กระแส ESG แรง ดันแชร์กองทุนยั่งยืนเพิ่มเท่าตัว ด้าน SCB CIO ​ชี้ 6 สัญญาณเฝ้าระวัง ทำความเข้าใจตลาดก่อนตัดสินใจลงทุน

SCB Chief Investment Office  หรือ SCB CIO  ชี้ภาพรวมการลงทุนในกองทุนรวมที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง โดยมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (AUM) ของกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนเกี่ยวกับ ESG ในปี 2559-2564 เติบโตสูง เฉลี่ยเกือบ 30% ต่อปี

ดร.กำพล  อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB CIO กล่าวว่า การเติบโตดังกล่าว ​ผลักดันให้ส่วนแบ่งตลาดของกองทุน ESG เพิ่มขึ้นจาก 3% ในปี 2559 มาเป็น 6% ในปี 2564 และทรงตัวในปี 2565 ซึ่งภูมิภาคยุโรปมีความโดดเด่นที่สุดเรื่องการลงทุนในกองทุนรวม ESG โดยพบว่า ส่วนแบ่งตลาดของกองทุน ESG สูงถึงเกือบ 30% ของ AUM รวมในยุโรป

พร้อมชี้ให้เห็น 6 ประเด็นสำคัญ ท่ีเกี่ยวข้องกับการลงทุนในธีม ESG ต่อไปนี้

 1. กระแส ESG ได้รับความสนใจอย่างมากจากทุกภาคส่วน (ทั้งรัฐและเอกชน) ​
ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เป็นที่พูดถึงและดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษ 1900 แต่ยังไม่ได้เรียกออกมาชัดเจนเป็น ESG (Environmental, Social, and Governance) โดยความสนใจใน ESG เร่งตัวขึ้น อย่างชัดเจนหลังปี 2016 ผ่านการออกเกณฑ์กำกับดูแลเกี่ยวกับ ESG มากขึ้นอย่างก้าวกระโดดของหน่วยงานกำกับของรัฐในหลายพื้นที่ทั่วโลก และส่งผลต่อเนื่องมายังภาคเอกชนให้ต้องตื่นตัวกับ ESG มากขึ้น ทั้ง ผู้ผลิต ผู้บริโภค สถาบันการเงิน และนักลงทุน

ทั้งนี้ นับแต่ปี 2016 – 2020 จำนวนกฎระเบียบด้าน ESG เพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึง 41% ต่อปี ส่วนปี 2021 เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงถึง 17% ​จากปี 2020 โดยกฎระเบียบที่ออกมาส่วนใหญ่จะมาจากภาครัฐบาลของ ประเทศต่างๆ ซึ่งคิดเป็นกว่า 80% ของกฎระเบียบทั้งหมด ส่วนอีกเกือบ 20% ​ถูกกำกับโดยหน่วยงานกำกับด้านการเงิน ด้านอุตสาหกรรม และหน่วยงานกฎหมายต่างๆ รวมถึงธนาคารกลาง​

และหากพิจารณาเรื่อง ESG ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน พบว่า กฎระเบียบใหม่ๆ ที่พบบ่อยที่สุดและมีความเกี่ยวพันกับการลงทุน คือ การมุ่งเน้นให้บริษัทจดทะเบียนและนักลงทุนทำความ​เข้าใจและรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มความโปร่งใสเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการ

2. กองทุนรวม ESG เติบโตต่อเนื่อง และโดดเด่นในภูมิภาคยุโรป

มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (AUM) ของกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนเกี่ยวกับ ESG ในปี 2016-2021 เติบโตสูงเฉลี่ยเกือบ 30% ต่อปี หนุนส่วนแบ่งตลาดของกองทุน ESG เพิ่มขึ้นจาก 3% มาเป็น 6% ในปี 2021 และทรงตัวในปี 2022 (แม้ AUM จะลดลงตามภาวะตลาด)

หากพิจารณากองทุน ESG เป็นรายภูมิภาค จะพบว่า ยุโรป มีส่วนแบ่งตลาดของกองทุน ESG มากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ และสัดส่วนต่อมูลค่า AUM รวมในภูมิภาคยุโรปยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้แต่ในปี 2022 ตลาดเผชิญปัจจัยลบจากดอกเบี้ยขาขึ้นและเงินเฟ้อเร่งตัว โดยส่วนแบ่งตลาดของกองทุน ESG ในยุโรปสูงเกือบ 30% ของ AUM รวมในยุโรป และเพิ่มขึ้นจาก 2021 ที่มีสัดส่วน 28.5% ​​สอดคล้องกับแนวทางที่ยุโรปให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานสะอาดมากขึ้น ลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลต่างๆ ขณะที่ฝั่งอเมริกาและเอเชีย ส่วนแบ่งตลาดกองทุน ESG ทรงตัวอยู่ที่ราว 2% และ 1.3% ในช่วงเวลาเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม กองทุน ESG ยังค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ใน General ESG Fund (85% ของกองทุน ESG โดยรวม) ส่วนที่เหลือจะเป็น Thematic ESG Fund ที่เกือบครึ่งเป็นกลุ่มที่เน้นการจัดการด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Action)

3. Greenwashing ประเด็นความเสี่ยงของ ESG ที่ต้องจับตา

ผลจากที่หลายภาคส่วนต้องการได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมในกระแส ESG ทำให้เกิดกระบวนการ ‘Greenwashing‘ หรือ ‘การฟอกเขียว’ กับบริษัทต่างๆ ที่สร้างภาพว่าปฏิบัติตามแนวทาง ESG แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้น ซึ่งมีหลายประเด็นที่เคยเป็นประเด็นทางสาธารณะ เช่น การเปิดตัว​หลอดกระดาษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของ  McDonald ในปี 2019 แต่ภายหลังพบว่า หลอดนี้ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ทำให้มีคำถามจากสังคมตามมาว่า​ หรือกรณีการเปิดตัว Coca Cola Life​ ผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากสีเขียว โดยสื่อสารว่าเป็น น้ำอัดลมที่มีความหวานมาจากธรรมชาติ ซึ่งดีและมีความยั่งยืนต่อสุขภาพ แต่ต่อมาพบปริมาณน้ำตาลสูงถึง 6.6%  รวมท้ังการออกโฆษณาของสายการบิน Ryan Air ​ในปี 2020 ว่าเป็น สายการบินที่สร้างมลภาวะต่ำที่สุด แต่หลังจากนั้นหน่วยงานมาตรฐานการโฆษณาก็ออกมาห้ามการโฆษณาดังกล่าวทันที โดยชี้ว่าเป็นการกล่าวอ้างเกิน จริง และสายการบินเป็นธุรกิจที่สร้างความอ่อนไหวต่อสิ่งแวดล้อม

รวมทั้งเคสในใธุรกิจกองทุนอย่าง DWS ซึ่งเป็นบริษัทการลงทุนในเยอรมนี ที่ระบุว่าใช้ ESG เป็นปัจจัยคัดเลือกหุ้น แต่ถูกตรวจสอบว่าไม่เป็นจริง นำมาสู่การถูกลงโทษ และยังผลให้ลูกค้าถอนเงินลงทุน ราคาหุ้นบริษัทแม่ลดลงไป 14% หลังจากมีข่าวออกมา​ เป็นต้น

“รัฐบาลในหลายประเทศค่อนข้างให้ความสำคัญกับการป้องกันไม่ให้เกิด ​Greenwashing โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (DM) ที่มีการปรับใช้การกำกับดูแลด้าน ESG มาก่อน และค่อนข้างเข้มข้นกว่ากลุ่มประเทศในตลาดเกิดใหม่ (EM) เช่น สหรัฐและยุโรป ต่างมีกฎหมายที่ป้องกันการเกิด Greenwashing รวมถึงมีบทลงโทษ นอกเหนือจากการกำหนดให้บริษัทจดทะเบียนทั้งหมดต้องเปิดเผยข้อมูล ESG และ ESG commitment และในอนาคตคาดว่ากลุ่มตลาดเกิดใหม่ หลายประเทศก็มีเป้าหมายที่จะเพิ่มการกำกับดูแล ด้าน ESG มากขึ้น เช่น การผลักดัน ESG Declaration ของสมาคมธนาคารไทย เป็นต้น”​​.

เปรียบเทียบการจัดอันดับความน่าเชื่อถือด้าน ESG ของผู้ให้บริการ 4 รายใหญ่

4. ESG Rating มีความสัมพันธ์ต่อผลตอบแทนจากการลงทุนของบริษัท

กระแส Greenwashing ที่เกิดขึ้น ทำให้การวัดผลด้าน ESG มีความสำคัญฯ ซึ่งจากการศึกษาของ Morningstar และ Fidelity International proprietary ต่างก็พบว่า กลุ่มบริษัทที่ได้รับ ESG Rating ​สูง มักให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีกว่าบริษัทที่มี ESG Rating ต่ำ

อย่างไรก็ดี ในระยะสั้น ความสัมพันธ์ของผลตอบแทนจากการลงทุนกับ ESG Rating อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปได้ ตามผลกระทบของเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าว ดังเช่นที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2022 ที่ราคาน้ำมันโลกเร่งตัวและดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้น ทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับจาก ESG fund โดยส่วนใหญ่อาจไม่สามารถสู้กับกลุ่ม Fossil fuel (ที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากราคาน้ำมันสูง) และ MSCI World (ไม่นับรวมกลุ่ม Fossil fuel) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีใหม่/นวัตกรรมใหม่ที่ลดทอนการทำลายสิ่งแวดล้อม มักเป็นกลุ่ม Tech firm/HighI financial leverage ทำให้ผลตอบแทนอ่อนแอลงในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

5. การลงทุนในกลุ่ม ESG มีความเหมาะสมเพื่อการลงทุนในระยะยาวมากกว่าคาดหวังผลตอบแทนในระยะสั้น 

เนื่องจาก ESG Rating เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนสนใจเข้าไปลงทุนและคาดว่าจะมี Flow เข้ามาต่อเนื่อง สะท้อนจากเงินทุนที่ไหลเข้ากองทุน Article 9 (เน้น ESG เข้มข้น) มีสัดส่วนมากกว่า Artidle 8 (ส่งเสริม ESG อยู่บ้าง) ตลอดช่วงปี 2018-202 1 รวมถึงปี 2022 ที่ดอกเบี้ยและเงินเฟ้อสูง

นอกจากนี้ กลุ่มนักลงทุน โดยเฉพาะ GenY และ Z ยกให้ ESG rating เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจลงทุน (แม้จะไม่ได้สำคัญเท่ากับผลตอบแทนจากการลงทุน) และผลตอบแทนที่พิจารณาความผันผวนด้วย (Risk-adjusted return) ของกลุ่ม ESG สูงกว่ากลุ่ม non-ESG ซึ่งทำให้การลงทุนในกลุ่ม ESG เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจในภาวที่เศรษฐกิจและการเงินโลกในปัจจุบันที่มีความผันผวนค่อนข้างสูง

6. Climate Change Theme ยังเป็นกระแสหลักที่น่าสนใจในการลงทุน

เมื่อพิจารณาภาพรวมกองทุน ESG พบว่า ยังค่อนข้างกระจุกตัวในกลุ่มที่เป็นกองทุนรวมที่ลงทุนแบบครอบคลุมประเด็น ESG (General ESG Fund) คิดเป็น 85% ของกองทุน ESG โดยรวม มีเพียง 15% เท่านั้น ที่เป็นกองทุนที่เน้นประเด็นเฉพาะเจาะจงใน ESG (Thematic ESG Fund) ซึ่งเกือบครึ่งเป็นกลุ่มที่เน้นการจัดการด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Action)

เนื่องจากเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และจีน  (รองลงมาก็คือ ประเด็นด้านทุนมนุษย์) ส่วนหนึ่งมาจากเวทีระดับโลกอย่าง COP27 เป็นปัจจัยเร่ง จึงนำมาสู่การเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (Energy Transition) และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ผลักดันกลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และการจัดเก็บพลังงาน (Energy Storage) ให้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในระยะข้างหน้า สร้างโอกาสต่อการลงทุน จากความกังวลต่อเศรษฐกิจที่ถดถอย​ รวมถึงวิกฤตพลังงาน ทำให้เรื่องของพลังงานสะอาดถูกให้ความสำคัญมากขึ้น เช่นเดียวกับเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า ที่จะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะเป็นการขนส่งที่สะอาดมีส่วนช่วยให้บรรลุเป้าหมาย Zero Emission ได้

Stay Connected
Latest News