เกาหลีผุดไอเดียเปลี่ยนขยะชายหาดเป็นขนม​ ต้อนรับเปิดหาดรอบ 3 ปี สร้างความตระหนักปัญหาสิ่งแวดล้อม

หากใครได้มีโอกาสไปเที่ยวตามชายหาดเกาหลีใต้เร็วๆ นี้ คงสะดุดตากับรถขายขนมสีเขียวชื่อว่า Seanack ที่จอดอยู่ใกล้ๆ เป็นแน่แท้ แต่การจะซื้อขนมจากรถคันนี้ได้นั้น ไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงินหรือเครดิตการ์ด แต่คุณต้องนำขยะที่เก็บได้ตามชายหาดมาแลกนั่นเอง 

นับเป็นครั้งแรกที่ชายหาดในประเทศเกาหลีใต้ได้เปิดให้ผู้คนสามารถกลับมาเดินเล่นและทำกิจกรรมได้อีกครั้ง หลังจากปิดให้บริการไปเป็นเวลา  3 ปี  เมื่อภาครัฐเริ่มผ่อนคลายนโยบาย social distancing ทำให้ชายหาดหลายแห่งเริ่มเนืองแน่นไปด้วยผู้คน ​ซึ่งหนึ่งในผลกระทบที่ตามมมาคือ ทำให้เกิดขยะบนชายหาดในปริมาณมาก

เกาหลีใต้ จึงได้ผุดไอเดีย แคมเปญ Seanack ขึ้นมา ซึ่งเป็นแคมเปญด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการร่วมมือกันระหว่างหลายภาคส่วนอย่าง K-Green Foundation การท่องเที่ยวเกาหลี Lotte Department Store และ Cheil Worldwide ที่มีจุดประสงค์ในการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาขยะในทะเล และส่งเสริมกิจกรรมที่ผสานระหว่างการวิ่งจ็อกกิ้งกับการเก็บขยะไว้ด้วยกัน หรือที่เรียกว่า plogging  (jogging with picking up litter)

สำหรับวิธีการที่จะเอาขยะมาแลกขนมก็ง่ายนิดเดียว ขั้นแรก ต้องมองหารถ Seanack บนชายหาด และขอยืมภาชนะสำหรับใส่ขยะ หลังจากนั้นก็เริ่มเก็บขยะบนชายหาดใส่เข้าไปในภาชนะ และนำขยะมาชั่งกิโลที่รถ Seanack โดยจะคำนวณตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา จากนั้นก็รับขนมเป็นรูปสัตว์ทะเลต่างๆ ไปกิน เช่น วาฬ ปลาหมึก ปู โดยจะต้องนำภาชนะสำหรับใส่ขนมมาเอง และสำหรับผู้ที่สามารถเก็บขยะได้มากที่สุดในวันนั้นๆ จะได้รับรางวัลพิเศษไปด้วย

ส่วนผู้ที่ไม่สามารถไปตามชายหาดที่มีรถ Seanack จอดอยู่ได้นั้น ก็สามารถร่วมโครงการได้เช่นกัน ด้วยการวิ่งจ๊อกกิ้งไปและเก็บขยะไป (plogging) ในที่ใดก็ได้ และโพสต์รูปไว้บนโซเชียลมีเดียพร้อมติด hashtag เพื่อเป็นหลักฐาน คุณอาจจะเป็นผู้โชคดีที่จะได้รับขนมรูปสัตว์ทะเลของ Seanack ไปกินอย่างอร่อยได้ด้วยเช่นกัน ​

Choi Yul ประธาน K-Green Foundation กล่าวว่า “แคมเปญ Seanack สร้างประสบการณ์ที่คล้ายกับการเล่นเกม ด้วยการกระตุ้นและส่งเสริมผู้คนให้เพลิดเพลินกับกิจกรรม และหวังว่าแคมเปญนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้คนได้คิดถึงมลภาวะในท้องทะเลและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอีกครั้งหนึ่ง” 

อย่างไรก็ตาม รถขนม Seanack จะจอดเพียง 4 หาด ในระยะเวลา 4 สัปดาห์ โดยได้เริ่มนำร่องไปแล้วตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา

Source  

Source 

Source 

Stay Connected
Latest News