เต็ดตรา แพ้ค ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความยั่งยืน พร้อมขับเคลื่อนแนวทางใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เต็ดตรา แพ้ค ​เปิดเผยความสำเร็จการขับเคลื่อนความยั่งยืนทั้งในระดับโลก พร้อมโฟกัสแนวทางขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนในประเทศไทย ​โดยเฉพาะการเพิ่มศักยภาพในการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งด้านการลดการใช้น้ำและลดการสร้างน้ำเสียในกระบวนการผลิต และการเก็บกลับกล่องบรรจุภัณฑ์เพื่อนำกลับเข้าระบบรีไซเคิลในการนำไปสร้างมูลค่าเพิ่ม

คุณปฏิญญา ศิลสุภดล ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในฐานะที่เราเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร เราจึงมุ่งมั่นในการเพิ่มศักยภาพในระบบการจัดการ Food System ทั้งหมด ทั้งในเรื่องของการลด Food waste และการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สภาพอากาศ ตั้งแต่ระบบการผลิตของโรงงานเอง การขนส่ง และระบบการผลิตของโรงงานลูกค้าทั้งตลอดซัพพลายเชน ไปจนถึงการเพิ่มการหมุนเวียนทรัพยากร ในการจัดเก็บกลับมาและนำมาใช้ใหม่ โดยคาดหวังว่า ทรัพยากรจากกล่องเครื่องดื่มจะสามารถนำกลับไปเป็นกล่องเครื่องดื่มได้ใหม่ในอนาคต รวมทั้งการเพิ่มประโยชน์ และลดผลกระทบเชิงลบต่างๆ ให้ชุมชน

สรุปความสำเร็จการขับเคลื่อนความยั่งยืนทั่วโลก

ทั้งนี้ ความสำเร็จในระดับโกลบอลที่ได้ระบุไว้ในรายงานความยั่งยืนฉบับล่าสุดในปี 2564 ที่ผ่านมา  เต็ดตรา แพ้ค สามารถขับเคลื่อนการทำธุรกิจที่สร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคมไปพร้อมๆ กัน อาทิ

1. การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการดำเนินงานลง 36% เมื่อเทียบกับปีฐานในปี 2562  โดย 80% ของพลังงานที่ใช้มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน พร้อมเพิ่มการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นสองเท่าถึง 55 เมกะวัตต์

2. การจำหน่ายบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกที่ผลิตจากพืชแทนฟอสซิล จำนวน 17,600 ล้านชิ้น รวมทั้งฝาที่ผลิตจากพืชจำนวน  10,800 ล้านชิ้นในปีที่ผ่านมา ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 96 กิโลตัน  เมื่อเทียบกับพลาสติกทจากฟอสซิล

3. การลงทุนจำนวน 40 ล้านยูโร เพื่อผลักดันร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่มีกว่า 170 รายทั่วโลก เพื่อการจัดเก็บและรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มได้มากกว่า  50,000 ล้านกล่อง ซึ่งมีส่วนช่วยให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

4.  เด็กกว่า 61 ล้านคนใน 41 ประเทศได้รับนม หรือเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการอื่น ๆ ซึ่งบรรจุในกล่องของเต็ดตรา แพ้ค ผ่านโครงการโภชนาการในโรงเรียน

5. การปรับโครงสร้างบรรจุภัณฑ์ด้วยการ​ใช้วัสดุที่ทำจากโพลีเมอร์แทนที่ชั้นอะลูมิเนียม ทำให้มีโครงสร้างที่ง่ายต่อการรีไซเคิล และนำไปต่อยอดการสร้างมูลค่าเพิ่มได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

6. การเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์รายแรกของโลกในการนำบรรจุภัณฑ์รีไซเคิลกลับมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่สำหรับบรรจุอาหารได้อีกคร้ัง พร้อมท้ังได้เปิดตัวฝาบรรจุภัณฑ์ซึ่งทำจากโพลิเมอร์รีไซเคิล จากที่ก่อนหน้าเป็นชิ้นส่วนที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้

7. ความสำเร็จในการลดปริมาณ Food waste จากกระบวนการผลิตของธุรกิจอาหารในการนำวัตถุดิบส่วนที่เหลือจากการผลิตไปแปรรูปเป็นอาหารประเภทอื่นทดแทน ซึ่งจะช่วยทั้งการลดปริมาณขยะอาหาร ลดการใช้น้ำ พลังงาน รวมทั้งการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ลงได้ด้วย โดยวางเป้าหมายในการลดการใช้ทรัพยากรทุกมิติลงให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 

การขับเคลื่อนและต่อยอดในประเทศไทย

ขณะที่ในประเทศไทยได้เน้นย้ำการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่าน 2 แนวทางสำคัญ ได้แก่ การลดการใช้ทรัพยากรน้ำ และการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มรวมทั้งการนำกลับมาเข้ากระบวนการรีไซเคิลเพื่อเป็นบรรจุภัณฑ์ใหม่อีกครั้ง

โดยในส่วนของการลดการใช้ทรัพยากรน้ำ จะเป็นการทำงานร่วมกับพันธมิตรคือ บริษัท แดรี่พลัส จำกัด ผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์นม ซึ่งในเฟสแรกสามารถลดการใช้น้ำในระบบการผลิตลงได้กว่า 400 ตันต่อวัน หรือเทียบได้กับปริมาณน้ำในสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐานในกีฬาโอลิมปิก 1 สระ ซึ่งปริมาณน้ำที่ลดลงนี้จะส่งผลให้ปริมาณน้ำเสียที่เข้าสู่โรงบำบัดลดลงจาก 75% เหลือเพียง 60% โดยการขับเคลื่อนต่อในเฟส 2 ได้ตั้งเป้าลดการใช้น้ำลงอีกให้เพิ่มเป็น 576 ตันต่อวัน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณน้ำเสียที่เข้าสู่ระบบบำบัดน้อยลงไปอีก ​ทำให้กระบวนการผลิตของแดรี่พลัส สามารถรองรับการผลิตที่จะขยายเพิ่มเติมในอนาคตได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนในส่วนของการขยายระบบบำบัดน้ำเสียเพิ่มตามไปด้วย จากการลดปริมาณการใช้น้ำ ส่งผลให้ปริมาณน้ำเสียที่จะต้องเข้าสู่โรงบำบัดน้อยลง ทำให้ระบบบำบัดมีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น

ในส่วนของการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์​ บริษัทได้ลงนามเข้าร่วมภาคีเครือข่ายกว่า 50 ราย ในการขยายความรับผิดชอบในการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ของผู้ผลิต (EPR) รวมทั้งการเป็นสมาชิก Carbon Market Club เพื่อร่วมขับเคลื่อนการสร้างความตระหนักรู้ในการลดการปล่อยคาร์บอน และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และการซื้อขายคาร์บอรเครดิต

“ในมิติของการจัดเก็บและรวบรวมบรรจุภัณฑ์บริษัทได้ร่วมกับบริษัท สยามพิวรรธน์ ตั้งจุด Drive-Thru Recycle Collection Center บริเวณห้างสยามพารากอนสำหรับการเก็บกล่องเครื่องดื่ม รวมทั้งพัฒนาแอปพลิเคชัน BECARE สําหรับการรวบรวมกลองเครื่องดื่มใช้แล้ว รวมถึงการขยายโครงการไปใน 16 จังหวัด ขณะเดียวกันยังได้ต่อยอดโครงการหลังคาเขียว ที่ดำเนินการมา 11 ปีแล้ว ในการนำกล่องบรรจุภัณฑ์ไปสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นวัสดุก่อสร้างอื่นๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการมีปลายทางที่หลากหลายและเพิ่มการนำกล่องบรรจุภัณฑ์ไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายยิ่งขึ้น”​

ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนเป็นหลักสำคัญยิ่งในวาระแห่งชาติ ซึ่งรวมถึงเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจหมุนเวียนชีวภาพ เต็ดตรา แพ้ค มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยผลักดันแนวคิดความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิตใน ประเทศ เพื่อสร้างความร่วมมือและการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการขับเคลื่อนโมเดลที่มีรากฐานของความรับผิดชอบของผู้ผลิตที่เพิ่มขึ้นสำหรับประเทศไทย

“ความรับผิดชอบของผู้ผลิตต้องมองมากกว่าแค่การเป็นผู้ผลิตเพื่อจำหน่าย แต่ต้องมองไปจนถึงการเก็บกลับเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ทั้งในการทำรีไซเคิล หรืออัพไซเคิล ซึ่ง EPR  มีการนำมาใช้ในหลากหลายประเทศทั้งที่พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา ทั้งในยุโรป อินเดีย หรือประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์  แต่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการศึกษากลไกที่เหมาะสมกับประเทศไทย ​​โดยคาดว่าจะผลักดันออกมาได้ในราว 3-5 ปีข้างหน้า โดยมากกว่าการอกกฏหมายให้ได้ แต่ต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพในการวางระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนด้วย ภายใต้ความร่วมมือทั้ง Ecosystem ทั้งส่วนท้องถิ่น ร้านค้าปลีก ซาเล้งรับซื้อของเก่า ที่จะเข้ามาเป็นหนึ่งในตัวกลางที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการรีไซเคิลของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย”

ด้าน คุณชัยยุทธิ์ พลเสน นายกสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัญหาสำคัญของกลุ่มซาเล้งคือ ความสับสนในการแยกประเภทของกลุ่มบรรจุภัณฑ์ ทำให้ยากต่อความเข้าใจ และส่งผลกระทบต่อการนำไปขาย รวมท้ังการนำบรรจุภัณฑ์กลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิล ซึ่งการเก็บของกลับจากที่เคยขายได้ 80% แต่ปัจจุบันขายได้แค่ครึ่งเดียว โดยมีข้อเสนอแนะในการทำเครื่องชี้วัดว่า บรรจุภัณฑ์ชิ้นไหนสามารถรีไซเคิลได้หรือไม่ได้ และง่ายต่อการทำความเข้าใจของประชาชน จากปัจจุบัน ที่จะใช้สัญลักษณ์ในการบอกประเภทหรือชนิดของพลาสติกที่มีแยกย่อยหลายประเภท แต่ประชาชนไม่เข้าใจว่าประเภทไหนคืออะไร รีไซเคิลได้หรือไม่ได้ แต่หากใช้สัญลักษณ์กลาง และบอกเป็นค่าความสามารถในการรีไซเคิล เช่น ชิ้นนี้รีไซเคิลได้ 100% หรือบางส่วน หรือไม่สามารถรีไซเคิลได้เลย ทำให้ง่ายต่อการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง ในการนำไปส่งต่อให้กับซาเล้งหรือร้านรับซื้อของเก่าเพื่อนำกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิลได้สะดวก ขณะเดียวกันยังช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้ง่ายขึ้นในการเลือกซื้ออาหารหรือเครื่องดื่มที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน

“ผู้ประกอบการควรนึกไว้อยู่เสมอว่า เราเป็นผู้ก่อให้เกิดขยะ เราต้องมองเรื่องของการแก้ปัญหาด้วย โดยเฉพาะการนำทรัพยากรที่มีจำกัดให้คุ้มค่ามากที่สุด  ทั้งนี้ ทางสมาคมจะมีการเซ็น MOU ร่วมกับเต็ดตรา แพ้ค ในนามของมูลนิธิ 3R ในการรับซื้อกล่องนมในระยะยาว เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเพิ่มการจัดเก็บบรรจุภัณฑ์เข้าในระบบได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วย”​​

Stay Connected
Latest News