ขับเคลื่อนต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แล้ว สำหรับโครงการ ‘วัน ซันโทรี่ มิซุอิกุ : เรารักษ์น้ำ’ ภายใต้การผนึกกำลังกันของ บริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท ซันโทรี่ เบเวอเรจ แอนด์ ฟู้ด (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี บริษัท ซันโทรี่ โฮลดิ้งส์ จำกัด บริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่นร่วมให้การสนับสนุน
‘วัน ซันโทรี่ มิซุอิกุ : เรารักษ์น้ำ’ เป็นการยกระดับและรวมความเชี่ยวชาญของทั้งสองบริษัทในเครือซันโทรี่ ที่เคยมีแนวทางในการขับเคลื่อนเรื่องน้ำในแบบฉบันของตัวเองมาก่อนหน้านี้ มาสู่การรวมพลังเพื่อเพิ่ม Impact ให้สร้างผลกระทบเชิงบวกได้มากขึ้น ผ่านแนวคิด ‘ไม่มีน้ำ ไม่มีเรา’ (No Water, No Life)
โดยมีเป้าหมายมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกและส่งต่อองค์ความรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำให้แก่เด็กและเยาวชน เพื่อต้องการสร้างกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่สามารถเติบโตขึ้นไปเป็น ‘ผู้นำ’ ด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมตั้งเป้าหมายภาพรวมทั่วโลก ในการเข้าถึงเด็กและเยาวชน รวมทั้งสามารถส่งมอบองค์ความรู้เรื่องน้ำให้แก่ผู้คนทั่วโลกได้ 5 ล้านคน ภายในปี 2030
เรียนรู้ผ่าน Experience Based Learning
การขับเคลื่อนนี้ ยังตอบโจทย์ทั้งในมิติทางธุรกิจ ในฐานะบริษัทเครื่องดื่ม ที่ ‘น้ำ’ ถือว่าเป็นทรัพยากรสำคัญที่สร้างการเติบโตในธุรกิจ ประกอบกับ น้ำคือหัวใจสำคัญในการดำรงชีวิตของผู้คนบนโลก จึงมุ่งเดินหน้าปลูกจิตสำนึกและถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านการอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อม ผ่านการส่งเสริมการอนุรักษ์น้ำในชีวิตประจำวัน พร้อมการช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้เกิดขึ้นทั้งในโรงเรียน ครอบครัว ตลอดจนชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน
สำหรับการดำเนินงานในประเทศไทย ปี 2024 ที่ผ่านมา สามารถส่งมอบองค์ความรู้ให้เด็กและเยาวชนกว่า 8,115 คน รวมทั้งคุณครู 270 คน จาก 30 โรงเรียนในจังหวัดชลบุรีและระยอง และอนาคตต่อไปจะมุ่งขยายพื้นที่ขับเคลื่อนโครงการไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดที่มีโรงงานของทั้ง 2 บริษัทตั้งอยู่ ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และสระบุรี ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นบ้านอีกหนึ่งหลังของซันโทรี่เช่นกัน
ในส่วนของการนำร่องโครงการในปีที่ 2 นี้ ได้จัดขึ้นใน จ.ชลบุรี พร้อมชักชวนแกนนำเยาวชนคนรุ่นใหม่ และคุณครูกว่า 500-600 คน มาร่วมเรียนรู้และลงมือทำ ‘ค่ายมิซุอิกุ ผู้พิทักษ์รักษ์น้ำ’ ผ่านรูปแบบ Experience Based Learning จากห้องเรียนธรรมชาติ เพื่อสร้างความเข้าใจได้ชัดเจนมากขึ้นจากประสบการณ์จริง และนำความรู้ที่ได้จากค่าย กลับไปต่อยอดสู่การดำเนินโครงการอนุรักษ์น้ำภายในโรงเรียน พร้อมจัดตั้ง ‘มิซุอิกุ คลับ’ เพื่อขยายผลโครงการออกไปสู่แต่ละครอบครัว หรือภายในชุมชนต่อไป
การออกแบบ 2 กิจกรรมหลักในโครงการ ทั้งการเข้าค่ายมิซุอิกุ และการจัดตั้งมิซุอิกุ คลับ จึงเป็นเสมือนการต่อยอดสร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจอนุรักษ์ และเป็นแรงกระเพื่อมให้เกิดการขยายผลไปสู่การแก้ปัญหาภายในโรงเรียน หรือในชุมชน โดยมีการสนับสนุนงบประมาณสำหรับจัดทำโครงการอนุรักษ์น้ำให้โรงเรียนในโครงการแห่งละ 1 หมื่นบาท พร้อมทั้งทำการเฟ้นหา ‘โรงเรียนต้นแบบรักษ์น้ำ’ หรือ School Model เพื่อคัดเลือกให้ไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น และนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้ให้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาของโรงเรียน หรือในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม
มุ่งผลักดันหลักสูตร ‘อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ’
โครงการนี้ ยังเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง ทั้งในมิติของการศึกษา และด้านการดูแลบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC : Environmental Education Centre) รวมทั้งภาคีหน่วยงานภาครัฐ ทั้งกรมทรัพยากรน้ำ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และกรมควบคุมมลพิษ ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับชื่อโครงการ คือ มิซุ ที่แปลว่าน้ำ และ อิกุ ที่แปลว่า การศึกษา นั่นเอง
สำหรับเนื้อหาการเรียนรู้ของเด็กๆ และเยาวชน จะเน้นการสร้างความตระหนักและทำความเข้าใจถึงความสำคัญของทรัพยากรน้ำ ด้วยแนวคิด ‘ไม่มีน้ำ ไม่มีเรา’ พร้อมเรียนรู้เส้นทางวัฏจักรของน้ำ และความรู้ที่เชื่อมโยงและเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์น้ำ เช่น การคัดแยกขยะ เพื่อเข้าใจประเภทของขยะ และสามารถแยกขยะที่รีไซเคิลได้ให้กลับเข้าสู่ระบบ Circularity เพื่อลดปริมาณขยะ และลดโอกาสที่จะหลุดมาสร้างผลกระทบให้สิ่งแวดล้อมหรือแหล่งน้ำในอนาคต
อีกหนึ่ง What’s Next ที่ทางซันโทรี่ตั้งเป้าไว้ คือ การยกระดับองค์ความรู้เรื่องการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรน้ำในโครงการ ‘วัน ซันโทรี่ มิซุอิกุ : เรารักษ์น้ำ’ ให้กลายเป็นหนึ่งในหลักสูตร เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กไทยทุกคนสามารถเข้าถึงและเรียนรู้ได้อย่างเสรี จึงเตรียมเดินหน้าผลักดันและประสานงานต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสามารถบรรจุองค์ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ รวมทั้งสิ่งแวดล้อม ให้กลายเป็นหนึ่งทางเลือกในวิชาเรียนเสรีของเด็กนักเรียนไทย เช่นเดียวกับที่สามารถผลักดันได้สำเร็จแล้วในบางประเทศ เช่น เวียดนาม เป็นต้น
ขณะที่ในประเทศไทยจะเดินหน้าผลักดัน เพื่อสามารถขยายผลและสร้างความตระหนักรู้ได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการสร้างแนวร่วมเพื่อช่วยดูและรักษาทรัพยากรน้ำ รวมทั้งสิ่งแวดล้อมของประเทศในอนาคต
เห็นได้ว่า ความแตกต่างและโดดเด่นในการขับเคลื่อนโครงการ ‘วัน ซันโทรี่ มิซุอิกุ : เรารักษ์น้ำ’ จึงไม่ใช่แค่การให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนภายในห้องเรียนแล้วจบไป แต่มุ่งหวังให้เกิดการขับเคลื่อน Impact ที่จับต้องได้ รวมทั้งเกิดการนำไปต่อยอดวิธีคิด หรือสร้าง Best Practice จากไอเดียของคนรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาเป็นโซลูชันในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำหรือสิ่งแวดล้อมให้แต่ละพื้นที่ได้อย่างแท้จริง