โอกาสของประเทศไทย จากเทรนด์ Bio Based Beauty ​ในตลาดเครื่องสำอาง

การที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับ​ ESG ทำให้ธุรกิจเครื่องสำอางต้องปรับตัว และผู้ประกอบการ​เครื่องสำอางบางส่วนได้พัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้วัตถุดิบที่มีส่วนผสมจากธรรมชาติ​ หรือ Bio Based Beauty เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้ Bio Based Beauty คือ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผลิตโดยใช้วัตถุดิบธรรมชาติ เช่น พืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ เพื่อทดแทนวัตถุดิบดั้งเดิมที่ได้มาจากผลิตภัณฑ์ ปิโตรเลียม  ทำให้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสารมลพิษอื่นๆ ในกระบวนการผลิต ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม ท้ังยังเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคที่มีอาการแพ้หรือระคายเคืองจากผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากสารเคมีสังเคราะห์ได้ด้วย

Krungthai COMPASS ประเมินว่า มูลค่าตลาดเครื่องสำอางทั่วโลกในปี 2565 อยู่ที่ราว 2.62 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ​ และคาดว่าจะเติบโตไปอยู่ที่ราว 3.64 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2573 หรือ​เติบโตเฉลี่ยต่อปี​ 4.2% ขณะที่โอกาสการเติบโตของตลาด Bio Based Beauty  ของไทย ในปี 2573 จะมีมูลค่าอยู่ที่ราว 21,664 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ยปีละ 13.0%  หรือคิดเป็น 6.7% ของมูลค่าตลาดเครื่องสำอางโดยรวมในประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ราว 3.23 แสนล้านบาท  โดยมีปัจจัยสนับสนุนการเติบโต ได้แก่

1.  กำลังซื้อที่มีแนวโน้มเพิ่มข้ึนของผู้บริโภคผู้หญิง โดยเฉพาะในกลุ่ม Millennial ที่มีกำลังซื้อสูงกว่าวัยอื่นๆ โดยกลุ่ม Millennial  ของผู้หญิงไทย มีจำนวนราว 11.4 ล้านคน หรือ​ 30.6% ของประชากรผู้หญิงทั้งประเทศ  พร้อมทั้งมีการประเมินค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตความงาม​ Bio Based Beauty ในปี 2573 จะอยู่ที่ 26,394 บาทต่อปี สูงกว่าผลิตภัณฑ์ความงามทั่วไปซึ่งอยู่ที่ราว 21,995 บาทต่อปี ถึง 20%  (จากการศึกษาของ The Economist Intelligence Unit)

2. พฤติกรรมการบริโภคสินค้าของผู้หญิงที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม สะท้อนจาก ผลสำรวจของ PowerReviews (2021) ​เกี่ยวกับทัศนคติและพฤติกรรมการซื้อที่มีต่อสินค้าความงามของหญิงชาวอเมริกัน ชี้ให้เห็นว่า กว่า 3 ใน 4 ของผู้หญิงต้องการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นอย่างยั่งยืนและเป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อม และ 69% ของผู้หญิงสนใจจะซื้อผลิตภัณฑ์ความงามที่มาจาก ธรรมชาติเพิ่มขึ้น 10% จากปี 2020 สอดคล้องกับงานศึกษาของ Grand View Research ที่พบว่า ส่วนแบ่งตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อความงามที่มีส่วนผสม ทั้งหมดจากธรรมชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 6.1% ในปี 2565 เป็น 7.2% ในปี 2573

3. เทคโนโลยีในการผลิตที่ ก้าวหน้ามากยิ่งข้ึน ซึ่งจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการผลักดันให้ตลาดนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เช่น เทคโนโลยีสกัดแบบเข้มข้น (Supercritical Fluid Extraction), ระบบกักเก็บสารสำคัญด้วยเทคโนโลยีห่อหุ้มระดับนาโน (NanoEncapsulation)  หรือ สารจากการหมักเพื่อความงาม (Fermented Beauty) โดยการใช้ เทคโนโลยีการหมักสารสกัดจากพืชหรือสารสกัดจากธรรมชาติ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม Krungthai COMPASS ยังประเมินว่า การผลิต Bio Based Beauty ในไทย จะ สามารถเพิ่มอัตรากำไรสุทธิให้กับภาคธุรกิจได้ โดยช่วยให้ผู้ผลิตมีอัตรากำไรเฉลี่ย​ 15% สูงกว่าอตัรากำไรสุทธิเฉลี่ยของการผลิตเครื่องสำอางทั่วไปซึ่งอยู่ที่ 5%  แม้ว่า​ต้นทุนราคาวัตถุดิบ Bio Based Beauty อาจจะสูงกว่าต้นทุน​วัตถุดิบเครื่องสำอางทั่วไป 12%  ขณะที่ผู้ประกอบการผลิต Bio Based Beauty สามารถปรับราคาขายได้สูงกว่าราคาเครื่องสำอาง​ทั่วไปราว 20%

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความพร้อมในการยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไปสู่ตลาด Bio Based Beauty ได้ เนื่องจาก ไทยเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ของโลก อีกทั้งภาครัฐให้การสนับสนุน เนื่องจากเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ผ่านการให้สิทธิพิเศษด้านการลงทุน ผู้ประกอบการจึงควรปรับตัวรับโอกาส ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่ม ให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีความยั่งยืน รวมทั้งศึกษามาตรฐานการรับรองของฉลากและสัญลักษณ์บนเครื่องสำอางต่างๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ ไม่ผ่านการทดลองกับสัตว์ (Cruelty-Free) การค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) และการประเมินรอยเท้าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Footprint) เป็นต้น

Stay Connected
Latest News