King of Tomato มะเขือเทศสร้าง “รอยยิ้ม” ให้เกษตรกรที่ชุมชนเต่างอย

“ขาดทุน” ของเราคือ “กำไร” ของประชาชน นั่นคือแนวการทำธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานนโยบายแก่ดอยคำ เพื่อจุดมุ่งหมายคือแก้ปัญหาชุมชนอย่างยั่งยืนและเพื่อให้ได้ประโยชน์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ “เส้นทางสายมะเขือเทศ”ณ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓ (เต่างอย) คือบทพิสูจน์ของการเป็น “King of Tomato” มะเขือเทศที่สร้างรอยยิ้มให้กับเกษตรกรภาคอีสาน

 

 

แม้ว่า “ดอยคำ” จะเป็นก่อตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคลเมื่อปี 2537 แต่กลับมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนคือ ดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business) ตามพระราชประสงค์ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ให้เป็นองค์กรที่มุ่งส่งเสริมด้านเกษตรกรรม เพื่อสืบสานความอยู่ดี กินดี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนของชุมชน ตามพันธกิจของบริษัทที่ว่า “เกษตรเพื่อชุมชน ผลิตผลเพื่อคนไทย”

ล่าสุด ดอยคำ จัดการเดินตามรอยเรียนรู้ “เส้นทางสายมะเขือเทศ” (Tomato Belt) ที่มาสู่การเป็น “King of Tomato” ที่สุดของผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปคุณภาพสูงจากมะเขือเทศดอยคำ ผ่านกิจกรรม “อยู่ดีมีแฮงละเบ๋อ มะเขือเทศจากความฮัก จากใจดอยคำ” ณ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓ (เต่างอย) จ.สกลนคร โรงงานหลวงฯ แปรรูปมะเขือเทศแห่งแรกในภาคอีสาน

พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ย้อนถึง “เส้นทางสายมะเขือเทศ” (Tomato Belt) สู่การเป็น “King of Tomato” ว่ามีจุดเริ่มต้นมาจากความมุ่งมั่นสานต่อแนวพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ทรงต้องการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกร โดยเฉพาะการรับซื้อผลผลิตมะเขือเทศจากเกษตรกร เพื่อนำมาทำน้ำมะเขือเทศดอยคำ ซึ่งมีจุดกำเนิดมาจากโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓ (เต่างอย) อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร

 

**มะเขือเทศต้นแรก**

เมื่อปี 2523 ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จมาเยี่ยมราษฎรที่อ.เต่างอย พบว่าชาวบ้านที่นี่ยากจนมากจนไม่มีใครอยากมาอาศัยอยู่แถบนี้ จึงพระราชทานแนวพระราชดำริให้พัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎร โดยส่งเสริมให้เกษตรกรเพราะปลูกมะเขือเทศ เป็น”พืชหลังนา” ตามความเหมาะสมของสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ เพื่อให้เกษตรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้อย่างยั่งยืน

ต่อมาปี 2525 มีการสร้างโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) จ.สกลนคร ซึ่งถือเป็นโรงงานหลวงแห่งแรกในลุ่มแม่น้ำโขง โดยเริ่มดำเนินการซื้อมะเขือเทศจากเกษตรกรในราคารับประกัน เพื่อนำมาแปรรูปเป็นน้ำมะเขือเทศเข้มข้นเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดแรกของโรงงาน

จากมะเขือต้นแรกที่พระราชทานแนวคิด มาสู่การพัฒนาอาชีพ ปัจจุบันภาคอีสานตอนบนเป็นแหล่งเพราะปลูกมะเขือเทศที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ เกษตรกรมีอาชีพที่มั่นคงยั่งยืน โดยนำเอาแนวคิดมาจากการพัฒนาในพื้นที่ภาคเหนือ คือ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) กับโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๒ (แม่จัน) มาเป็นต้นแบบเป็นต้นแบบ
เพื่อช่วยเหลือด้านการรับซื้อผลผลิตจากพืชที่ส่งเสริมในราคาเป็นธรรม โดยนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในเครื่องหมายการค้า “ดอยคำ” เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนการจัดหาช่องทางกระจายสินค้าสู่ตลาด รวมถึงจัดให้มีการค้นคว้า วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารตามแนวพระราชดำริ “อุตสาหกรรมเกษตรเพื่อการพัฒนาชนบท” กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ “เส้นทางสายมะเขือเทศ”

 

ไพวัน โคตรทุม เกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศ

**รอยยิ้มของเกษตรกร**

จากยุคแรกเริ่มที่ยังไม่มี “ดอยคำ” เข้ามาให้ความรู้แนะนำส่งเสริม เกษตรกรยังใช้วิธีปลูกมะเขือเทศแบบไม่ขึ้นค้าง ทำให้ผลิตผลได้ไม่มากในการปลูกต่อไร่ และเกิดการเสียหายจากการเน่าเสีย จากธรรมชาติ เพราะผลตกกระทบสู่ดิน ทำให้ช้ำ และเสียหายได้ง่าย

จนเมื่อ “ดอยคำ” ได้เข้ามาให้ความรู้และส่งเสริมเกษตรกร ให้มีการปรับการปลูก เพื่อให้ได้ผลิตผลมากขึ้น ในจำนวนพื้นที่ ไร่ เท่าเดิม “โดยการขึ้นค้าง” จากเดิมที่พื้นที่เพาะปลูก 1 ไร่ มีผลผลิต 5 ตัน พอใช้การขึ้นค้าง ทำให้ในพื้นที่เพาะปลูกที่ 1 ไร่เท่าเดิม มีผลผลิต 15 ตัน

นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้มีการใช้วิธีต่อยอดมะเขือเทศ เพื่อให้ได้ต้นกล้าที่แข็งแรง ทนต่อโรค ปริมาณผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ไม่ขึ้นค้าง ต้นทุนต่อไร่อยู่ที่ 4,000 – 5,000 บาท ได้ผลผลิต 4-5 ตันต่อไร่ เมื่อมาปลูกแบบขึ้นค้าง ต้นทุนต่อไร่อยู่ที่ 7,500 บาท แต่ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 8-20 ตันต่อไร่

ไพวัน โคตรทุม เกษตรกรผู้ปลูกมะเขือเทศมากว่า 30 ปี กล่าวว่า หลังเสร็จจากการทำนา จะมาปลูกมะเขือเทศปีละครั้ง โดยจะเริ่มปลูกประมาณช่วงเดือนต.ค.-ธ.ค. และจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตในเดือนม.ค.-มี.ค.โดยจะเลือกใช้มะเขือเทศพันธุ์เพอร์เฟคโกลด์ 111 เนื่องจากเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตมะเขือเทศสีแดงสวย ทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ที่สำคัญรสชาติหวานอร่อย

“ผมปลูกมะเขือเทศมาตั้งแต่วัยรุ่น จนตอนนี้จะ 50 ปีแล้ว” ไพวัน บอกเล่าอย่างเป็นกันเอง “ผมเริ่มหันมาปลูกมะเขือเทศจากการชักชวนของเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน ทุกวันนี้ผมแบ่งที่นาที่มี 16 ไร่ แบ่งออกมา 1 ไร่เพื่อปลูกมะเขือเทศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากดอยคำในการให้คำแนะนำในการเพาะปลูก และช่วยรับซื้อผลผลิต ซึ่งราคาในแต่ละปีไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด และผลผลิตที่ได้ในแต่ละปี ตั้งแต่เริ่มปลูกมามะเขือเทศก็ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ความเป็นอยู่ดีขึ้น เพราะเสร็จจากหน้านาก็ยังมีอาชีพ

 

ทุกเช้าเกษตรกรจะนำผลผลิตมะเขือจากไร่ ใส่รถบรรทุกเพื่อนำมาส่งที่โรงงานหลวงฯ

 

**โรงงานหลวง 3 ข้อต่อ”กลางน้ำ”**

ทุก ๆ เช้า ณ ลานหน้าโรงงาน จะมีเกษตรกรปลูกมะเขือเทศจำนวนมากขับรถกระบะเพื่อขนผลผลิตมะเขือเทศสีแดงสดจากไร่มาส่งให้กับโรงงาน

โรงงานหลวงฯ ที่ 3 จึงทำหน้าที่เป็นข้อต่อในส่วน “กลางน้ำ” รับซื้อผลผลิตส่วนใหญ่จากเกษตรกรในพื้นที่กิ่งอำเภอเต่างอย กิ่งอำเภอโคกศรีสุพรรณ อำเภอกุดบาก และอำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร และได้ขยายตลาดการรับซื้อไปถึงจังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดหนองคาย

นับตั้งแต่เริ่มต้น โรงงานหลวงฯ แห่งนี้ได้รับซื้อผลิตผลจากเกษตรกรทั้งหมดเฉลี่ยอยู่ที่ 10,000 – 15,000 ต้นต่อปี คิดเป็นมูลค่าเงินคืนให้แก่เกษตรกร กว่า 100 ล้านบาทต่อปี พร้อมกับช่วยสร้างอาชีพและก่อเกิดรายได้ให้แก่เกษตรกรทั้งหมด 1,012ครัวเรือน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ประชาชนไม่ทิ้งถิ่นฐานไปทำงานในเมือง ผลที่ตามมาคือสถาบันครอบครัวเข้มแข็งอบอุ่น

เหล่านี้นำมาสู่”กำไร”ของประชาชนที่เกิดความมั่นคงอย่างนั่งยืน ตามหลักการทำธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business) ดังพระราชประสงค์ของในหลวง รัชกาลที่ 9

 

2 ยุวชนเกษตร อารยา วิดีสา และจักรพงศ์ กงแก่นทา ยุวเกษตร ที่ทำหน้าที่สืบสานองค์ความรู้ด้านการเกษตรให้กับรุ่นต่อไป

 

**ก้าวต่อไปของดอยคำในเส้นทางมะเขือเทศ**

อีกหนึ่งวิสัยทัศน์สำคัญที่ดอยคำตั้งเป้าส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาว คือ ส่งเสริมให้เกษตรกรดำเนินการเพาะปลูกตามแนวทางเกษตรประณีต ซึ่งเป็นการทำเกษตรกรรมที่ก่อให้เกิดผลผลิตสูงสุดบนพื้นที่ที่น้อยสุด

“เรามุ่งหวังกระตุ้นให้เหล่าเกษตรกรคืนพื้นที่ที่เหลือจากการเพาะปลูกกลับคืนสู่ธรรมชาติ แนวทางนี้ไม่เพียงเป็นการสร้างรายได้ให้เกิดความกินดีอยู่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อเกษตรกรในระยะสั้นและยาวเท่านั้น แต่ยังเป็นการคืนพื้นป่ากลับสู่ธรรมชาติ เพื่อเป็นแหล่งต้นน้ำและรักษาสมดุลธรรมชาติต่อไป”

นอกจากนี้ ดอยคำยังสานต่อโครงการยุวเกษตร เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและเด็กนักเรียนโดยรอบโรงงานหลวงฯ ที่มีความสนใจด้านเกษตรกรรมได้เรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้การปลูกมะเขือเทศของดอยคำไปยังคนในชุมชน นำไปสู่การเป็นต้นแบบให้กับเหล่าเยาวชนในพื้นที่บ้านเกิดต่อไปได้อย่างเป็นรูปธรรม

จักรพงศ์ กงแก่นทา ประธานกลุ่มยุวเกษตรกร โรงเรียนเต่างอยพัฒนศึกษา ในฐานะตัวแทนกลุ่มยุวเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศปี 2560 เผยว่า ถึงจะเป็นลูกหลานเกษตรกร แต่เขาไม่เคยมีความคิดว่าจะทำอาชีพเกษตรกรเลย เพราะเห็นพ่อกับแม่และหลายๆ คนที่ทำเกษตรมีความเป็นอยู่ที่ยากจน ลำบาก จนกระทั่งได้มาเข้าร่วมกลุ่มยุวเกษตรกรทำให้ความคิดเปลี่ยนไปและหมายมั่นว่าวันหนึ่งจะกลับมาเป็นเกษตรกร โดยนำความรู้ที่มีมาพัฒนาต่อยอดเพื่อพัฒนาชุมชน

ขณะที่ อารยา วิดีสา นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จ.สกลนคร อีกหนึ่งตัวแทนจากกลุ่มยุวเกษตร กล่าวว่า นอกจากจะภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเผยแพร่ความรู้ไปยังกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่แล้ว ด้วยความที่เติบโตมาในครอบครัวเกษตรกร ที่บ้าน หลังเสร็จหน้านาก็ปลูกมะเขือเทศ ทำให้เธอมีความมุ่งมั่นอันแรงกล้าที่จะนำความรู้ที่มีมาต่อยอดการทำเกษตร

 

ยุภาภรณ์ เจริญสุข ผู้จัดการโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๓ (เต่างอย) และชาญณรงค์ พรดิลกรัตน์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร

“แม่หนูก็เคยเล่าให้ฟังว่า ถ้าไม่มีพระองค์ท่าน หมู่บ้านเราวันนี้ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ทุกวันนี้หลังเสร็จจากหน้านา ก็จะปลูกมะเขือเทศปีละครั้ง หนูรู้สึกภูมิใจทุกครั้งที่ได้ปลูก และ กินผลมะเขือเทศที่ปลูกเอง หนูตั้งใจว่า เรียนจบจะกลับมาเป็นเกษตรกร นำความรู้ที่มีมาต่อยอดเพิ่มผลผลิต”

Stay Connected
Latest News