H&M ร่วมกับนักวิจัยฮ่องกง นำร่องพัฒนาผ้ากันเปื้อนดักจับ CO2 หวังใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อลดคาร์บอนฟุ้ตพริ้นท์

หลังจากถูกวิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับการสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้แบรนด์เสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่นอย่าง H&M ต้องตกอยู่ภายใต้ความกดดันในการหาวิธีแก้ไขปัญหาคาร์บอนฟุ้ตพริ้นท์ที่มีมหาศาลของแบรนด์ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่ตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของสินค้าประเภทเครื่องนุ่งห่มมากขึ้น 

เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค เมื่อไม่นานมานี้ H&M ได้จับมือกับสถาบันวิจัยด้านเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มในฮ่องกงอย่าง The Hong Kong Research of Textiles and Apparel (HKRITA) ในการพัฒนาวัตถุดิบที่มีคุณสมบัติในการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อนำมาผลิตเป็นผ้ากันเปื้อนดักจับคาร์บอนในโครงการนำร่อง

โดยทีมนักวิจัยได้พัฒนากระบวนการทางเคมีในรูปแบบสารละลายเอมีน ที่ใช้สำหรับรักษาสภาพของผ้าฝ้าย เส้นใย เส้นด้าย หรือ เนื้อผ้า ส่งผลให้วัตถุดิบดังกล่าวเกิดปฏิกิริยาดึงคาร์บอนไดออกไซด์เข้ามาใช้ ทำให้สามารถเกิดการดักจับคาร์บอนและกักเก็บไว้ที่พื้นผิวผ้าได้

กระบวนการดังกล่าว นักวิจัยได้รับแรงบันดาลใจจากเทคนิคที่ใช้ในปล่องควันในโรงงานพลังงานถ่านหินเพื่อจำกัดการปล่อยคาร์บอนออกสู่ภายนอกนั่นเอง

จากการทดลองของนักวิจัย พบว่า ผ้ากันเปื้อน 1 ผืน สามารถดักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 1 ใน 3 ของปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้นไม้สามารถดูดซับได้ต่อวัน

โดย Edwin Keh ซีอีโอ ของ HKRITA กล่าวว่า “ความสามารถในการดักจับคาร์บอนของผ้ากันเปื้อนนั้นอาจจะไม่สูงมากนัก แต่ค่าใช้จ่ายในการผลิตไม่แพง และการผลิตก็ค่อนข้างง่าย ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในส่วนอื่นๆ ได้อีกมากมายด้วย”

ทั้งนี้ ผ้ากันเปื้อนดักจับคาร์บอนดังกล่าวถูกนำไปทดลองใช้กับร้านอาหารในกรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน โดยหลังการใช้งาน อุณหภูมิผ้ากันเปื้อนจะสูงถึง 30-40 องศาเซลเซียส ซึ่งที่ความร้อนขนาดนี้ ผ้ากันเปื้อนจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่กักเก็บไว้ โดยคาร์บอนเหล่านั้นจะถูกนำไปใช้เป็นอาหารเลี้ยงพืชในเรือนเพาะชำของร้านอาหารต่อไป

โดย H&M อ้างว่า นวัตกรรมดังกล่าวสามารถเป็น game-changer ที่มีศักยภาพในการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของโลกได้ 

อย่างไรก็ดี โปรเจ็คดังกล่าวยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยนักวิจัยยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเทคโนโลยีการดูดซับคาร์บอนด้วยวัตถุดิบชนิดอื่นๆ พร้อมกับหาวิธีในการใช้ประโยชน์หรือกำจัดคาร์บอนไดออกไซด์ที่กักเก็บมาได้ต่อไป

source

source

Stay Connected
Latest News