โอกาสจาก Silver Economy ตลาดใหญ่ 900 ล้านล้านบาท ครอง 1 ใน 4 GDP โลก พร้อมส่อง 5 เทรนด์และธุรกิจที่ได้รับอานิสสงส์

ในปี 2582 สังคมโลกจะขยับเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society)  ทำให้ประชากรโลกราว 1 ใน 7 จะมีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ส่วนประเทศไทยนั้น คาดการณ์ว่าจะก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด” หรือ Super-Aged Society​ ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในปี 2572

แม้การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างสังคม แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า ‘เศรษฐกิจสูงวัย’ หรือ Silver Economy เพราะยังมีกลุ่ม Silver Gen ที่มีศักยภาพทางด้านการเงินและมีความพร้อมในการจับจ่ายใช้สอย

Krungthai COMPASS ระบุว่าใน​ปัจจุบันตลาด Silver Economy ทั่วโลกมีมูลค่าราว 26.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 880-900 ล้านล้านบาท) คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ประเทศไทยตลาด Silver Gen ปัจจุบันมีมูลค่า 1.9 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตถึง 2.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 12% ของ GDP ภายในปี 2573 หรือจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยจากนี้ราวปีละ 4.4%  จากการที่ประชากรสูงวัยของไทยที่อายุ 65 ปีขึ้นไป จะขยับสัดส่วนจาก 16% ในปี 2566 เป็น 21% ในปี 2573 ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนจาก Aged Society สู่ Super -Aged Society  นั่นเอง

สูงวัย ศักยภาพในการจ่ายก็สูง 

ชาว Silver Gen เป็นกลุ่มผู้บริโภคสำคัญของ Silver Economy เพราะถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและยังมีกำลังซื้อ โดย Euromonitor ​ประเมินแนวโน้มรายได้กลุ่มนี้ทั่วโลกจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 1.2% จาก 16,000-17,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2563 มาอยู่ที่ 20,000-22,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2583 จากการสะสมเงินตลอดวัยทำงาน หรือบางคนก็ยังทำงานอยู่ รวมทั้งรายได้เสริมต่างๆ ท้ังบำนาญ หรือผลตอบแทนจากการลงทุน ขณะเดียวกันยังนิยมชอปปิ้งออนไลน์ไม่แตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ  โดยพบว่า Silver Gen ทั่วโลกมีการซื้อสินค้าหรือบริการผ่านช่องทางออนไลน์ สูงถึง 46% ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของทุก Generation ที่ 51%

5 เทรนด์มาแรงจากกระแส Silver Gen 

เมื่อพิจารณาแนวโน้มค่าใช้จ่ายในแต่ละหมวดของ Silver Gen พบว่า 2 ใน 3 จะอยู่ใน 3 หมวดหลัก คือ อาหารและเครื่องดื่ม (27%) การพักผ่อนและการดูแลสุขภาพ (24%) และกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัย (13%) ​ทำให้มองเห็นโอกาสจาก 5 เทรนด์สำคัญ ต่อไปนี้

1. อาหารสำหรับผู้สูงอายุ (Food for Eldery) : ธุรกิจอาหารและร้านอาหารเพื่อดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ มีโอกาสกลายเป็น Segment ดาวรุ่ง​ จากการเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทย ซึ่งผู้ประกอบควรมีเมนูสำหรับผู้สูงอายุที่เน้นเรื่องสุขภาพควบคู่ไปกับเมนูปกติ

2. การท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ (Travel and Hospitality for the Silver Gen) : ชาว​ Silver Gen เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีเนวโน้มเติบโตทั้งในแง่ของระยะเวลาพัก และจำนวนเงินที่ใช้จ่าย ขณะที่ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของ​นักท่องเที่ยวทั่วโลกรวมทั้ง Silver Gen ด้วย หากภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันผลักดันให้ไทยเป็น Dream Destination ให้ Silver Gen จากทั่วโลกได้ จะช่วยสร้างรายได้เพิ่มไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท

3. การดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Medicine) : Future Market Insights ประเมินว่า​ตลาดการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันทั่วโลก มีแนวโน้มแตะระดับ 886.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 31.0 ล้านล้านบาท ในปี 2576 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 8.2%  ในช่วงตั้งแต่ปี 2565-2576 เพราะผู้สูงอายุส่วนใหญ่ต้องการมีชีวิตที่ยืนยาวไปพร้อมสุขภาพกายและใจที่ดี

4. ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Silver Residence) : ความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นทั้งในรูปแบบของการปรับปรุง/พัฒนาที่อยู่อาศัย ทั่วไปให้มีฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้สูงอายุ ตลอดจนการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ให้บริการดูแลด้านสุขภาพเป็นพิเศษ (Wellness Residence)

5. บริการทางการเงินเพื่อผู้สูงอายุ (Aged-Friendly Financial Service) : กลุ่ม Silver Gen เริ่มมีความกังวลมากขึ้นต่อการมีอายุที่ยืนยาว และส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้เริ่มมองหาตัวช่วยจาก​บริการทางกาารเงินต่างๆ โดยจะให้ความสำคัญกับบริการที่สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งเรื่องของความเสี่ยงที่ไม่สูงจนเกินไป เนื่องจากเป็นเงินเก็บก้อนสุดท้าย ขณะที่ให้ผลตอบแทนเพียงพอต่อการดำรงชีวิตและการดูแลตัวเองในอนาคต

ทั้งนี้ Krungthai COMPASS ประเมินโอกาสจาก 5 เทรนด์ดังกล่าว พบธุรกิจที่จะได้รับอานิสสงส์จากเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นนี้ ท้ังในกลุ่ม First Wave ที่จะได้รับอานิสสงส์โดยตรงในระลอกแรก เช่น ธุรกิจผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับผู้สูงอายุ ธุรกิจโรงแรมและนำเที่ยว ธุรกิจด้านสุขภาพและความงาม และธุรกิจสำหรับที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ ​รวมทั้งกลุ่ม Second Wave ที่จะได้รับอานิสสงส์ในระลอกที่ 2 หรือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของเจนเนอเรชันต่อไป ซึ่งปัจจุบันอายุราวๆ 35-50 ปี ซึ่งมีแนวโน้มใช้ชีวิตลำพังมากขึ้น ซึ่งธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์ในระลอกนี้ เช่น ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจสัตว์เลี้ยง ธุรกิจเดลิเวอรี่รูปแบบต่างๆ และธุรกิจบ้านพักผู้สูงอายุ เป็นต้น​

Stay Connected
Latest News