7 เรื่องด่วนที่ “โจ ไบเดน” ในฐานะปธน.คนใหม่ต้องรีบทำเพื่อจัดการกับปัญหาClimate Change

การประกาศชัยชนะของโจ ไบเดน ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2020 นับเป็นการสร้างความหวังของอเมริกันชนหลากหลายกลุ่มที่จะเห็นสหรัฐฯเดินหน้าไปในทางที่ดีขึ้น ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ให้ความสำคัญและเป็นนโยบายที่โดนใจกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่รักษ์โลกและมองว่าผลกระทบจากภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน


ดังนั้นจึงมีผี่ยวชาญออกมาให้คำแนะนำด้านสิ่งแวดล้อม 7 ข้อ เพื่อฝากเป็นการบ้านให้ โจ ไบเดน ต้องเริ่มดำเนินการทันทีที่ก้าวสู่ตำแหน่ง

1. กลับมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงปารีส (The Paris Agreement)
เมื่อไม่นานมานี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ถอนสหรัฐอเมริกาออกจากความตกลงปารีส (The Paris Agreement) ได้สำเร็จเพราะเขาไม่ค่อยให้ความสนใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเท่าใดนัก แต่หลังจากที่ไบเดนได้ส่งหนังสือไปยังองค์การสหประชาชาติว่าเขาอยากกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงปารีสและสหรัฐฯสามารถกลับมาได้ภายใน 30 วัน ด้าน Rachel Cleetus ผู้อำนวยการด้านนโยบายด้านอุณหภูมิและพลังงาน แห่ง the nonprofit Union of Concerned Scientists กล่าวว่า ฝ่ายบริหารใหม่ (ไบเดน) จำเป็นต้อง “เสนอสิ่งที่ดูมุ่งมั่นและน่าเชื่อถือเพื่อให้สหรัฐฯมีบทบาทในเวทีระดับนานาชาติ”

2. .ให้คำมั่นที่จะลดการปล่อยคาร์บอนให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2030
ไบเดนเคยกล่าวในช่วงหาเสียงว่าเขาอยากให้พลังงานไฟฟ้าปลอดคาร์บอนภายในปี 2035 และทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจของสหรัฐฯเป็นศูนย์ทางคาร์บอน นั่นหมายความว่าการปล่อยคาร์บอนจะสมดุลผ่านตัวดักจับคาร์บอน เช่น ต้นไม้ และอื่นๆ ภายในปี 2050 แต่การที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นได้จะต้องตั้งเป้าหมายชั่วคราวไว้ด้วยเพื่อให้การดำเนินการทั้งหมดเป็นไปตามแผน ด้าน Cleetus กล่าวว่า ตามคำแนะนำของวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ การปล่อยคาร์บอนต้องลดลงราว 45% ภายในปี 2030 เทียบกับระดับการปล่อยคาร์บอนในปี 2005 เพื่อให้เป็นไปตามแผนของความตกลงปารีส ทั้งนี้ สหรัฐฯจะต้องเดินหน้าให้เร็วขึ้นเพราะว่าสหรัฐฯมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการปล่อยคาร์บอนเยอะที่สุดตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และควรลดให้ได้อย่างน้อย 50%

3. ถอนคำยกเลิกของทรัมป์
ประธานาธิบดีทรัมป์พยายามที่จะทำให้ข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมกว่า 100 ฉบับ ถูกลดทอลง ซึ่งรวมถึงกฎระเบียบที่สำคัญในการจำกัดมลพิษจากรถยนต์และโรงไฟฟ้า ทั้งนี้ ไบเดนสามารถใช้คำสั่งพิเศษประธานาธิบดี (Executive orders) เพื่อนำข้อบังคับมาใช้และทำให้เกิดความแข็งแกร่งมากขึ้น โดย Sara Baldwin ผู้อำนวยการนโยบายด้านการพัฒนาไฟฟ้า กล่าวว่า “มีเรื่องใหญ่ที่จะต้องสะสาง กฎระเบียบและข้อบังคับมากมายที่ถูกยกเลิก กีดกัน หรือลดทอนลง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการคืนสถานะและเสริมสร้างความเข้มแข็ง”

4. ฟื้นฟูสู่การเป็นเป็นเศรษฐกิจสีเขียว
มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ครอบคลุมสามารถสร้างงานและสร้างเศรษฐกิจใหม่ ขณะเดียวกัน การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการลงทุนด้านต่างๆ ก็ควรดำเนินควบคู่กันไป เช่น การปรับปรุงโครงข่ายไฟฟ้าให้ทันสมัยและทำให้อาคารมีประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน โดย Cleetus กล่าวว่า “สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำคือการสร้างความมั่นใจว่าเราเชื่อมต่อความจำเป็นระยะสั้นกับความจำเป็นระยะยาวเพื่อสร้างเศรษฐกิจปลอดคาร์บอน และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสะอาดที่ให้เราได้ทำตามแผนแทนที่จะไปลงทุนเพิ่มด้านเชื้อเพลิงฟอสซิล” ทั้งนี้ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ควรจะเน้นไปยังชุมชนที่มีรายได้ต่ำที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษอย่างหนักในอดีตซึ่งจะช่วยส่งผลดีต่อสุขภาพในทันที

5. สร้างมาตรฐานไฟฟ้าสะอาด
หลายรัฐได้กำหนดมาตรฐานไฟฟ้าหมุนเวียนด้วยการจัดหาแหล่งพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นต้น ในแคลิฟอร์เนียกำหนดมาตรฐานเริ่มต้นที่อัตรา 20% ในปี 2017 และเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆโดยกำหนดว่าจะมีไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนใช้ 100% ในปี 2045 ด้านผู้เชี่ยวชาญมองว่ารัฐบาลกลางควรกำหนดมาตรฐานในลักษณะเดียวกันเพื่อช่วยให้การดำเนินการเกิดเร็วขึ้น ในส่วนของราคาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าสหรัฐฯจะสามารถใช้ไฟฟ้าทดแทนได้ในอัตรา 90% ได้ภายใน 15 ปี ทั้งนี้ นโยบายที่เน้นด้านพลังงานทดแทนจะช่วยเร่งการเปลี่ยนแปลงให้เกิดเร็วขึ้นผ่านการออกพระราชบัญญัติ แต่หากสภาคองเกรสไม่ดำเนินการ ทางฝ่ายบริหารเองก็ต้องออกข้อบังคับภายใต้พระราชบัญญัติว่าด้วยอากาศสะอาด (the Clean Air Act)

6. ผลิตรถยนต์ใหม่ที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2035
เมื่อเร็วๆนี้ แคลิฟอร์เนียได้ตัดสินใจแบนการขายรถยนต์ออกใหม่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานฟอสซิลภายในปี 2035 และรัฐบาลกลางเองก็ควรดำเนินการในลักษณะเดียวกัน เพราะภายใน 2-3 ปี ข้างหน้านี้ราคารถยนต์ไฟฟ้าจะจับต้องได้เหมือนๆกับรถยนต์พลังงานเชื้อเพลิง ทั้งนี้ สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (EPA) ได้กำหนดมาตรฐานการปล่อยคาร์บอนสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไว้แล้ว ซึ่งไบเดนสามารถสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรฐานที่เข้มงวดเพื่อให้รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์เท่านั้นที่จะวิ่งได้ สำหรับมาตรฐานของรถบรรทุกขนาดกลางและขนาดใหญ่จะสามารถบรรลุเป้าได้ภายในปี 2045

7. วางมาตรฐานสำหรับอาคารและอุตสาหกรรม
แม้ว่ากฎระเบียบด้านอาคารมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงเพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอน มาตรฐานประสิทธิภาพของเครื่องใช้ต่างๆก็ควรได้รับการอัพเกรดด้วยการกำหนดแผนการเพื่อหยุดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในอาคารสำนักงานของรัฐฯ และเพิ่มแผนงานที่จะช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดพลังงานและลดการปล่อยคาร์บอน นอกจากนี้ ทางรัฐบาลยังสามารถกำหนดมาตรฐานที่จำเป็นต่อภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เหล็ก ซีเมนต์ และ พลาสติก เพื่อจำกัด การปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อย่างไรก็ดี ทางผู้เชียวชาญมองว่ายังคงมีอีกหลายขั้นตอนที่ฝ่ายบริหารใหม่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนไม่ว่าจะได้รับการสนับสนุนจากสภาคองเกรสหรือไม่ และเชื่อว่าการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีโอกาสเป็นไปได้หลังจากที่ได้เห็นผลลัพท์ที่ได้จากแบบจำลองและการวิเคราะห์ แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่ก็คือ “ความมุ่งมั่นทางการเมือง” ที่ไม่รู้ว่าจะมีมากน้อยแค่ไหนนั่นเอง

Credit : www.fastcompany.com/90584774/the-7-things-biden-should-do-first-to-tackle-climate-change

Stay Connected
Latest News