เพาะพันธุ์ปัญญา : ปฏิรูปการศึกษาไทย เน้นวิเคราะห์ไม่ต้องท่องจำ ปั้น “กล้าพันธุ์” ผู้พิทักษ์ผืนป่าและชุมชน

บรรยายกาศภายในห้องประชุมขนาดใหญ่ของโรงแรมน่านตรึงใจ อบอุ่นไปด้วยชาวเพาะพันธุ์ปัญญากว่า 200 คน ที่มาร่วมงานพิธีขอบคุณผู้สนับสนุนโครงการฯ ถือเป็นวันที่ทุกคนปลื้มปีติกับผลงานที่ภาคเพียรทุ่มเทแรงกายแรงใจกันมาตลอด 7 ปี เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือสร้างการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ศตวรรษที่ 21 อย่างยั่งยืน

 

 

7 ปี เพาะพันธุ์ “กล้า”

ในวันแห่งการประกาศจบภารกิจเพาะพันธุ์ปัญญาอย่างเสร็จสมบูรณ์ รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ หัวหน้าหน่วยจัดการโครงการฯ ได้กล่าวสรุปถึงผลงานที่ทำไว้ 7 ปี ว่า

“ สังคมรับรู้และถามถึงโครงการเพาะพันธุ์ปัญญามากเมื่อการทำงานของเราเข้าสู่ปีที่ 2 และนี่คือผลงานบางส่วนของโครงการฯ จากการยอมรับของสังคม อาทิ    ได้รับรางวัลโครงการวิจัยเด่นจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย       ( สกว.) ประจำปี 2557 , คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษารับให้เป็นหลักสูตรรายวิชาเพิ่มเติม “โครงงานฐานวิจัยจากการใช้ชีวิตจริง” เป็นวิชาในการปฏิรูปการศึกษา ,เป็นหลักสูตรในการผลิตครูที่มหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่งนำไปใช้ ,ขณะนี้โครงการฯได้ขยายผลสู่โรงเรียน อบจ.ศรีสะเกษ โดยมีเป้าหมายให้ครบ 39 โรง ,คะแนนโอเน็ตของนักเรียนในโครงการฯเพิ่มขึ้น ซึ่งเราเน้นเรื่องการไปเปลี่ยนวิธีคิดของเด็ก นอกจากนี้นักเรียนหลายคนยังได้รับโควตาเข้ามหาวิทยาลัย ถือเป็นปรากฏการณ์ประหลาดมากในสายตาครูและผู้ปกครอง ฯลฯ.”

โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเริ่มต้นขึ้นระหว่างปี 2555-2560 และได้รับการสนับสนุนให้ทำงานต่อเนื่องอีก 2 ปีเพื่อพัฒนาการฐานรากให้ยั่งยืน และจะจบลงอย่างสมบูรณ์ในเดือนพฤษภาคม 2562 โดยภารกิจหลักที่ได้รับมอบหมายคือการปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอนของเยาวชนไทย ภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ( สกว.) และธนาคารกสิกรไทย

 

สร้างองค์ความรู้สู่การเรียนศตวรรษที่ 21

“ โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเป็นปฏิบัติการซับซ้อนทางปรัชญา เราเองทำงานไปก็ต้องค้นคว้าไปด้วย ถือเป็นโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ที่มีครูเป็นผู้ร่วมปฏิบัติการ และเราพยายามสร้างองค์ความรู้ของเราเอง” รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของกระบวนการทำงานในโครงการฯ

นั่นคือจุดเริ่มต้นของโครงการเมื่อ 7 ปีก่อน ด้วยการมองปัญหาการศึกษาไทยที่เน้นเรื่องการท่องจำเป็นหลัก ขาดทักษะกระบวนการคิดและวิเคราะห์บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เข้าใจความเป็นเหตุเป็นผลของปรากฏการณ์ เมื่อจบการศึกษาออกไปเด็กจึงขาดทักษะในการทำงาน การแก้ปัญหาไม่เป็นเพราะต้องรอแต่คำสั่ง

 

 

“ การเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ การศึกษาจะต้องหล่อหลอมให้เด็กทำงานให้เป็น เพราะในอนาคตคนที่เป็นแรงงาน 1 คนจะต้องเลี้ยงดูเด็กและคนแก่เพิ่มขึ้น ดังนั้นเด็กต้องมีทักษะในการทำงานร่วมกันในหมู่คน ส่วนความรู้เด็กสามารถหาได้เอง ในอนาคตสถานศึกษาสามารถให้ความรู้เด็กได้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นั่นคือผลการเรียนรู้ของเด็กในโลกยุคใหม่ ดังนั้นครูจะต้องเปลี่ยนให้เด็กทำงานแทนการจดจำเรียนรู้ เด็กจะได้ทั้งภาวะจิตใจที่ดีขึ้น”

 

“ครู-พี่เลี้ยง” คือพลังขับเคลื่อน

กระบวนการทำงานของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาสู่เป้าหมายความพยายามเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนทั้งครูและเด็ก จึงต้องใช้ทั้ง “ครู” และ “พี่เลี้ยง” เป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อเปลี่ยนวิธีการการสอนแบบเดิมๆ คือท่องจำ มาให้นักเรียนได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริงจากโครงงาน กระบวนการเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาด้านข้างในหรือจิตวิญญาณ และการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุและผล มีทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ เพื่อเป้าหมายสู่การศึกษาในศตวรรษที่ 21

ดังนั้นจุดเริ่มต้นในการทำงานของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาคือการสร้าง และพัฒนา “ครู” ซึ่งเป็นผู้ที่สอนใกล้ชิดนักเรียนและ“พี่เลี้ยง” ซึ่งได้มาจาก 8 มหาวิทยาลัยในพื้นที่ โดยมีหน้าที่มาช่วยแนะนำครู โดยทั้งครูและพี่เลี้ยงทั้งหมดต่างทุ่มเทการทำงานเพื่อทำให้กระบวนการเพาะพันธุ์ปัญญาสามารถขับเคลื่อนได้เป็นรูปธรรมสู่เป้าหมาที่วางไว้

แม้โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาจะจบโครงการไปแล้ว แต่กระบวนการขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยในอนาคตยังคงเดินหน้าต่อไป เพราะ 7 ปีแห่งการวางรากฐานที่ใช้ครูและพี่เลี้ยงเป็นพลังขับเคลื่อนยังคงทำงานสืบต่อไป
โดยปัจจุบันโครงการฯ ได้เกี่ยวข้องกับครูประมาณปีละ 700 คน นักเรียน 4,000 คน มีโรงเรียนผ่านโครงการทั้งสิ้น 135 โรง มีครูที่ได้รับกาดรคัดเลือกเป็น “ครูปัญญาทีปกรเพาะพันธุ์ปัญญา” จำนวน 24 คน และคัดเลือกโรงเรียน 16 โรงจาก 8 ศูนย์ ๆ ละ 2 โรง เพื่อทำหน้าที่เป็นโรงเรียนต้นแบบคอยเป็นพี่เลี้ยงช่วยดูแลช่วยเหลือโรงเรียนในสังกัด

รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ กล่าวถึงสถานของครูและพี่เลี้ยงหลังปิดโครงการนี้ว่า “ ตอนนี้ทั้งครูและพี่เลี้ยงทำงานเป็น Network เชื่อมต่อกันตามภาคต่าง ๆ จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ไม่มีการแยกภูมิภาคอีกต่อไป กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรไปแล้ว ซึ่งกลายเป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง ดังนั้นถึงแม้โครงการฯนี้จะจบลงแล้ว แต่ทุกอย่างที่เราทำร่วมกันยังเดินหน้าต่อไป”

 

 

ในมุมของผู้สนับสนุนอย่างธนาคารกสิกรไทย มีความพึงพอใจกับโครงการนี้อย่างไรบ้าง บัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า

“ เราถอดชีวิตนักเรียนเพาะพันธุ์ปัญญา โดยเฉพาะเด็กด้อยโอกาส ที่พิสูจน์ชัดว่าเพาะพันธุ์ปัญญาชุบชีวิตเขาได้ เรื่องราวเหล่านี้อยู่ในหนังสือ “ กล้าพันธุ์ผู้ก้าวพ้น” ถ้าอ่านดูจะเห็นว่าเขาเปลี่ยนไปมากจากการมีระบบคิดที่ดีนำทางชีวิต ประมาณร้อยละ 80 – 90 ของเด็กเพาะพันธุ์ปัญญาจะพัฒนาได้อย่างนี้ แต่มากบ้างน้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับความสามารถของครูและการสนับสนุนของโรงเรียน”

 

ต่อยอดสู่ “น่านเพาะพันธุ์ปัญญา”

แม้โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาจะเสร็จสิ้นภารกิจอย่างสมบูรณ์ไปแล้ว แต่ยังมีพื้นที่อีกหลายแห่งที่มีปัญหาในชุมชนและรอคอยความหวังที่จะพัฒนาองค์ความรู้ด้านการศึกษาเพื่อสร้างฐานรากชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน ด้วยเหตุนี้จึงมีการขยาย “กล้าพันธุ์แห่งปัญญา” โดยต่อยอดจากโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาไปสู่จังหวัดน่าน ในชื่อใหม่ว่า “โครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา”

โดยความร่วมมือของธนาคารกสิกรไทย และมหาวิทยาลัยพะเยา ซึ่งบัณฑูร ล่ำซำ ได้กล่าวถึงเป้าหมายของโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญาว่า

“ เราเชื่อมั่นในองค์ความรู้ วิธีการ และกระบวนการของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ดังนั้นธนาคารกสิกรไทยได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยาจัดทำโครงการ “น่านเพาะพันธุ์ปัญญา” และคัดเลือก 30 โรงเรียนของจังหวัดน่านเข้าร่วมโครงการ โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 2562-2565 มีเป้าหมายเพื่อบ่มเพาะระบบคิดแบบเหตุและผลในการดำเนินชีวิตร่วมกับทรัพยากรน่าน ด้วยเจตคติที่จะอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรในถิ่นกำเนิดของตน โดยเฉพาะการอนุรักษ์พื้นที่ป่าไม้ที่สำคัญของจังหวัดน่าน”

 

ตอบโจทย์ความยั่งยืนของชุมชน

การเริ่มต้นโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญา โดยมี รศ.ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ เป็นผู้วางรากฐานหลักสูตร จากพื้นฐานการวิเคราะห์มองปัญหาของจังหวัดน่านว่า

“ น่านมีปัญหาเรื่องการใช้ทรัพยากรเพื่อมาตอบสนองความต้องการของมนุษย์ โดยไม่เข้าใจระบบ การไหลเวียนของทรัพยากร ดังนั้นเราต้องสอนให้เด็กเข้าใจปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการคิดเชิงระบบให้ได้ ดังนั้นเราจึงหลอมรวม STEM ( Science , Technology , Engineering , Mathematics ) ซึ่งเป็นแนวคิดของโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาเข้ากับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้ในชื่อใหม่ว่า SEEEM

โดย SEEEM เป็นการเรียนแบบทำโครงฐานวิจัยที่บูรณาการ 5 สาระวิชามาอยู่ในหลักการ ประกอบด้วย วิทยาศาสตร์ (Science) , เศรษฐศาสตร์( Economics) ,นิเวศวิทยา ( Ecology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และ คณิตศาสตร์ ( Mathematics )

รศ.ดร.สุธีระ อธิบายเพิ่มเติมจากหลักคิดในเชิงทฤษฎีมาสู่ภาคปฏิบัติแบบง่าย ๆ ว่า

“ เด็กต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตที่อยู่ด้วยกันระหว่างพืชและสัตว์ เช่นการทำโครงงานเลี้ยงกบ เขาต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างการเลี้ยงกบกับการใช้น้ำที่เลี้ยงกบไปปลูกผัก คือความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับระบบนิเวศ และที่อยู่อาศัย ”

ซึ่งเมื่อถอดรหัสบทเรียนออกมาแล้ว กบกับการปลูกผักที่ต้องพึ่งพากันคือนิเวศวิทยา ( Ecology) ส่วนการสอนให้เด็กรู้จักคำนวณต้นทุนการเลี้ยง เรื่องกำไร-ขาดทุน เป็นการใช้คณิตศาสตร์ ( Mathematics ) และ เศรษฐศาสตร์( Economics) เป็นต้น

สภาพป่าต้นน้ำของจังหวัดน่านในปัจจุบันถูกทำลายกลายเป็นภูเขาหัวโลน ซึ่งเป็นวิกฤตหนักที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใย จึงทำให้ทุกฝ่ายกำลังระดมกำลังเข้ามาช่วยเหลือโดยตั้งโครงการ “รักษ์ป่าน่าน” ขึ้น สำหรับโครงการน่านเพาะพันธุ์ปัญญาเป็นเพียงหนึ่ง “ต้นกล้า” เล็ก ๆ ที่รอการหยังรากลึกลงในป่าใหญ่ พร้อมที่จะเติบโตกลายเป็นไม้ใหญ่คลุมผืนป่าน่านต่อไป

 

 

 

 

Stay Connected
Latest News

มูลนิธิ เมเจอร์ แคร์ จับมือ เมล็ดพันธุ์ตราศรแดง หนุนการเรียนรู้นอกห้องเรียน สอนปลูกผักปลอดสารพิษ พร้อมมอบโรงเรือนปลูกผัก “โครงการปลูกผัก สร้างสุข สร้างรายได้” ให้กับน้อง ๆ โรงเรียนบ้านด่านเกวียน อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา