ถึงเวลาสินค้าเกษตรต้อง ‘น้อยแต่มาก’ กรุงไทยหนุนรุกตลาด Biochemical เพิ่มมูลค่าได้ 18-188 เท่า​

ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เนื่องจากไทยมีความได้เปรียบด้านแหล่งวัตถุดิบสินค้าเกษตร ในฐานะผู้ผลิตปาล์ม อ้อย และมันสำปะหลัง อันดับที่  3  5 และ 7 ของโลก ตามลำดับ แต่กลับต่อยอดสินค้าให้มีมูลค่าสูงได้ ไม่หลากหลาย​ เข้าข่าย ‘ทำมากได้น้อย’ ส่งผลให้ทั้งประเทศและเกษตรกรไทยจึงมีรายได้น้อยมาเป็นเวลานาน

ขณะที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ที่เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน ทำให้เทรนด์การใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพใน กลุ่ม Biochemical มีแนวโน้มเติบโต และจะกลายเป็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจที่มีมูลค่าเพิ่มในระดับสูงให้แก่ผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น เพราะสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ BCG Economy

ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ตลาด Biochemical ของโลก คาดว่าจะมีมูลค่า 78,830 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2028  เติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 9.1% ส่วนมูลค่าตลาด Biochemical ในไทย คาดว่าจะมีมูลค่า 3,769 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 120,000 ล้านบาท ในปี 2028 คิดเป็นอัตราเติบโตที่ปีละ 14.2% ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตมากกว่าตลาดโลก ​โดยมีปัจจัยหนุนการเติบโตจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคสินค้าที่ใส่ใจต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ทั้งนี้ Biochemical Technology คือ การพัฒนาและปรับใช้เทคโนโลยีชีวภาพทางการเกษตร ในการผลิตสารเคมีและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง โดยนำวัตถุดิบทางการเกษตร เช่น อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน มาพัฒนาให้เป็นสารเคมี และผลิตภัณฑ์เคมี ที่สามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม อาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องสำอาง เป็นต้น

“กลุ่ม Biochemical เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรมากที่สุด แทนการขายเป็นสินค้าเกษตรทั่วไป (Commodity) แต่ไม่สร้างมูลค่าเพิ่ม และยังมีราคาผันผวน เมื่อเทียบกับปริมาณซัพพลายที่ต้องบริโภค​ แม้หลายปีที่ผ่านมาเริ่มมีการนำไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ​ หรือบรรจุภัณฑ์ชีวภาพมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีพลังงานทางเลือกอื่นมากขึ้นเช่นกัน​​ ส่วนของบรรจุภัณฑ์ชีวภาพก็สามารถใช้วัตถุดิบอื่นที่มีราคาต่ำกว่าได้ อาทิ ขยะอินทรีย์ หรือวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร​​​ ดังนั้น การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการแปรรูปเป็นสินค้า Biochemical น่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และเมื่อเทียบกับปริมาณวัตถุดิบที่ใช้กับมูลค่าเพิ่มที่ได้ ถือว่าเป็นการใช้ปริมาณน้อยกว่าแต่ช่วยเพิ่มมูลค่าได้อย่างสูงสุด โดยประเมินว่าสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรไทยได้ราว 18-188 เท่า มากกว่าการนำไปแปรรูปแบบเดิมๆ อย่างที่ผ่านมา”   ​

ส่วนความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนอาหารในอนาคต จะส่งผลต่อ Supply ในการนำวัตถุดิบทางการเกษตรไปรองรับกลุ่ม Biochemical หรือมไม่นั้น หากประเมินจากมูลค่าตลาด Biochemical ในปี 2028 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 125,523 ล้านบาท แต่ใช้วัตถุดิบสินค้าเกษตรในสัดส่วนไม่เกิน 5% ของผลผลิตรวมของสินค้าแต่ละชนิด ดังนั้น จึงไม่น่ากังวลว่าวัตถุดิบจะไม่เพียงพอต่อการผลิต ​ประกอบกับผู้ประกอบการด้าน Biochemical ยังน้อยอยู่มาก โดยที่ผ่านมามีผู้ประกอบการเพียง 1.7% ของผู้ประกอบการในกลุ่มโรงงาน​น้ำตาล มันสำปะหลัง​ และโรงงานน้ามันปาล์ม หรือเท่ากับมีผู้ประกอบการเฉลี่ยอยู่ราวอุตสาหกรรมละ 1 รายเท่านั้น

นายอภินันทร์ สู่ประเสริฐ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS  กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลิตภัณฑ์ Biochemical ที่คาดว่าจะเติบโตดี ได้แก่ สารที่ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร เช่น สารให้ความหวาน สารที่เพิ่มโภชนาการในอาหารหรือสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย รวมถึงสารที่ใช้เป็นส่วนประกอบของยาและเครื่องสำอาง รวมทั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์  โดยหากไทยมีการลงทุนต่อยอดไปในกลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้มากขึ้น นอกจากจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรไทยแล้ว ยังช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ไทยต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล่านี้สูงกว่า 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี หรือกว่า 47,000 ล้านบาท

“ผู้ประกอบการสินค้าเกษตรที่น่าจะมองหาโอกาสในการเข้าสู่ตลาดนี้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาล โรงงานแป้งมันสำปะหลัง และโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม เนื่องจากเป็นกลุ่มที่สามารถต่อยอดได้จากธุรกิจเดิม โดยมีประสบการณ์และวัตถุดิบรองรับอยู่แล้ว การต่อยอดไปสู่ตลาด Biochemical จึงไม่ใช่เรื่องยาก จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับเอสเอ็มอีไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่”

นายกฤชนนท์ จินดาวงศ์ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS แนะนำว่า จากการที่ผลิตภัณฑ์ Biochemical ส่วนใหญ่ยังเป็นการผลิตที่ต้องมีการลงทุนวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างเข้มข้น ดังนั้น ปัจจัยที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต Biochemical ได้ คือภาครัฐจะต้องมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลงทุน อีกทั้งการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถต่อยอดสู่การพัฒนาเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตสินค้าเกษตรอยู่แล้ว ขณะที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญเรื่องแหล่งวัตถุดิบที่เพียงพอ เพราะต้นทุนหลักของธุรกิจนี้มาจากวัตถุดิบเป็นหลัก รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกันทั้ง Ecosystem ไม่ว่าจะด้านหน่วยงานวิจัยและให้คำปรึกษาของภาครัฐหรือสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพถูกนำไปใช้ให้หลากหลาย และตอบโจทย์ความต้องการด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

Stay Connected
Latest News