“รวมพลังตามรอยพ่อ” ปี 6 สานต่อ 4 กิจกรรม ตาม “ศาสตร์พระราชา”

โครงการ “รวมพลังตามรอยพ่อ” เดินหน้ามาถึงปีที่ 6 ซึ่งทุกภาคส่วนยังร่วมใจขยายผลจัดการ ดิน-น้ำ-ป่า ตามศาสตร์พระราชา พร้อมเดินหน้าสร้าง 4 กิจกรรม “ต้นแบบ” เพื่อต่อยอดการแก้ปัญหาตามสภาพภูมิสังคมด้วยปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง”

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ยังคงขับเคลื่อนตามแนวคิด “แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี” ด้วยการส่งต่อแรงบันดาลใจผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวความสำเร็จของผู้นำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมตามสภาพภูมิสังคม พร้อมขยายผลสำเร็จของโครงการฯ จากลุ่มน้ำป่าสักสู่ลุ่มน้ำอื่นๆ ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศไทย สู่การแก้ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งอย่างยั่งยืน

 

ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งโครงการ

ในโอกาสนี้ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งโครงการได้กล่าวสรุปว่า “โครงการฯ นี้ ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน จนเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมของคนที่นำแนวทางศาสตร์พระราชาไปลงมือปฏิบัติ ส่งผลให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จนสามารถพึ่งพาตนเองได้ นั่นนับเป็นผลสำเร็จของโครงการฯ ส่วนแนวทางการขับเคลื่อนคือการสร้างและพัฒนาคนให้มีคุณภาพมีองค์ความรู้ เมื่อรวมตัวกันก็จะเป็น ‘เครือข่ายที่เข้มแข็ง’ นำไปสู่การสร้าง ‘ศูนย์เรียนรู้’ เพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่องค์ความรู้ศาสตร์พระราชาสู่การลงมือปฏิบัติ สร้างคนมีใจต่อไปไม่สิ้นสุด จนบรรลุผล หยุดท่วม-หยุดแล้งอย่างยั่งยืนตามเป้าหมาย ซึ่งโครงการฯ ในปัจจุบันได้ขยายผลออกไปถึง 25 ลุ่มน้ำกว่า 6,000 จุด”

ส่วน อาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวถึงเป้าหมายความร่วมมือว่า “ โครงการนี้ตอบโจทย์เป้าหมายของเชฟรอนคือการทำงานเพื่อสังคม ภายใต้พันธกิจ 4 E ขององค์กร คือ Education ตั้งศูนย์เรียนรู้ Economy การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน Environment รักษาสิ่งแวดล้อม และEnforced Engagement ให้พนักงานมีส่วนร่วมในรูปแบบอาสาสมัคร ส่วนเป้าหมายของปีนี้ต้องทำให้เกษตรกรที่เข้ามาอยู่ในโครงการสามารถพึ่งพาตนเอง แข็งแรงและมีชีวิตอยู่ย่างภาคภูมิใจตามศาสตร์พระราชา”

 

ตัวแทนจาก 4 พื้นที่มาให้ข้อมูล ที่ 2 จากซ้าย พิเชษฐ ธรรมโชติ จากฐานธรรมธุรกิจ , บอย พิษณุ นิ่มสกุล ตัวแทนจากสระบุรี,แววศิริ ฤทธิโยธี จากจันทบุรีและบัณฑิต ฉิมชาติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีน่าน

ด้าน  อ.ไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และตัวแทนสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง “ ปัจจุบันมีคนต้องการเข้ามาสู่โครงการนี้มาก การตอบสนองและขับเคลื่อนอย่างมีพลังจึงต้องอาศัยโซเชี่ยลมีเดีย โดยชวนภาคีเครือข่ายมาช่วยกันเรื่องนี้ให้อยู่ในแนวคิด‘แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี’ เพื่อพัฒนาให้เกิดศูนย์เรียนรู้ สร้างคน สร้างครู สร้างพื้นที่ต้นแบบ ยกระดับให้เป็น ศูนย์การเรียนเพื่อเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนที่ต้องการทำเรื่องนี้ ดังนั้นการเดินหน้าเข้าสู่ระยะที่ 3 เป็นการเชื่อมโยงทั้งระบบและกระจายไปทั่วประเทศ 25 ลุ่มน้ำ ซึ่งต้องสัมพันธ์กับระดับนโยบายของประเทศ “

 

ผู้นำทุกภาคส่วนร่วมปลูกต้นไม้ที่ฐานธรรมธุรกิจ พระราม 9

นอกจานี้ อ.ไตรภพยังกล่าวเสริมว่าปีนี้ได้ออกแบบพื้นชลประทาน 38 แปลง และได้ออกแบบสร้างตัวอย่างทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติเพื่อเป็นศูนย์การเรียนรู้ 4 พื้นที่ 4 กิจกรรม คือ

กรุงเทพฯ ตั้งเป็น “ฐานธรรมธุรกิจ พระราม 9” เพื่อสร้างศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชากลางเมืองหลวง , จันทบุรี เป็นพื้นที่ที่มีปัญหาในเรื่องการใช้สารเคมี และแห้งแล้ง ต้องไปช่วยให้จันทบุรีไม่ขาดแคลนน้ำ , สระบุรี จะให้เป็นตัวอย่างชุมชนต้นแบบที่สามารถพึ่งพาต้นเองได้ทั้งเรื่องน้ำและอาหารแบบครบวงจร เพื่อต้องการให้เป็นตัวอย่างว่าถ้าเกิดวิกฤติโลกขาดแคลนน้ำและอาหารใช้หลักการออกแบบที่สระบุรีจะสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และน่าน เป็นตัวอย่างของการฟืนฟูป่าที่ถูกรุกราน ใก้กลับมาสมบูรณ์และเปลี่ยนบทบาทผู้รุกรานให้กลับมาเป็นผู้พิทักษ์ป่า

 

บอย พิษณุ ดารานักแสดง เข้าโครงการทำเกษตรผสมผสานที่ หมู่บ้านสุขสมบูรณ์ จ.สระบุรี

บอย พิษณุ นิ่มสกุล นักแสดงที่เป็นคนหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการหมู่บ้านสุขสมบูรณ์ อ.หนองแซง จ.สระบุรี บนพื้นที่ 30 กว่าไร่ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มคนเมือง 13 ราย ที่ไปรวมตัวกันสร้างเป็นชุมชนขึ้น มีการออกแบบเป็นภาพรวมของชุมชนกสิกรรมวิถี เป็นตัวอย่างของการเกื้อกูลพึ่งพา และร่วมพัฒนาเกษตรตามศาสตร์พระราชาไปด้วยกัน พื้นที่แต่ละแปลงเน้นปลูกพืชเกษตรผสมผสาน ซึ่งบอยสลัดคราบนักแสดงมาจับจอบขุดดินปลูกต้นไม้ได้ ปีกว่าแล้ว

“ ที่นี่ทุกคนจะปลูกพืชผสมผสานเราจะขุดน้ำไว้ใช้ในแต่ละแปลงของตัวเอง ส่วนจะปลูกพืชอะไรก็ขึ้นอยู่กับเจ้าของ สำหรับผมอยากปลูกป่า ปลูกต้นไม้ใหญ่ เป็นความฝันว่าบั้นปลายชีวิตจะมาอยู่ที่นี่”

ทั้งนี้ โครงการฯ เริ่มกิจกรรมแรกที่ฐานธรรมธุรกิจ พระราม 9 กรุงเทพฯ เพื่อสร้างศูนย์เรียนรู้ศาสตร์พระราชากลางเมืองหลวง ก่อนเดินทางไปอีก 3 แห่งในพื้นที่โครงการตามพระราชดำริฯ ได้แก่ จ.สระบุรี ซึ่งอยู่ใน ลุ่มน้ำป่าสัก อันเป็นลุ่มที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงห่วงใย เพราะมีความลาดชันสูงทำให้จัดการได้ยากที่สุด และเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ ถัดมาที่ อ.ท่าใหม่ จ. จันทบุรี ด้วยแรงบันดาลใจจากพระราชกรณียกิจของสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ที่ทรงห่วงใยประชาชนในจันทบุรีจากภัยแล้งและขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภค

Stay Connected
Latest News