาคารและภาคธุรกิจที่ต้องการขยายการลงทุนเข้ามาในอินโดนีเซีย

ขณะที่ใน​ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 มีมูลค่าการลงทุนจากประเทศไทยในอินโดนีเซียสูงถึง 225 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และตลอด​ปี 2560-2565 นักลงทุนไทยมีการลงทุนรวม 1.52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในกว่า 1,400 โครงการทั่วประเทศอินโดนีเซีย  จึงนับเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของไทย โดย​ปีที่ผ่านมาประเทศไทยส่งออกสินค้าไปยังอินโดนีเซียมูลค่า 10.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ไทยเป็นจุดหมายส่งออกใหญ่อันดับ 4 ของอินโดนีเซีย โดยมีมูลค่าส่งออกถึง 7.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เร่งยุทธศาสตร์ Connecting ASEAN ​

คุณ​ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะ ‘ธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค’ และธนาคารต่างชาติแห่งแรกของอาเซียนที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารในอินโดนีเซีย ตั้งแต่ปี 2511 เนื่องจากเล็งเห็นศักยภาพทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในระยะยาว  ก่อนจะเข้าซื้อเพอร์มาตาในปี 2563 เพื่อขยายโอกาสธุรกิจและการเติบโตในอนาคต

ซึ่งภายหลังจากเพอร์มาตาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งใน​พอร์ตของกลุ่มธนาคารต่างประเทศก็มีการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ​และยังมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีกมาก จากภารกิจหลักของธนาคารในการขับเคลื่อน​ยุทธศาสตร์ Connecting ASEAN หรือการเชื่อมโยงอาเซียน เพื่อ Synergy ความแข็งแกร่งด้านเครือข่ายของเพอร์มาตาในตลาด Local ​รวมทั้ง  BBL ที่มีความแข็งแรงในตลาดต่างประเทศ และมี Network กระจายใน 14 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก เพื่อตอกย้ำบทบาทในการเป็น Regional Banking หรือธนาคารแห่งภูมิภาคได้อย่างแท้จริง

“หลังการเข้าซื้อกิจการ BBL จะมุ่ง​​สนับสนุนและเพิ่มโอกาสเติบโตให้เพอร์มาตา ผ่านการจัดตั้งหน่วยงานบริการที่ชื่อว่า ฝ่ายพัฒนาและที่ปรึกษาธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Development and Advisory Directorate) เพื่อเป็นศูนย์การรองรับลูกค้าในเครือข่ายของธนาคาร ทั้งในกลุ่มอาเซียน จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซีย และลูกค้าในอินโดนีเซียที่ต้องการไปลงทุนประเทศอื่นในภูมิภาค  ​โดยมุ่งเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจระหว่างประเทศ จัดหาเงินทุนสำหรับโครงการและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น กลุ่มโครงการโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สอดคล้องกับหลัก ESG ตามการผลักดันของรัฐบาลอินโดนีเซีย”

ด้าน คุณเมลิสา รุสลิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพอร์มาตา  กล่าวว่า ประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง พร้อมด้วยทรัพยากรและแรงงาน โดยปัจจุบันรัฐบาลได้ดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ Golden Indonesia ที่เน้นขับเคลื่อนโครงการเศรษฐกิจสีเขียว การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และโครงการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล มุ่งสู่การเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกภายในปี 2588

จากยุทธศาสตร์นี้ ธนาคารเพอร์มาตา ได้เล็งเห็นโอกาสสำคัญและผลักดันลูกค้าและพันธมิตรในภูมิภาคเพื่อคว้าโอกาสต่างๆที่จะเกิดขึ้น ผ่านบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างครบวงจร สำหรับกลุ่มลูกค้าบุคคลและกลุ่มลูกค้าธุรกิจ โดยมีทั้งบริการการเงินทั่วไปและระบบการเงินอิสลาม (Sharia)

“นโยบายของรัฐบาลอินโดนีเซียในขณะนี้ สอดคล้องกับการดำเนินงานของธนาคารเพอร์มาตาภายใต้การสนับสนุนของธนาคารกรุงเทพ เพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้าในหลายด้าน เช่น บริการ Asia Same Day Payment ซึ่งให้บริการโอนเงินแก่ลูกค้านำเข้าและส่งออกได้ภายในวันเดียวแบบเรียลไทม์ระหว่างไทยกับอินโดนีเซียผ่านคิวอาร์โค้ด  รวมทั้งเร่งผลักดันลูกค้าเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจสีเขียว โดยสนับสนุนสินเชื่อต่างๆ พร้อมทั้งดูแลและให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาบริการและผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ครบทุกมิติ” 

 มุ่งเติบโตอย่างบูรณาการผ่าน ‘One Family One Team’

ภายหลัง​ธนาคารกรุงเทพ​รวมสาขาในอินโดนีเซียเข้ากับธนาคารเพอร์มาตา ส่งผลให้ธนาคารเพอร์มาตาเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีอัตราส่วนเงินกองทุนแข็งแกร่งที่สุดในอินโดนีเซีย และเป็น 1 ใน 10 ​ธนาคารที่มีสินทรัพย์รวมใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซียโดยมีเครือข่ายสาขาให้บริการ 240 สาขา กระจายอยู่ใน 82 เมืองสำคัญทั่วประเทศ และมีฐานลูกค้ารวมกว่า 6.2 ล้านราย ​

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการบริษัท และ คุณไชยฤทธิ์ อนุชิตวรวงศ์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  กล่าวร่วมกันว่า ทั้ง BBL และเพอร์มาตา มุ่ง​​​​​ขับเคลื่อนแผนงานอย่างบูรณาการ หลังควบรวมกิจการ ด้วยแนวคิด ‘One Family One Team’ เพื่อสามารถบรรลุเป้าหมายในการ​ผนวกระบบการทำงาน วิธีคิด วัฒนธรรมองค์กร ไปจนถึงแลกเปลี่ยนนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้​ตอบโจทย์ความต้องการและมอบประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมายได้อย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ๆ ในโมบายแบงกิ้ง หรืออินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง ไปจนถึงโซลูชันทางการเงินสำหรับภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐานในการให้บริการทางการเงินของการทำธุรกรรมทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ เป็นต้น

อีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญ ​คือ การมุ่งสู่ Top 3 ​ธนาคารแห่งภูมิภาค หรือ Regional Banking จากฐานการให้บริการที่หลากหลายและครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาค เพื่อ​​รองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจใน​อาเซียนที่มีแนวโน้มขยับเป็นตลาดอันดับ 4 ของโลก โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว การมีฐานจากประเทศที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้นจะช่วยรักษาผลประกอบการภาพรวมให้เติบโตได้ต่อเนื่อง ​

“การมีเพอร์มาตา ยังทำให้ BBL สามารถเพิ่มบริการใหม่ หรือให้บริการที่ครบวงจรแก่ลูกค้าได้มากขึ้น ผ่านโครงสร้างการให้บริการของเพอร์มาตาที่มีครบทั้งลูกค้ากลุ่มธุรกิจ ลูกค้าองค์กร และลูกค้าบุคคล รวมทั้งมี​แพลตฟอร์มการให้บริการที่รองรับการทำธุรกรรมลูกค้าแต่ละกลุ่มได้อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะการมีฐานลูกค้าบุคคลในต่างประเทศเป็นครั้งแรก ทำให้ธนาคารสามารถให้บริการเงินฝาก และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินที่มีต้นทุนที่ต่ำลงเพื่อนำไปต่อยอดการให้บริการหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และเข้าถึงลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มโอกาสในการทำกำไรจากกลุ่ม International Banking ได้มากขึ้น จาก​ก่อนหน้าที่มีสัดส่วนกำไรไม่มากนัก จากรูปแบบการให้บริการที่จำกัดและมีต้นทุนการเงินที่ค่อนข้างสูง”

ส่งผลให้ปีที่ผ่านมาเพอร์มาตามีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ด้วยสัดส่วนสินเชื่อ​ 12%​ ในพอร์ตสินเชื่อธนาคารกรุงเทพ พร้อมทั้งช่วยเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อในต่างประเทศให้เพิ่มจาก 17% เป็น 25% (ข้อมูล ณ ธันวาคม 2567) ขณะที่​​กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 38% หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 6 พันล้านบาท ซึ่งในอนาคตเชื่อว่าจะขยับขึ้นแตะหลักหมื่นล้านบาทได้อย่างแน่นอน