เปิดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านสิ่งแวดล้อม เน้นความสมดุลย์ที่ยั่งยืน

นับถอยหลังสู่ปี 2580 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า เมืองไทยต้องมีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน วันนี้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเริ่มสร้างควารมตระหนักรู้ทำให้ทุกคนในชาติเห็นความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีพร้อมๆ ไปกับสิ่งแวดล้อมที่ดีเช่นกัน

 

วันสิ่งแวดล้อมไทย 4 ธันวาคมที่ผ่านมีการเสวนาภายใต้หัวข้อ “ยุทธศาสตร์ชาติ สิ่งแวดล้อมไทย เรื่องของคนไทยทุกคน” โดยผู้ร่วมเสวนาที่น่าสนใจได้แก่ อภิจิน โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, ดร.อัษฎาพร ไกรพานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านที่ 5 และ ลดาวัลย์ คำภา อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านที่ 5

 

โดย ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านที่ 5 กล่าวว่า สาระสำคัญของแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสิ่งแวดล้อมที่ไทยเร่งดำเนินการคือ การสร้างการเติบโต สมดุลและยั่งยืนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายปี 2580 ที่ไทยจะต้องมีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมดีที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ด้วยประเทศไทยต้องเปลี่ยนวิธีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมให้เกิดความสมดุลที่ยั่งยืน

 

 

ในขณะที่ อภิจิน โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย 4.0 ว่า แนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทยที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น จะดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ “มุ่งสู่อุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาและ เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลก” ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพทางการแข่งขันในระดับนานาชาติ เพื่อนำรายได้เข้าสู่ประเทศ เพิ่มการสร้างงาน รวมถึงเป็นการพัฒนาสังคมของประเทศไทยให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งปัจจัยหลักที่สำคัญคือการเติบโตดังกล่าวต้องดำเนินควบคู่ไปกับสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ ถือเป็นฐานรากหลักที่จะขับเคลื่อนแนวทางดังกล่าวให้บรรลุยังเป้าหมาย

ทั้งนี้ จากเดิมประเทศไทยพัฒนาประเทศให้เกิดการเติบโตและก้าวหน้าโดยมีเป้าหมายคือความต้องการให้คนในชาติหลุดพ้นจากรายได้ปานกลาง ก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ลืมใส่ใจและพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นเราต้องร่วมด้วยช่วยกันและทำให้ทุกคนในชาติเห็นความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม เราควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีพร้อมๆ ไปกับสิ่งแวดล้อมที่ดีเช่นกัน

 

ปิดท้ายที่ ดร.เจนยุกต์ โล่ห์วัชรินทร์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพูดในหัวข้อ หัวข้อ “ทิศทางวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมกับอนาคตสิ่งแวดล้อมไทย” กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการสร้างพฤติกรรมเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ต้องเปลี่ยนจากการสร้าง Mind Set ที่ต้องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พร้อมๆ ไปกับการสร้างเทคโนโลยีที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการลดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด หรือการสร้างนวัตกรรมที่ช่วยให้นำทรัพยากรเหล่านั้นกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง

 

นอกจากนี้ภายในงาน ได้มีการเปิดตัวบอร์ดเกม “The Ozonor” ที่เป็นสื่อการเรียนการสอนรูปแบบใหม่เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใจเรื่องโอโซนและเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ โดยจะมอบให้โรงเรียนที่สนใจนำไปเป็นสื่อการสอนนำร่องใน 150 โรงเรียนแรก

 

“เรามองว่าเป็นการสร้าง Prototype ในการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมแบบใหม่ที่เรียกว่า Disruptive Environmental Education เพราะที่ผ่านมาเป็นการเรียนหน้าห้องเสียเป็นส่วนใหญ่แต่ชุดกิจกรรมนี้ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทยก็ว่าได้ ทั้งเรื่อง Design Thinking Hackathon และยังมีการสร้างบอร์ดเกมเรื่องสิ่งแวดล้อมซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกในเอชีย เราเชื่อว่าผลตอบรับในกิจกรรมที่ผ่านมาจากการเข้าร่วมกว่า 3,000 คน ใน 4 กิจกรรม จะทำให้โครงการดีๆ แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องต่อไป” รศ.ดร.พิสุทธิ์ กล่าว

Stay Connected
Latest News