เป้าหมายอินทัชเพื่อเพิ่มและพัฒนาผลผลิตของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้มีประสิทธิผล สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง จะช่วยสร้างรายได้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้เติบโตอย่างมั่นคง และยั่งยืนนำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐด้านการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ Smart Agricultural Curve
“ข้าว” แม้จะเป็นสินค้าประเภทที่ใช้ทดแทนกันได้ก็ตาม และเป็นอาหารหลักของประเทศไทย ที่ภาครัฐผู้เกี่ยวข้อง พยายามปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้ดีขึ้นยิ่งขึ้น เพื่อการขาย และช่วยเรื่องสุขภาพผู้บริโภคให้แข็งแรงมากขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วความสำคัฐญของการ “ปลูกข้าว” คงไม่ได้มีเพียงเท่านี้ แต่มีสิ่งสำคัญที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือ การมีองค์ความรู้มากขึ้น การขยายเครือข่ายกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวนาโดยการจับมือกับทุกภาคส่วนให้มากขึ้น
บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ อินทัช ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว ที่จะมีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจที่ดีของชาวนาไทยให้ดีขึ้นในแต่ละพื้นที่ จึงจับมือกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนร่วมกันส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีและสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวนาไทย รวมถึงกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในโครงการปลูกข้าวเพื่อสุขภาพโดยอินทัช
“โครงการปลูกข้าวเพื่อสุขภาพโดยอินทัช เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2555 เป็นการให้ความรู้เพื่อพัฒนาคน เสริมจุดแข็งพัฒนาจุดอ่อน การใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ สร้างโอกาสและช่องทางการตลาดใหม่ๆ สร้างเสริมเครือข่ายการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มและพัฒนาผลผลิตของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้มีประสิทธิผลสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรง อันจะช่วยสร้างรายได้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนนำไปสู่การกินดี อยู่ดี มีเศรษฐกิจที่ดีขึ้น สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐด้านการพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศ Smart Agricultural Curve”
เอนก พนาอภิชน รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ขยายความต่อเนื่อง หลังทำงานร่วมกันมาจนเข้าสู่ปีที่ 7 ได้เกิดรูปธรรม 3 ด้านหลัก
-ด้านเศรษฐกิจ ช่วยลดต้นทุนการทำนา และยังสร้างรายได้เพิ่มจากการจำหน่ายข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการและปลอดสารเคมีในแบรนด์สินค้าของชุมชนซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน OTOP สามารถแปรรูปสินค้าเพื่อขายในราคาที่สูงขึ้น มีสินค้าเกษตรอื่นๆ มานำเสนอมากขึ้น บางพื้นที่ เช่น วิสาหกิจชุมชนหอมกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา นอกจากข้าวแบรนด์หอมกระเจาแล้ว ยังสร้างรายได้เพิ่มแก่กลุ่มจากการขายสินค้าเกษตรอื่นๆ อีกทำให้รายได้ของกลุ่มชาวนาเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
-ด้านสังคม ชาวนาสามารถรวมตัวเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีการบริหารจัดการกันเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีผู้มาศึกษาดูงาน เป็นตัวอย่างแรงบันดาลใจแก่พื้นที่อื่นได้เป็นอย่างดี
-ด้านสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมให้ปลูกข้าวปลอดสารเคมีช่วยคืนสมดุลย์แก่ระบบนิเวศในแปลงนาให้กลับมาอุดมสมบูรณ์จนได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP เป็นต้น
ทั้งนี้ รูปธรรมหลักทั้งสามที่เกิดขึ้นนั้น กรมการข้าวเองมีนโยบายสนับสนุนชาวนาในการผลิต และการทำตลาดข้าวครบวงจร พรรณี ทองเกตุ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าว กรมการข้าว ฝากข้อแนะนำชาวนาที่เข้าร่วมโครงการปลูกข้าวเพื่อสุขภาพโดยอินทัช ควรให้ความสำคัญกับเรื่องต่อไปนี้
-การขึ้นทะเบียนเกษตรกรเพื่อให้มีข้อมูลตนเองในระบบ
-วางแผนการปลูกข้าวที่มีอุปทานสมดุลกับอุปสงค์ มีตลาดรองรับและรัฐให้การสนับสนุน เช่น ปลูกข้าว กข.43 คือ ข้าวที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ เหมาะกับคนควบคุมน้ำหนักหรือเป็นเบาหวาน หรือปลูกข้าวคุณภาพตามมาตรฐาน GAP และอินทรีย์ เพื่อให้มีตลาดรองรับและได้ราคา
-หาข้อมูลความรู้และร่วมมือกับหน่วยงานรัฐในระดับจังหวัด เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนทั้งความรู้ด้านการปลูก การแปรรูป อุปกรณ์หรือนวัตกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์
-มีการบริหารจัดการกลุ่มที่เน้นการมีส่วนร่วมของกลุ่มสมาชิกจะทำให้กลุ่มสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้
โดยคำแนะนำดังกล่าวได้รวมอยู่ที่ ในงานอินทัช “สานความร่วมมือของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อความมั่งคั่งและยั่งยืน” หลังจากร่วมกันทำงานเข้าสู่ปีที่ 7 มีผู้ร่วมงานประกอบด้วยกลุ่มวิสาหกิจชุมชน 5 พื้นที่และ 1 ศูนย์การเรียนรู้มาร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานคือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกข้าวเพื่อสุขภาพบ้านดักคะนน จังหวัดชัยนาท กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกข้าวเพื่อสุขภาพแก่นฝาง จังหวัดขอนแก่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำนาบ้านป่าไหม้ จังหวัดนครศรีธรรมราช กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหอมกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี กลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนท่างามแสนสุข จังหวัดพิษณุโลก และกลุ่มเรือนจำชั่วคราวโคกตาบัน สังกัดเรือนจำกลาง จังหวัดสุรินทร์ โดยมีแนวทางและแผนการทำงาน ดังนี้
-จัดเวทีแลกเปลี่ยนและเติมความรู้
จัดบรรยายและกิจกรรม “ทิศทางแผนการขับเคลื่อนนโยบาย Smart Agricultural Curve” และ “การพัฒนาสินค้าเพื่อการแข่งขันและการสร้างช่องทางการตลาดสมัยใหม่”, Workshop การสร้างเครื่องมือทางการตลาดโดยใช้โซเชียลมีเดีย (Social Media) ช่วยทำตลาดออนไลน์โดยเฉพาะกลุ่มตลาดอีคอมเมิร์ซที่ช่วยกระจายผลผลิตไปสู่ผู้บริโภคได้รวดเร็วขึ้น รวมถึงการบริหารจัดการที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปปรับใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร จัดทำแผนธุรกิจ และเชื่อมโยงตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
-สนับสนุนการทำงานร่วมกันภายในเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล และติดต่อสื่อสารกันได้สะดวกรวดเร็ว โดยใช้จุดแข็งของแต่ละพื้นที่มาเสริมศักยภาพซึ่งกันละกัน
-สนับสนุนการจัดทำแผนการตลาดของแต่ละกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ ทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้สามารถวางแผนการผลิต การจำหน่ายได้อย่างเหมาะสม เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าจากการแปรรูปเพื่อตอบสนองตามความต้องการของผู้บริโภค การพัฒนาต่อยอดผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP 5 ดาว เป็นต้น
-สนับสนุนเข้าสู่การรับรองมาตรฐานอย่างเป็นระบบ ทั้ง GAP และ Organic Thailand เพื่อจัดการผลผลิตให้มีคุณภาพมากขึ้น สามารถนำเทคโนโลยีด้านการเกษตรมาใช้บริหารจัดการและลดต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
-สนับสนุนการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยเชื่อมกระบวนการทำงานตามภารกิจของหน่วยงานต่างๆ มาช่วยเสริมการทำงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน อาทิ การขนส่งสินค้า การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว การหาตลาดข้าวจากผู้บริโภคกลุ่มใหม่ๆ การจับคู่ทางการค้าให้ผู้ซื้อเข้าถึงกลุ่มชาวนาได้โดยตรงไม่ต้องผ่านคนกลาง เพื่อเพิ่มรายได้จากการขายมากขึ้น
-การติดตาม ให้คำปรึกษา และประเมินผลการทำงานของแต่ละกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทั้ง 6 พื้นที่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บรรลุตามแผนงานและผลสัมฤทธิ์ที่ตั้งไว้
“เมื่อก่อนเราขายสินค้าให้กับพ่อค้าโดยตรง ไม่ค่อยได้สัมผัสกับผู้บริโภค พอเราได้มาเรียนรู้เกี่ยวกับเว็บเพจ เราก็สามารถเปิดตัวสินค้ากับผู้บริโภคได้โดยตรง และสามารถพูดคุยกับลูกค้าที่มาซื้อสินค้าได้ สินค้าเราก็จะเป็นที่รู้จักมากขึ้นทำให้สามารถขายสินค้าได้หลากหลายไม่จำกัดแค่ผู้ซื้อรายเดียว” จรูญ ราชบรรจง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่างามแสนสุข จังหวัดพิษณุโลก เล่าถึงสิ่งที่เปลี่ยนไปหลังร่วมโครงการปลูกข้าวเพื่อสุขภาพโดยอินทัช
ศิรินธร สูตรสนธิ์ สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกข้าวเพื่อสุขภาพแก่นฝาง จังหวัดขอนเก่น เล่าถึงประโยชน์ที่ได้จากการเข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือ เรื่องของวิธีการขายข้าวแบบใหม่ๆ วิธีการจัดการกับข้อมูลของกลุ่มให้แน่นขึ้นและวิธีการเชื่อมเครือข่ายว่าทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไป ทุกอย่างเปลี่ยนไป วิธีการเปลี่ยนไปก็ได้วิธีการใหม่ ๆ ตรงนี้ เพื่อที่จะไปอัพเดทให้แก่นฝางมีเพจ มีไลน์ มีเฟซบุ๊คมากขึ้น
“ภูมิใจที่อินทัชได้มีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจที่ดีของชาวนาไทยให้ดีขึ้นในแต่ละพื้นที่ จนเกิดผลเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะด้านการตลาด การจัดงานสานความร่วมมือของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อความมั่งคั่งและยั่งยืนในวันนี้ จึงเป็นการต่อยอดขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งจากโครงการที่ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2555 โดยเราตั้งใจและมุ่งหวังให้เกิดความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนทั้ง 6 พื้นที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้พวกเขาได้แลกเปลี่ยนการทำงานและประสบการณ์ หนุนเสริมความร่วมมือระหว่างกัน สามารถวางเป้าหมายและแผนงานของตนเองได้อย่างเป็นรูปธรรมทั้งระยะสั้นและระยะยาว เป็นวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็งและมีความพร้อมในทุกด้าน สามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” เอนกกล่าวในท้ายที่สุด