เตือนแฟชั่นนิสต้าให้ตาสว่าง อย่าวิ่งตาม Fast Fashion ระวังสะดุดขยะเสื้อผ้ากองโต

เร็วแรงยิ่งกว่าวิ่ง 100 เมตร ก็คือ Fast Fashion หรือ “แฟชั่นด่วนจี๋” นั่นแหละ ทั้งรันเวย์ก็หมุนเวียนเปลี่ยนฤดูกาลไม่หยุดหย่อน ส่วนแฟชั่นนิสต้าก็เปลี่ยนเสื้อผ้าวิ่งตามแฟชั่นอย่างกระชั้นชิด สิ่งที่ตามมาคือ “เสื้อผ้า” ที่ทิ้งเป็น “ขยะ”กองโต แถมกระบวนการผลิตเสื้อผ้า 1 ตัวทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างแรง

 

 

เพราะแฟชั่นในปัจจุบันหมุนเร็วมากขึ้น เหล่าแฟชั่นนิสต้าระดับกลางจึงต้องหาซื้อเสื้อผ้าในราคาย่อมเยา ประเภท ซื้อใส่ครั้งเดียวทิ้งแบบไม่เสียดาย สนุกไปกับการแต่งตัวที่เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ กลายเป็นแฟชั่นรวดเร็ว หรือแฟชั่นแบบจี๋ (Fast Fashion) ทุกวันนี้แฟชั่นเปลี่ยนจาก 4 ฤดูกาลมาเป็น 6-8 ฤดูกาลแล้ว

ปัญหาที่ตามมาคือการผลิตเสื้อ 1 ตัวส่งผลกระทบต่อสังคมและโลกใบนี้อย่างคาดไม่ถึง ในอุตสาหกรรมสิ่งทอเริ่มจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ตั้งแต่กระบวนปลูก ฟอก ย้อมเส้นใยไปโรงงานผลิต ตัดเย็บ ตลาด ขนส่ง จัดจำหน่ายจนถึงมือผู้บริโภคนั้น เกิดการสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติและเผาผลาญพลังงานมหาศาล มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และสร้างมลพิษอย่างต่อเนื่อง เมื่อคนซื้อเสื้อผ้าบ่อยขึ้นก็ขนส่งกันถี่ขึ้น นำมาสู่ทำลายโลกและสิ่งแวดล้อมไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว

 

 

นอกจากนี้การขยันซื้อข้าวของใหม่ตลอดเวลาทำให้เสื้อผ้าเก่ากลายเป็นขยะ ที่สำคัญยังกลายเป็นขยะพิษที่มาจากสารย้อม สารฟอกขาว และสารเคมีอื่น ๆ แถมยังย่อยสลายได้ยาก สามารถปนเปื้อนในน้ำ ดิน อากาศ กลับมาทำร้ายผู้บริโภคอีกโดยไม่รู้ตัว อีกทั้งการแข่งขันอย่างดุเดือดของ Fast Fashion ทำให้เกิดการเอารัดเอาเปรียบนำมาสู่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) กล่าวถึงปรากฏการณ์ Fast Fashion ที่มีผลตามมาว่า

“ Fast Fashionจึงอาจดูเหมือนเป็นสินค้าที่สวยเก๋ ทันสมัย และราคาถูก แต่ข้อด้อยคือ เมื่อราคานั้นถูกลงก็ส่งผลให้คุณภาพของสินค้านั้นต่ำลงด้วย และส่งผลให้ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าใหม่มาหมุนเวียนบ่อยขึ้น เพิ่มอัตราการจับจ่ายและปริมาณขยะมากขึ้นไปด้วย และเมื่อกดราคาสินค้าให้ต่ำ จึงต้องลดต้นทุนการผลิต อาจเกิดปัญหากดค่าแรงหรือใช้แรงงานเด็กประกอบกับในกระบวนการผลิตมีการใช้สารเคมีในปริมาณที่สูงส่งผลกระทบโดยตรงกับระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมการปนเปื้อนสารตะกั่วอาจเกิดขึ้นได้ตลอดกระบวนการผลิต ตั้งแต่การใช้สารฆ่าแมลงและปราบศัตรูพืชในแปลงปลูก ไปจนถึงการผสมสารทนไฟในช่วงผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป”

 

อัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)

อีกทั้งเสื้อผ้าทุกวันนี้ส่วนใหญ่มีส่วนผสมของเส้นใยสังเคราะห์จากปิโตรเลียม ซึ่งต้องใช้เวลาหลายสิบปีในการย่อยสลาย และFast Fashion ยังส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคกระตุ้นให้ซื้อเสื้อผ้าใหม่บ่อยขึ้น มากขึ้น แต่กลับมีการใช้งานที่น้อยลง

“ หากผู้บริโภคเลิกวิ่งตาม Fast Fashion หันกลับไปหาแฟชั่นในแบบที่เราอยากแต่งและใช้งานได้จริง ๆและอยู่ไปกับเราได้นานๆเป็นเสื้อผ้าชิ้นโปรดที่เราหยิบมาใส่ได้สม่ำเสมอ และยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยโลกให้กลับมาสดใสอีกครั้ง” อัมพรวัน กลวสรุป

Stay Connected
Latest News