‘พลิกวิกฤติเป็นโอกาส’ ฟาร์มโคนนมในบอสเนีย สร้างโรงไฟฟ้าจากขยะออแกนิกส์มาใช้ได้สำเร็จเป็นแห่งแรก แม้ได้รับผลกระทบจากภาวะสงคราม

ผลกระทบจากช่วงภาวะสงครามรัสเซียและยูเครน ก่อให้เกิดวิกฤตพลังงานและค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นกระทบไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในยุโรปที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ทำให้หลายประเทศต้องมองหาพลังงานทางเลือกจากแหล่งพลังงานอื่นๆ มากขึ้น

Spreca ฟาร์มโคนมสุดไฮเทคในบอสเนีย​ เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากภาวะสงคราม​ และเป็นฟาร์มโคนมรายแรกในประเทศที่สามารถพลิกวิกฤตพลังงานมาเป็นโอกาส ​ด้วยการสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากแก๊สชีวภาพจากมูลสัตว์และอาหารสัตว์เพื่อนำมาใช้ภายในฟาร์ม

โดยโรงงานดังกล่าว ​สามารถเริ่มผลิตไฟฟ้าได้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา ปัจจุบันสามารถผลิตไฟฟ้าต่อชั่วโมงได้ราว 50-60% ของกำลังผลิตที่มีอยู่ ​ตามข้อกำหนดของภาครัฐ ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ย​การใช้ไฟฟ้าของบ้านเรือนในแต่ละเดือนเสียอีก และหากเดินเครื่องให้เต็มกำลังผลิตที่มีอยู่ จะสาสามารถผลิตกำลังไฟได้มากถึง 600 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมงเลยทีเดียว

Said Karic ผู้อำนวยการฟาร์มเล่าให้ฟังว่า “การผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นการคิดขึ้นเพื่อต่อยอดกระบวนการที่มีอยู่ในฟาร์ม” โดยฟาร์มแห่งนี้มี Sarajevo Milkos ซึ่งเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมนมเป็นเจ้าของ ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด 800 เฮกตาร์ (1 เฮกตาร์ = 6 ไร่ 1 งาน) สามารถรองรับโคที่ให้ผลผลิตสูงได้ถึง 2,000 ตัว โดยภายในฟาร์มยังใช้เครื่องจักรเทคโนโลยีขั้นสูงและระบบอัตโนมัติต่างๆ ที่ได้รับการสนับสนุนโดยภาครัฐและลงทุนโดย Sarajevo Milkos เอง

การผลิตกระแสไฟฟ้าภายในฟาร์มจากแก๊สชีวภาพ นับเป็นความมุ่งมั่นที่ฟาร์ม Spreca ตั้งใจพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความพยายามของภาครัฐที่ต้องการให้ประเทศค่อยๆ เปลี่ยนผ่านการผลิตของภาคพลังงานมามาสู่การใช้พลังงานทดแทนมากขึ้นนั่นเอง

ทั้งนี้ ความสามารถในการผลิตพลังงานของบอสเนีย คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของ GDP ถือเป็นผู้ส่งออกกระแสไฟฟ้าเพียงรายเดียวในคาบสมุทรบอลข่าน โดยประมาณ 60% ผลิตจากโรงงานถ่านหิน และส่วนที่เหลือส่วนใหญ่ผลิตจากพลังงานน้ำ

ก่อนหน้านี้ the Bosniak-Croat Federation and the Serb Republic (สหพันธ์บอสเนียค-โครต และสาธารณรัฐเซอร์เบีย ) ได้ตั้งปณิธานไว้ว่าจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานจากแหล่งพลังงานทดแทนให้มากขึ้น​ภายในปี 2030 แต่วิกฤติพลังงานจากภาวะสงครามกลับทำให้แผนดังกล่าวดำเนินได้ช้าลง

นอกจากนี้ พลังงานความร้อนที่ถูกผลิตขึ้นมาระหว่างขั้นตอนการหมักแก๊สชีวภาพยังถูกนำมาใช้ในการให้ความอบอุ่นแก่อาคารต่างๆ ภายในฟาร์มด้วย Karic ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “แผนระยะยาวของเราคือการก่อสร้างเรือนเพาะชำที่ได้รับความร้อนจากพลังงานชีวภาพนี้​​ด้วยเช่นกัน”

Stay Connected
Latest News