ถ้อยแถลงแรกนายกรัฐมนตรีไทย บนเวทีโลก ‘SDG Summit 2023’ มุ่งมั่นขับเคลื่อนความยั่งยืน โดยมีประชาชนและโลกเป็นศูนย์กลาง

การประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 2023 (SDG Summit 2023) ณ​ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ (UNGA78) นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา​ ​ระหว่างวันที่ 18 -19 กันยายน 2566 พร้อมถ้อยแถลงแรกของนายกรัฐมนตรีประเทศไทย ประกาศความมุ่งมั่นขับเคลื่อน “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (SDGs) พร้อมเสริมสร้างกรอบความร่วมมือพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ และบทบาททางการเงินระหว่างประเทศให้เข้มแข็ง

คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง​ ประกาศถ้อยแถลงแรกต่อเวทีโลก ในการประชุม SDG Summit 2023 โดยเน้นย้ำเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการให้ความสำคัญที่จะดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนตามกรอบของสหประชาชาติ (SDGs) ในปี 2030 ซึ่งปัจจุบันขับเคลื่อนมาได้ครึ่งทางของวาระ และกำลังก้าวเข้าสู่​ทศวรรษแห่งการลงมือทำ (Decade of Action)​ โดยได้ประกาศจุดยืนของประเทศ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่าน ดังต่อไปนี้

1. สำหรับการขับเคลื่อนภายในประเทศ  ได้​กำหนดบทบาทและแนวทางการเปลี่ยนผ่าน เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (ESG)​ ด้วยการขับเคลื่อนแบบมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง พร้อมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนโยบายเศรษฐกิจ BCG มาเป็นแนวทางในการเพื่อขับเคลื่อน SDGs รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน

2. มุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (Leave no one behind) ผ่านหลักการไปให้ถึงและช่วยเหลือกลุ่มที่รั้งท้ายก่อน (reaching those furthest behind first) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และลดความยากจนของคนทุกช่วงวัย ภายในปี ​2027

3. ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศสำหรับประชากรทุกคนในประเทศ รวมถึงให้ความสำคัญกับสิทธิด้านสุขภาพ ซึ่งประเทศไทยมีมาตรการที่สำคัญ ๆ เช่น ตั้งเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ (Health impoverishment) ให้เหลือไม่เกิน​ 0.25% ภายในปี ​2027

4. ผลักดันร่วมมือกับหุ้นส่วนความร่วมมือทุกระดับ ในการดำเนินการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงบริการพลังงานสมัยใหม่ (modern energy services) ในราคาที่เหมาะสมและมีความน่าเชื่อถือ โดยตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2030

Credit : UN Photo

5. ด้านการขับเคลื่อนร่วมกับนานาประเทศ เน้นการทำงานเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์ เพื่อเสริมสร้างระบบพหุภาคี ให้สามารถก้าวข้ามความท้าทายและสามารถ​บรรลุสู่เป้าหมาย SDGs 2030 ได้

6. สนับสนุนข้อเรียกร้องของของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ในการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศในการกำหนดมาตรการกระตุ้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Stimulus) เป็นจำนวนเงิน 500,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จนถึงปี 2030 เพื่อลดช่องว่างด้านเงินทุนในการขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน ทั้งแหล่งทุน และเครื่องมือในการเข้าถึงแหล่งทุนต่างๆ  โดยมีการดำเนินการต่อไปนี้

– สนับสนุนมาตรการทางการเงินที่สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจสีเขียว เช่น ​Green Bond หรือ Thailand Green Taxonomy เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน หรื​อ​การกระตุ้น​หรือกำหนดกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้วงเงิน 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

–  ภาคธุรกิจของไทยมากกว่า 100 บริษัท ที่อยู่ในสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand: GCNT) ได้ให้การตอบรับ พร้อมประกาศเจรตนารมณ์ในการลงทุนจำนวน 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ​​ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายในปี ​2030

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีหวังว่า การประกาศความมุ่งมั่นของไทยในเรื่องดังกล่าวจะสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่พร้อมร่วมมือกับทุกฝ่ายในการมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ เพื่อประชาชนและโลกที่ดีขึ้นต่อไป

Stay Connected
Latest News