สหประชาชาติ ชี้ ‘โลกกำลังสำลักขยะพลาสติก’ ถือโอกาส ‘วันสิ่งแวดล้อมโลก’ ขับเคลื่อน #BeatPlasticPollution เตือนทุกฝ่ายตระหนักถึงปัญหา

วันที่ 5 มิถุนายน ตรงกับวันสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งในปีนี้เป็นโอกาสครบรอบ 50 ปี นับจากเริ่มมีการขับเคลื่อนโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันที่ 5 มิถุนายน ตั้งแต่ปี 1973 เป็นต้นมา เพื่อเปิดเวทีสำหรับการเผยแพร่งานด้านสิ่งแวดล้อมในระดับโลก เพื่อสร้างความตระหนักต่อความเสียหายของธรรมชาติ และสร้างให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยแก้ไขปัญหา

โดยในปีนี้ ทางสหประชาชาติ หรือ UN ให้ความสำคัญกับประเด็นการแก้ปัญหาขยะพลาสติก ภายใต้แคมเปญ #BeatPlasticPollution เพื่อตอกย้ำว่าทุกการกระทำของมนุษย์ส่งผลให้โลกกำลังอยู่ในภาวะสำลักขยะพลาสติกที่มีอยู่ทั่วโลก และเรียกร้องให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไข เพื่อสามารถเอาชนะมลภาวะจากขยะพลาสติกให้ได้ ​

ทั้งนี้ ในแต่ละปีมีการผลิตพลาสติกทั่วโลกมากกว่า 400 ล้านตัน ซึ่งมากกว่าครึ่งเป็นการออกแบบมาสำหรับการใช้งานเพียงครั้งเดียว (Single-use Plastic) และมีไม่ถึง 10% ที่สามารถนำกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิลได้

โดยพบว่ามีปริมาณขยะพลาสติก 19-23 ล้านตัน ที่หลุดรอดไปสู่ธรรมชาติ ทั้งทะเลสาบ แม่น้ำ และมหาสมุทร ซึ่งเทียบเท่าได้กับน้ำหนักของหอไอเฟล 2,200 อาคารรวมกัน

นอกจากนี้ ยังเกิดปัญหาไมโครพลาสติก จากการแตกตัวของอนุภาคของพลาสติกขนาดเล็ก (เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 5 มม.) ปะปนไปกับอาหาร น้ำ อากาศ โดยมีการประเมินว่า แต่ละคนบนโลกมีการรับไมโครพลาสติกเข้าสู่ร่างกายมากกว่า 50,000 ชิ้นในแต่ละปี

ดังนั้น Single-use Plastic จึงเป็นอันตรายและส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพของมนุษย์ รวมทั้งเป็นมลพิษต่อความหลากหลายของระบบนิเวศ ตั้งแต่ยอดเขาไปจนถึงมหาสมุทร และเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายทั่วโลกต้องให้ความร่วมมือกันเพื่อระดมกำลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะหากไม่เร่งแก้ไข คาดว่า ปริมาณขยะที่ไหลลงสู่มหาสมุทรจะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกถึง 3 เท่า ภายในปี 2040 และทำให้สัตว์ทะเลและชายฝั่งกว่า 800 สายพันธุ์ ต้องได้รับผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy จะสามารถลดขยะพลาสติกลงได้กว่า 80% ภายในปี 2040 รวมทั้งลดการผลิตและใช้เม็ดพลาสติกใหม่ หรือ Virgin Plastic ลงได้ 55% ช่วยประหยัดงบประมาณเฉลี่ยทั่วโลกลงได้กว่า 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมทั้งลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยภาพรวมลงได้ราว 25% ซึ่งถือ​เป็นหน้าที่ของทุกคน ทั้งภาครัฐ ธุรกิจ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการช่วยขับเคลื่อน ทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ และการร่วมมือร่วมใจกันเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพื่อมีส่วนร่วมในการช่วยแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้

ข้อมูล UN

Stay Connected
Latest News