ประชากร Vegan ในเกาหลีใต้เติบโตต่อเนื่อง ส่งผลตลาดอาหารปราศจากเนื้อสัตว์ขยายตัวทั้งออนไลน์และออฟไลน์

ผู้บริโภคกลุ่มวีแกน (Vegan) ​หรือกลุ่มที่ไม่รับประทานอาหารที่ทำมาจากเนื้อสัตว์ทุกชนิด และไม่มีขั้นตอนใดๆ ที่เกี่ยวกับสัตว์ รวมถึงไม่รับประทานไข่ นม และเครื่องปรุงรสต่างๆ โดยจะรับประทานอาหารที่ทำมาจากผัก ผลไม้ และธัญพืชต่างๆ เท่านั้น ​รวมถึงไม่ซื้อหรือสนับสนุนผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่มีการทดลองในสัตว์ (Cruelty-free) อีกด้วย

กลุ่มวีแกนมีความแตกต่างกับมังสวิรัติ (Vegetarian) ที่จะงดเนื้อสัตว์ แต่ยังรับประทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เช่น ไข่และนมได้ และสามารถแบ่งย่อยเป็นกลุ่มที่เลือกบริโภคเฉพาะไข่หรือนมเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ Ovo-vegetarian ซึ่งรับประทานไข่ แต่งดเนื้อสัตว์และนม กับ Lacto-vegetarian ซึ่งรับประทานนมและ ผลิตภัณฑ์จากนม แต่งดเนื้อสัตว์และไข่

จากแนวโน้มการเลือกบริโภคอาหารและผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากเนื้อสัตว์กำลังเพิ่มขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ตลาดอาหารวีแกนของเกาหลีใต้ปรับตัว และมีความหลากหลายมากขึ้นตามไปด้วย

ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล รายงานว่า ตลาดสินค้าอาหารสำหรับกลุ่มวีแกน (Vegan) ของเกาหลีใต้ อยู่ในช่วงกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจำนวของผู้บริโภควีแกนในเกาหลีใต้ เพิ่มเป็น 2.5 ล้านคน ในปี 2564 และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล 

ดังนั้น อาหารสำหรับชาววีแกนจึงเป็นกระแสสำคัญในอุตสาหกรรมของอาหารของเกาหลี​ โดยปี 2564 มีสินค้าอาหารได้การรับรองถึง 286 ชนิด จาก Korea Agency of Vegan Certification and Services ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 114 ชนิดในปี 2563 ​ขณะที่บริษัทอาหารหลายแห่งกำลังขยายการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ Vegan Food เช่น อาหารวีแกนพร้อมทานผ่านร้านสะดวกซื้อ และคาดว่าขนาดตลาดจะขยายตัวในอนาคต เพื่อรองรับผู้บริโภคในกลุ่มนี้ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

เทรนด์ตลาดสินค้าอาหารวีแกน (Vegan Food)

กระแสการรับประทานอาหารวีแกนได้รับการตอบรับที่ดี ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์อาหารวีแกน มีการพัฒนาทั้งในด้านของรสชาติและคุณค่าทางโภชนาการ นอกจากเมนูอาหารที่ปรุงสดจากผัก ผลไม้ และธัญพืชแล้ว ยังมีการแปรรูปวัตถุดิบจากธรรมชาติเป็นอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานเพื่อให้สะดวกมากขึ้น

1. ผลิตภัณฑ์อาหารทดแทนจากพืช (Plant-Based Food)

ปัจจุบันเกาหลีใต้มีความหลากหลายในตลาดอาหารวีแกน โดยมีการผลิตสินค้าจากพืชที่ให้โปรตีนสูง เช่น ถั่ว ข้าวโอ๊ต และอัลมอนด์ โดยพัฒนารสชาติ กลิ่น และสีให้ใกล้เคียงเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์ทดแทน เกี๊ยว กิมจิ หรือเครื่องดื่มอย่างนมโอ๊ต เป็นต้น

ข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล 

โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ทดแทนจากพืช (Plant-Based Meat) ถือเป็น 1 ในสินค้าอาหารที่ผู้บริโภควีแกน สามารถรับประทานได้ จึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ด้วยรสชาติและลักษณะที่เหมือนเนื้อสัตว์  สำหรับวัตถุดิบที่นำมาผลิตอาหารเนื้อสัตว์ทดแทนจากพืชนั้น สามารถแบ่งได้เป็นถั่ว 62% รองลงมาคือผัก 29.3% และ ธัญพืช 8.7% ของตลาดทั้งหมด

ในปี 2563 ขนาดของตลาดเนื้อสัตว์ทดแทนจากพืช (Plant-based meat) ในเกาหลีเพิ่มขึ้น 23.7% จาก ปี 2559 เป็น 17.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2.089 หมื่นล้านวอน ซึ่งเติบโตขึ้น 5.6%

โดยคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปี หรือปี 2568 ขนาดของตลาดสินค้าเนื้อสัตว์จากพืชในเกาหลีใต้จะเพิ่มขึ้นอีกถึง 29.7% เป็น 22.6 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ ประมาณ 2.71 หมื่นล้านวอน เมื่อเทียบกับปี2563

ข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล 

ตลาดอาหารเนื้อสัตว์จากพืชกำลังเติบโตในบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมถึงสตาร์ทอัพที่ผลิตสินค้าออกมาเรื่อยๆ ซึ่งผลิตภัณฑ์จากบริษัทดังกล่าวคิดเป็น 75.8% ของการผลิตเนื้อสัตว์จากพืชทั้งหมด ​กล่าวได้ว่า ขณะนี้บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีสำหรับการผลิตเนื้อสัตว์จากพืช

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้บริษัทขนาดใหญ่ก็ได้เริ่มให้ความสนใจกับผู้บริโภคกลุ่มนี้ และได้ ผลิตสินค้า Plant-based Meat ออกมาเพื่อตีตลาดกับ SMEs และสตาร์ทอัพ

ข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล 

 

2. สินค้าอาหารวีแกนบนช่องทางออนไลน์ของไฮเปอร์มาร์เก็ต

อาหารวีแกนจำนวน 228 ชนิด ได้ถูกวางจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ของไฮเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ เช่น Emart Lottemart และ Homeplus โดยแฮมเป็นที่นิยมมากที่สุด ตามด้วยหมูทอดและสเต็ก และเนื้อที่ทำจากพืช นอกจากนี้ มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารว่าง อาหารทะเล เครื่องปรุงรส และอาหารเสริม แต่จำนวนผลิตภัณฑ์ ยังค่อนข้างน้อยอยู่

ข้อมูล: สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล 

3. พื้นที่ของอาหารวีแกนที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะภายในไฮเปอร์มาร์เก็ต

ภายในไฮเปอร์มาร์เก็ตหลักของเกาหลี ก็ได้เพิ่มตู้แช่แข็งและขยายพื้นที่สำหรับอาหารวีแกน เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายชึ้น โดย E-Mart เพิ่ม “โซนอาหารวีแกน” จาก 20 แห่งในปี 2563 เป็น 33 แห่งในปีที่แล้ว

นอกจากนี้ร้านสะดวกซื้ออย่าง GS25, CU, 7-Eleven และ Emart 24 ก็มีการจำหน่ายสินค้าอาหารวีแกน และคาดว่าจะเพิ่มจำนวนชนิดขึ้นตามแนวโน้มของตลาด เช่น GS25 วางแผนที่จะเพิ่มสินค้าอาหารวีแกนเป็น 30 ชนิดในอนาคต ซึ่งปัจจุบันมีจำหน่ายอยู่ 15 ชนิด โดยผลิตภัณฑ์อาหารวีแกนที่ผู้บริโภคชาวเกาหลีคุ้นเคยมากที่สุด ได้แก่ เนื้อจากพืช (61.8%), นมจากพืช (61.3%), ก๋วยเตี๋ยววีแกน (55.5%), ขนมปังวีแกน (48.5%) และอาหารวีแกนสำเร็จรูป (47.6%) เป็นต้น

ข้อมูล : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล 
Stay Connected
Latest News