ต้นกล้าเอ เหมือนฝัน คงช่วย เดินหน้ารักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น “มโนราห์” ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

มูลนิธิเอสซีจี ขับเคลื่อนการทำงานโดยมุ่งเน้นการพัฒนา “คน” มาอย่างต่อเนื่อง และจากการทำงานร่วมกันกับภาคประชาสังคมได้พบว่า ในพื้นที่สุราษฎร์ธานี มโนราห์เป็นประเด็นสำคัญที่จะสามารถเชื่อมคนเข้าด้วยกัน โดยการเคลื่อนไหวของกลุ่มเด็กและเยาวชน ในพื้นที่ เพื่อจะรักษา เรียนรู้รากเหง้าของตัวเอง

 

เหมือนฝัน คงช่วย ต้นกล้าชุมชนรุ่น 3 มูลนิธิเอสซีจี ยังคงเดินหน้าทำงานรักษาศิลปะวัฒนท้องถิ่นมโนราห์ พร้อมเชื่อมต่อให้ถึงเด็กๆ และเยาวชนในพื้นที่ ที่จะร่วมรักษาต่อไป

 

เลือกเส้นทางเอง ก้าวสู่งานชุมชนในวัยเรียน

“จุดเปลี่ยนชีวิต” ของแต่ละคนล้วนแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ด้วยเหตุผลและสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกัน ต้นกล้าเอ เหมือนฝัน คงช่วย จากเด็กเรียนเก่งแทบจะได้ที่ 1 ทุกครั้งตั้งแต่ป.1-ป.6 และเป็นคนจะไม่สุงสิงกับใครเพราะให้ความสำคัญการเรียน และการแข่งขันทางการเรียนมากกว่าเรื่องอื่นๆ แต่แล้ววันหนึ่งก็ตั้งคำถามกับตัวเอง

 

“เมื่อสอบเข้าเรียนม.1ที่โรงเรียนบ้านนาใหญ่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เอก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า เรียนทำไม ? แข่งกันไปเพื่ออะไร ซึ่งเป็นจังหวะที่เจอกลุ่มยุวชนสร้างสรรค์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี นำโดยครูอู๊ด นิวัตร โฮ้เต้กิ้ม ทำกิจกรรมในโรงเรียน เลยเกิดความคิดว่า ชีวิตไม่ได้มีอยู่ในเฉพาะโรงเรียน  แต่มีกิจกรรมข้างนอกที่เราไปเรียนรู้ได้ก็ไปกับครูอู๊ด   และเมื่อไปเจอบรรยากาศข้างนอกและได้ช่วยกิจกรรมกับกลุ่มยุวชนสร้างสรรค์ เอก็ได้ค้นพบสิ่งที่ตัวเองชอบ ทำแล้วมีความสุข แล้วเรายิ้มได้เมื่อเราทำงานชาวบ้านตั้งแต่ม.1”

 

ที่โรงเรียนบ้านนาใหญ่ จังหวัดสุราฎร์ธานี ในวันที่เออายุประมาณ 10-11ปี วิถีส่วนตัวก็เปลี่ยนไป ทุกอย่างเริ่มใหม่จากที่นี่ โดยเฉพาะเมื่อได้ทำงานแยกขยะตอนเรียนม.1 จากนั้นก็เริ่มเดินหน้าโครงการต่างๆ ด้วยตัวเองในฐานะ “สมาชิก” กลุ่มโดยมี “ภัสรา รู้พันธ์” หรือ “พี่เอี้ยง” เป็น “พี่เลี้ยง” ที่แนะนำกระบวนการทำงานวิจัยต่างๆ ว่าจะต้องประกอบด้วย การเรียงขั้นตอน การจดบันทึก การนำเสนอ จนกระทั่งขึ้นเป็น “แกนนำ” กลุ่มเพื่อนๆ เมื่อเรียน ม.2 เอได้ชักชวนเพื่อนๆ ชักชวนน้องๆ ชักคนอื่นๆ ทำกิจกรรมเพื่อสังคม จนกระทั่งเรียนจบม.3 การเรียนในระบบของเอเป็นอันยุติ !

 

“การยุติการเรียนในระบบเมื่อเรียนจบม.3 เป็นการตอบคำถามตัวเองว่า ชีวิตเราจะไม่เป็นแบบคนอื่น เราจะสร้างเส้นทางชีวิตของเราเอง ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ตาม เราต้องรับผิดชอบกับมันให้ได้ ซึ่งในเรื่องนี้แม่เคารพการตัดสินใจของเอ โดยจะเล่าทุกเรื่องในการทำกิจกรรมให้แม่ฟังตลอด เวลาเจอใคร มีปัญหาอะไร ดีใจ เสียใจอะไรก็ตามจะเล่าให้แม่ฟังทั้งหมด และให้แม่รู้จักกลุ่มที่เราทำงานว่าเป็นใคร และกำลังทำอะไรกัน ซึ่งรายได้มาจากค่าอาสาสมัคร จากเงิน 500 บาทที่เป็นค่ากิจกรรม ก็เป็นเงินเดือนเดือนละ 2,000 บาท เอก็เอาให้แม่ เพราะเวลาทำงานพี่เลี้ยงก็ช่วยดูแล”

 

การมีพื้นฐานทำงานอาสาสมัครอย่างต่อเนื่อง ช่วยทำให้เอมีประสบการณ์การทำงานชุมชน)

แม้ว่าจะออกมาทำงานอาสาสมัครเต็มตัว แต่เอก็ยังเลือกการเรียนในรูปแบบ การศึกษาทางเลือก ซึ่งเป็นการศึกษาบนฐานชุมชน ใช้ชุมชนเป็นหลักในการเรียน เรียนรู้วิชาสามัญ เรียนรู้การประกอบอาชีพ เรียนรู้การสื่อสาร โดยเอจะเป็นคนเลือกเรียนเองว่าจะเลือกเรียนอะไร จะทำอะไร เมื่อมีปัญหาก็จะไปหาพี่เลี้ยงทันที เพื่อจะได้รู้ว่า จะหาใครมาแนะนำได้หรือไม่ ถือเป็นการเรียนรู้ร่วมกันกับชุมชน จนกระทั่งมาถึงการเรียนรู้เรื่องมโนราห์ที่เวียงสระ รวมถึงคีรีรัฐและไทยดำ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เอได้เริ่มรู้จักมูลนิธิเอสซีจี และมีความใกล้ชิดมากขึ้นจาการพูดคุยกับพี่เอี้ยง รวมถึงเมื่อเพื่อนๆ ผู้นำชุมชนที่ทำงานด้วยกัน ได้รับเลือกเป็นต้นกล้าชุมชนรุ่น 1 เอจึงมีความตั้งใจที่จะสมัครเป็นต้นกล้าชุมชน

 

“เอสมัครโครงการต้นกล้าชุมชน รุ่นที่ 1 ของมูลนิธิเอสซีจี ยังไม่ได้รับเลือกแต่ก็ไม่ละความพยายาม จนกระทั่งมาถึงรุ่นที่ 3 ตอนสัมภาษณ์เรามั่นใจสิ่งที่ทำและเราเรียนรู้มโนราห์ ทำงานกับชุมชน ซึ่งดีใจมากที่ได้โอกาสผ่านเข้ามาในโครงการ”

 

มโนราห์ ร้อยวิถี วัฒนธรรมเดิมและใหม่อย่างมีคุณค่า

 

“การที่ได้รับเลือกเป็นต้นกล้าชุมชนของมูลนิธิเอสซีจี ช่วยในการสร้างคุณค่าวัฒนธรรมท้องถิ่นมโนราห์มาส่งต่อยังคนรุ่นใหม่ โดยมีการรักษาวัฒนธรรม เช่นเรื่องเครื่องแต่งกายที่มีรายละเอียดเสมือนงานศิลปะมากมายที่เอมองว่า จะนำไปใช้กับสินค้าเครื่องประดับให้คนซื้อนำไปใช้ได้จริง เป็นการสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับผู้เกี่ยวข้องกับการแสดงมโนราห์ เพราะปกติจะมีรายได้ในช่วงการแสดงเพียง 6 เดือน หลังจากไม่มีการแสดงก็จะไม่มีรายได้”

 

มโนราห์ คืองานเป้าหมายที่เอนำชุมชนในท้องถิ่นรักษาไว้

ศิลปะต่างๆ บนเครื่องแต่งกายของมโนราห์นั้น ได้เห็นในยุคหลัง เพราะยุคแรกๆ หากเป็นชายรำจะไม่ใส่เสื้อ จะมีเฉพาะหน้าผ้า หางหงส์ ส่วนลูกปัดต่างๆ ที่มาพร้อมลวดลาย มาเริ่มต้นในยุครัชกาลที่ 6 ที่ผู้หญิงเริ่มรำมากขึ้น อีกทั้งเสมือนการแข่งขันลวดลายว่าผ้าใครลายสวยกว่า ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นการประกวดของคณะมโนราห์ทั้งศาสตร์ และศิลป์ การร้องรำ ว่าบทกลอน เครื่องแต่งกาย ส่งผลให้แต่ละคณะพัฒนาเครื่องแต่งกาย เปลี่ยนสีสัน เปลี่ยนสไตล์

 

เอกลักษณ์งานศิลปะบนเครื่องแต่งกายมโนราห์ ถูกนำมาประยุกต์ ดีไซน์ให้ร่วมสมัย

 

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เอตั้งใจสืบสาน ต่อยอด สร้างคุณค่าให้คนยุคปัจจบันนำจุดเด่นต่างๆ ของวัฒนธรรมมโนราห์นำไปใช้ได้จริง ล้วนเป็นความท้าทายในการเป็นต้นกล้าชุมชนของเอมาก

 

“การที่มูลนิธิฯมีนโยบายให้เบี้ยเลี้ยงยังชีพกับต้นกล้า และสนับสนุนงบประมาณในการทำกิจกรรม ทำให้เอทำงานได้ง่ายขึ้น มีอิสะในการทำงาน ไม่ต้องพะวงในการหารายได้ เพื่อที่จะมาทำงานแบบก่อนหน้าที่จะมาเป็นต้นกล้าชุมชน ดังนั้นเมื่อเรามีทุนทางความคิด ความตั้งใจในการทำงานชุมชน มาบวกกับเงินทุนที่เป็นเบี้ยเลี้ยง และทุนกิจกรรม ทำให้เราทำอะไรได้เต็มที่ โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวก”

 

ศิลปะ วัฒนธรรมมโนราห์ เป็นแกนหลักเชื่อมเด็กๆ เยาวชน ในท้องถิ่น ในการรักษาไม่ให้สูญหาย

 

เอในวัย 25 ปี ย้ำว่า สิ่งที่ได้รับจากมูลนิธิเอสซีจี คือการช่วยตอบโจทย์ว่า ต้นกล้าชุมชน ทำงานกับชุมชนจริงๆ โดยได้เรียนรู้เรื่องของ “แบรนด์” รวมถึงการสร้างความแตกต่างผลิตภัณฑ์ดังเช่น Mr. Tadashi Uchida และทีมที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการขับเคลื่อนพัฒนา และยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน OVOP (One Village One Product) จากเมืองโออิตะ ประเทศญี่ปุ่นได้ให้แนวทางกับเอว่า จะต้องพยายามสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ เพราะกรณีศึกษาที่นำเรื่องวัฒนธรรมมาต่อยอดสร้างรายได้นั้น ตลาดทั่วไปมีเรื่องแบบนี้มาก เอต้องคิดให้ได้ว่าทำอย่างไร ? ที่จะให้นักท่องเที่ยวมาชุมชนเพื่อเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยงโยงกับวัฒนธรรมมโนราห์

 

ประสบการณ์จาก OVOP ประเทศญี่ปุ่น ถูกนำมาดีไซน์ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์คนในยุคปัจจุบัน

 

“การได้เป็นต้นกล้าชุมชนของมูลนิธิฯ ตั้งปีที่แล้ว เป็นสิ่งที่เอมั่นใจว่า เราเป็นผู้นำพัฒนาชุมชนได้ เพราะมีผู้สนับสนุนอยู่ มีชุมชนต้องดูแล เพราะถ้าหากไม่มีสิ่งเหล่านี้เออาจจะยุติบทบาทเรื่องนี้ เพราะเป็นช่วงที่เราก็เคว้งไม่มีใครปรึกษา เนื่องจากแม่ของเอเสียชีวิตไปเมื่อปีที่ได้เลือกให้เป็นต้นกล้าชุมชน”

 

เอกล่าวเสริมว่า จากประสบการณ์ส่วนตัว การจะเป็นต้นกล้าชุมชน ควรจะจะต้องมีองค์ประกอบคือ

1.มีความตั้งใจจริงต่อความต้องการในการทำงานกับชุมชนนั้นๆ
2.มีทักษะการทำงานชุมชน และการเข้ากับคน
3.มีการเรียนรู้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุด
4.มีการเชื่อมโยงตัวเอง ระหว่างยุคสมัยใหม่กับความเป็นชุมชนเก่า
5.มีการกำหนดเป้าหมายงานสายพัฒนาชุมชนชัดเจน

 

“คงไม่ไปทำอาชีพอื่น ไปทำงานยิ่งไม่ได้ เพราะรู้ว่าเส้นทางสายนักพัฒนาคืออาชีพของเอ ยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เอต้องไปหาคำตอบ และคำถามอีกมากมาย ซึ่งศักยภาพเราแค่นี้ไม่พอ ต้องเพิ่มและพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอเพื่อนำสิ่งที่เรียนรู้ไปพัฒนาคนอื่น ขณะเดียวกันตัวเองก็เปลี่ยนแปลง เอเชื่อว่า เมื่อคนอื่นเห็นเราเปลี่ยนแปลง เขาก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน” เหมือนฝัน คงช่วย หรือ เอ กล่าวทิ้งท้าย

Stay Connected
Latest News