เคมบริดจ์ สร้าง ‘Game Change’ ​ใช้เทคโนโลยีแสงอาทิตย์ เปลี่ยนขยะพลาสติกและก๊าซเรือนกระจกเป็นเชื้อเพลิงและเครื่องสำอางที่ยั่งยืนได้

​นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์  ​ ค้นพบวิธีในการจัดการขยะพลาสติกและก๊าซเรือนกระจกให้กลายมาเป็นพลังงานที่ยั่งยืน โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์  ซึ่งอาจกลายเป็น “ตัวเปลี่ยนเกม” ให้กับการพัฒนา Circular Economy  จากนี้ไป

ตามรายงานของ UNEP  (UN Environment Programme)​ ระบุว่า มีขยะพลาสติกถูกผลิตขึ้นในแต่ละปีราว 300 ล้านตัน แต่มีเพียง 9% ที่ถูกนำไปใช้รีไซเคิล ส่วนที่เหลือจะถูกนำไปฝังกลบ และไหลลงสู่ทะเล พร้อมทั้งสร้างให้เกิดผลกระทบจากไมโครพลาสติกตามมา

ขณะที่ทีม Reisner กลุ่มนักวิจัยจากเคมบริดจ์ ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนขยะพลาสติกและก๊าซเรือนกระจกให้กลายเป็นแก๊สสังเคราะห์ และกรดไกลโคลิก (syngas and glycolic) ได้ในเวลาเดียวกัน​ ด้วยเครื่อ​งปฏิกรณ์พลังงานแสงอาทิตย์ ​ที่เปลี่ยน CO2 ​เป็นแก๊สสังเคราะห์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของเชื้อเพลิงเหลวที่ยั่งยืน ขณะที่ขวดพลาสติกถูกเปลี่ยนเป็นกรดไกลโคลิก ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ​

การค้นพบนี้เป็นวิธีการเปลี่ยนขยะพลาสติกและก๊าซเรือนกระจก ซึ่งถือเป็น 2 ปัญหาใหญ่ในการแก้วิกฤตสภาพอากาศ ให้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ พร้อมทั้งได้รับรองผลรายงานไว้ใน​วารสาร Nature Synthesis

ซึ่งก่อนหน้านี้ การเปลี่ยนแปลง CO2 ต้องใช้พลังงานจำนวนมาก แต่ด้วยระบบพื้นฐานของเครื่องปฏิกรณ์นี้ ทำให้เพียงแค่ฉายแสงไปที่วัตถุก็สามารถเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายให้กลายเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และยั่งยืนได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่สามารถมีใครทำได้มาก่อน

ศาสตราจารย์ Erwin Reisner จาก Yusuf Hamied Department of Chemistry  หัวหน้าทีมคณะวิจัย มองว่า ความสำเร็จในคร้ังนี้อาจกลายเป็น Game Changer ในแวดวง Circular Economy  ขณะที่การแปลงของเสียให้เป็นสิ่งที่มีประโยชน์โดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์จะเป็นเป้าหมายหลักในการวิจัยของทีม

ทีมวิจัย ประกอบด้วย Erwin Reisner, Subhajit Bhattacharjee, Motiar Rahaman

ข้อดีอย่างหนึ่งของเครื่องปฏิกรณ์ ที่นักวิจัยกลุ่มนี้ได้ออกแบบไว้  คือ สามารถเปลี่ยนตัวเร่งปฏิกิริยาที่แตกต่างกันได้ ซึ่งสารตั้งต้นที่แตกต่างกันสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายที่แตกต่างกันได้  ทำให้ในอนาคตจะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนได้มากยิ่งขึ้นได้ เพียงแค่การเปลี่ยนตัวเร่งปฏิกิริยา เพื่อให้เข้าไปทำปฏิกิริยาร่วมกับตัวดูดซับแสงภายในเครื่องปฏิกรณ์

งานวิจัยนี้ ได้รับการสนับสนุนทุนก้อนใหม่จาก European Research Council เพื่อให้นักวิจัยใช้ปรับแต่งเครื่องปฏิกรณ์​ให้สามารถผลิตโมเลกุลที่ซับซ้อนมากขึ้นได้ ซึ่งงานวิจัยนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากขยะพลาสติกและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นปัญหาสองประการที่ต้องให้ความสนใจอย่างเร่งด่วน​

กลุ่มผู้วิจัยหวังว่าสักวันหนึ่งระบบจะถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาโรงงานรีไซเคิลที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด  เพื่อเป็นการพัฒนาโซลูชั่นด้านพลังงานสะอาดและความยั่งยืน

source

source

Stay Connected
Latest News