AIS ลุยต่อหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” สอนน้องๆ กทม. “รู้ทันภัยออนไลน์” ในโรงเรียนสังกัดกทม. 437 แห่ง

จากการเดินทางของ AIS ในการสร้างพลเมืองดิจิทัลที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2019 มาวันนี้ การเดินทางดังกล่าวกำลังก้าวหน้าไปอย่างต่อเนื่อง เมื่อ AIS จับมือภาคีเครือข่ายสำคัญอย่าง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข – มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และกรุงเทพมหานครฯ ส่งหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” เข้าสู่โรงเรียนในสังกัด กทม. ที่มีมากถึง 437 แห่ง หรือคิดเป็นจำนวนนักเรียน มากกว่า 250,000 คนที่จะได้เรียนรู้หลักสูตรดังกล่าว

สำหรับการเดินทางของหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์เข้าสู่โรงเรียนในสังกัด กทม. นั้น ส่วนหนึ่งอาจมาจากความท้าทายที่ AIS พบจากผลการศึกษาล่าสุดของดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย หรือ Thailand Cyber Wellness Index ว่า กลุ่มนักเรียนที่แม้จะมีความสามารถในการเรียนรู้ และใช้งานสื่อดิจิทัลได้อย่างเชี่ยวชาญนั้น แท้จริงอาจเป็นอีกกลุ่มสำคัญที่ต้องเพิ่มทักษะความรู้ความเข้าใจในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างถูกต้องร่วมด้วย

คุณสายชล ทรัพย์มากอุดม  รักษาการหัวหน้าหน่วยธุรกิจประชาสัมพันธ์และธุรกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า แม้ตัวเลขจากดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยของเด็กในกรุงเทพมหานครจะอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่หากมองลึกลงไปในชุดข้อมูล จะพบว่ามีบางจุดที่ต้องได้รับการพัฒนา เช่น ความสามารถในการสื่อสาร และกาทำงานร่วมกันบนเทคโนโลยีดิจิทัล ฯลฯ

ด้วยเหตุนี้ หลังจากที่ AIS ได้จับมือกับทาง สพฐ. นำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์เข้าไปปรับใช้ในโรงเรียนสังกัด สพฐ. กว่า 29,000 แห่งไปแล้วเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา (ปัจจุบัน มียอดการเข้าเรียนสูงกว่า 7.4 แสนครั้ง) (อ่านเพิ่มเติม: ครั้งแรกของไทย AIS เร่งสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์ เปิดตัว “หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์”​ ผ่านระบบการศึกษาทั่วประเทศ )

โรงเรียนในสังกัด กทม. ก็เป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญของหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์เช่นกัน โดยการนำหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์เข้าไปบูรณาการเป็นสื่อการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัด กทม. นั้น พบว่าจะไปอยู่ในบทเรียนวิชาวิทยาการคำนวณ สังคมและแนะแนว ทั้งโรงเรียนระดับอนุบาล – ประถมศึกษา, ระดับประถมศึกษา – มัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งไม่เพียงทำให้คุณครู นักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงประชาชนโดยรอบชุมชนมากกว่า 250,000 คน ได้เข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ ๆ และมีทักษะการใช้งานสื่อดิจิทัลแล้ว ยังอาจช่วยให้พวกเขามีสติ รู้ทัน และรอดพ้นจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรออนไลน์ที่แพร่ระบาดอย่างมากในปัจจุบันด้วย

คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า ถือเป็นการพัฒนาด้านการศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจของทางกรุงเทพมหานคร ภายใต้นโยบายเรียนดีของผู้ว่าฯ กทม.ท่านชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อยู่แล้ว เนื่องจากหลักสูตรดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายของ กทม. ที่มุ่งพัฒนาการเรียนการสอนของโรงเรียนในสังกัดให้มีความทันสมัยสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของโลกดิจิทัลและเทคโนโลยี

“ที่ผ่านมา นอกจากการพยายามให้เด็กเรียนรู้ และเข้าใจถึงความหลากหลาย ทั้งการแต่งกาย ทรงผม แล้ว ในด้านการเรียนการสอนก็เช่นกัน หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์นี้ ทาง กทม. จะเปิดให้แต่ละโรงเรียนสามารถออกแบบการเรียนการสอนได้เองว่าจะประยุกต์ใช้อย่างไร เช่น คุณครูอาจนำไปใช้ประกอบในวิชาที่เกี่ยวข้อง นำไปสอนเพิ่มในวันเสาร์ หรือสอนเพิ่มในตอนเย็น (ปัจจุบัน ทางโรงเรียนในสังกัด กทม. มีจัดคอร์สสอนเพิ่มในวันช่วงเย็น – วันเสาร์ให้กับบุคคลภายนอกได้เรียนรู้เพิ่มเติม) ได้ทั้งหมด และเราจะมีการถอดวิธีคิด ความสำเร็จที่โรงเรียนต่าง ๆ นำไปประยุกต์ใช้มาแบ่งปันให้โรงเรียนอื่น ๆ ได้ทราบด้วย”

ข้อดีของการเป็นหลักสูตรออนไลน์ก็คือความสามารถในการเพิ่มเติมเนื้อหาได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็วด้วย เห็นได้จากที่ผ่านมา AIS ได้มีการพัฒนาหลักสูตรสำหรับผู้สูงอายุขึ้นมาโดยเฉพาะ และนำไปใช้กับกลุ่ม OPPY (Old People Playing Young) มาแล้วเช่นกัน

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบว่า 2 อันดับแรกของภัยออนไลน์ที่พบได้มากในประเทศไทยคือ การติดเกม (Game Addict) และการกลั่นแกล้งกันทางอินเทอร์เน็ต (Cyberbullying) ซึ่งในส่วนของ AIS คุณสายชลยอมรับว่า การเดินทางของหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์จึงมีความท้าทายรออยู่อีกมาก เพราะจากตัวเลขผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตของไทยที่มีมากกว่า 60 ล้านคน การสร้างทักษะดิจิทัลให้คนไทยได้รู้เท่าทันมิจฉาชีพควรจะเป็นสิ่งที่ทำควบคู่กันไปกับตัวเลขเหล่านั้น

“เอไอเอสเราจะทำให้มากขึ้น รวมถึงการลงไปสำรวจกลุ่มตัวอย่างในภาคต่าง ๆ ว่า Before – After เป็นอย่างไร อัตราการถูกหลอกลวงลดลงไหม นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่วันนี้ เราได้ทำงานร่วมกับ กรุงเทพมหานคร เพื่อขยายผลหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ไปยังสถานศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั่นเอง”

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://sustainability.ais.co.th/th/sustainability-projects/thailands-cyber-wellness-index

Stay Connected
Latest News