DialogueTop Stories

สัญญาณเตือน ‘สุขภาวะแรงงานไทย’ 50% ป่วยกาย , 65% ป่วยใจ สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก ต้องเร่งสร้าง Well-being ก่อนฉุดศักยภาพองค์ก​ร

การส่งเสริม Well-being ภายในองค์กร ไม่เพียงเพิ่ม​ศักยภาพ และความสามารถในการแข่งขันให้กับแต่ละองค์กรเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นฐานของความแข็งแรงในสังคม และยกระดับ Productivity ระดับชาติได้อีกด้วย

อีกหนึ่งมิติของการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามกรอบ ESG  ที่โฟกัสในมุม Social หรือผลกระทบด้านสังคม จาก​เวทีสัมมนา ESGNIVERSE 2025: Real – World of Sustainability : From Reports to REAL IMPACT  ​

ผ่านการบรรยายหัวข้อ  ‘SUSTAINABLE WELL-BEING & HIGH PERFORMANCE FOR WORKPLACE (or corporate) SUSTAINABILITY’ โดย รศ.​ดร.สุภรักษ์ สุริยันเกียรติแก้ว ผู้ช่วยคณบดีหน่วยธุรกิจและสังคมสัมพันธ์ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล  ที่มองว่า การส่งเสริมสุขภาวะที่ดี หรือ  Well-being ภายในองค์กร ไม่เพียงสามารถยกระดับ​ศักยภาพ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับแต่ละองค์กรเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความแข็งแรงให้สังคม รวมท้ังช่วยยกระดับ Productivity ระดับชาติได้​ด้วย

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ จำเป็นต้องมองในมิติ Social ควบคู่ไปกับมิติทางเศรษฐกิจด้วย โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพของคน ซึ่งถือเป็นพื้นฐานสำคัญของทุกการพัฒนา โดยเฉพาะโครงสร้างประชากรไทยที่เข้าสู่ Aging Society หรือสังคมสูงอายุ จากสัดส่วนประชากรที่​อายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป เพิ่มเป็น 20% หรือราว 1 ใน 5  และจะยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้นในอนาคต​

ส่วน 71% หรือราว 40 ล้านคน ที่ยังอยู่ในวัยทำงาน จะเป็นกลุ่มหลักที่ต้องแบกรับความรับผิดชอบ ขณะที่โครงสร้างแรงงานกำลังเปลี่ยน จากการเติบโตของ Aging Society ทำให้จำเป็นต้อง​สร้างการเปลี่ยนผ่านไปสู่การมีสังคมสูงวัยที่แข็งแรง เพื่อสามารถกลับเข้าสู่ระบบแรงงานได้อีกครั้ง  ผ่าน​การส่งเสริม​ Well-being ที่กำลังได้รับความสนใจในระดับโลก และจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างให้เกิดสุขภาวะที่ดีของคนไทย โดยเฉพาะในวัยแรงงานได้อย่างยั่งยืน เพื่อเปลี่ยนจากการเป็นสังคมผู้สูงอายุ สู่การเป็นสังคมแห่ง Productive & Aging Well Society 

อย่างไรก็ตาม ​​ข้อมูลวิจัยสุขภาพของคนไทย (Thai Health ) โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม (IPSR) มหาวิทยาลัยมหิดล พบข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาด้าน​ Well-being ของประชากรไทยในวัยแรงงาน โดยพบว่ามากกว่า 50% หรือราว 20 ล้านคน มีปัญหาด้าน​การเจ็บป่วยในกลุ่มโรค NCDs หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง​ เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ  หลอดเลือด หรือโรคอ้วน ขณะเดียวกัน ยังมีสัดส่วนมากถึง  65% ที่มีปัญหาเรื่องสุขภาวะทางด้านจิตใจ (Mental Well-being)  โดยเฉพาะเรื่องของความเครียด ทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจ สังคม หรือภาระทางครอบครัว

“ข้อมูลพบว่า 50% ของแรงงานไทยมีปัญหา​ Physical Well-being หรือโรคทางกาย ขณะที่ 65% มีปัญหาทางใจ และเป็นค่าเฉลี่ยที่สูงมากกว่าค่าเฉลี่ยของโลก สะท้อนว่า ประเทศไทยกำลังมีการเจ็บป่วย มีสุขภาวะที่ไม่ดี และเมื่อ Workforce ไม่แข็งแรง ก็จะเพิ่มทั้งต้นทุนในการบริหารจัดการ รวม​ถึง​สูญเสียโอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพ​ ขณะที่ในองค์การหากพนักงาน​เจ็บป่วย และต้อง​ขาด ลา มาสาย บ่อยๆ ก็กระทบต่อ Performance องค์กรเช่นเดียวกัน โดยพบว่าประเทศไทยมี Loss จากการเจ็บป่วย ขาด ลา ของพนักงานรวมทั้งปีราว 73 วัน ซึ่งยังไม่ร่วมวันหยุดประจำปี​  ซึ่งเป็นอัตราที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง  40% และยังส่งผลให้ Performance ในการทำงานลดลงถึง 22%  ขณะที่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาอีกราว 2แสนบาทต่อคนต่อปี สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงผลลัพธ์และความสัมพันธ์ระหว่าง Well-being และ Performance ภายในองค์กรได้เป็นอย่างดี รวมถึงยังกระทบให้มีต้นทุน​​การดำเนินงานที่เพิ่มมากขึ้นด้วย เพราะพนักงาน หรือทรัพยากรบุคคลคือต้นทุนสำคัญที่สุดของทุกบริษัท”   

นอกจากนี้ ยังพบความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระดับโลก และเติบโตเป็นอีกหนึ่ง Global Workplace Trend ในเรื่องของความต้องการสมดุลระหว่าง Well Being และ High Performance ขององค์กร ซึ่งสอดคล้องกับ UN SDG ข้อ 3 เรื่องของการส่งเสริมการมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่​ดี ผ่านเทรนด์ Sustainable Well-being & High Performance  โดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงานที่มีภาวะทั้ง Burnout หรือ  Brownout  ไม่ว่าจะเป็นการหมดไฟในการทำงาน รู้สึกเบื่อหรือเหนื่อยหน่ายต่อองค์กร จนมีอาการ Monday Morning Sickness หรือหดหู่ ซึมเศร้าไม่อยากไปทำงาน ทำให้ขาดการมีปฏิสัมพันธ์และอยากลาออกในที่สุด ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น นับเป็นอีกหนึ่งสัญญาณเตือนว่า​องค์กรจำเป็นเข้าไปดูแลการสร้างสมดุลในเรื่องของ Well-being ให้กับพนักงานอย่างเร่งด่วน

“แรงงานไทยครึ่งหนึ่ง หรือ 50% มองว่า ความสบายใจ หรือ Mental Well-being ส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียที่อยู่ในระดับ 45% รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการทำงานส่งผลให้ศักยภาพทำงานลดลง 10-60% สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุให้องค์กรสูญเสียโอกาสด้านศักยภาพในการทำงาน  องค์กรจึงต้องหันมาให้ความสำคัญในการสร้าง Holistic Well-beingในที่ทำงาน เพื่อสร้างสมดุลทั้งการดูแลด้านร่างกาย จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งปัญญาให้แก่พนักงาน รวมทั้งการสร้าง Ecosystem ให้เป็นระบบที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน หรือ Supportive Workplace Environment รวมทั้งการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรง รวมไปถึงการมีเครื่องมือภายในองค์กร เพื่อวัดระดับหรือสร้างให้เกิด Well -being เพื่อส่งเสริมการดูแลบุคลากรและช่วยขับเคลื่อนให้องค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืน”