อาลีบาบา คลาวด์ พัฒนา AI ช่วยสร้างพฤติกรรมรักษ์โลก พร้อมเพิ่มความเท่าเทียมได้มากขึ้น ในเอเชียนเกมส์ ที่หางโจว

อาลีบาบา คลาวด์ พัฒนา AI เป็นเครื่องมือสร้างพฤติกรรมรักษ์โลก และเพิ่ม​ความเท่าเทียม ภายในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ที่หางโจวเกมส์ ผ่านการพัฒนาแอปพลิเคชัน ‘Energy Expert’ และ​​ดิจิทัลอวตาร์เสี่ยวโม (Xiaomo) เพื่อช่วยผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินสามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่และคนทั่วไปได้

อาลีบาบา คลาวด์ ใช้เทคโนโลยี AI เปลี่ยนเอเชียนเกมส์ ที่เมืองหางโจว ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งของอาลีบาบา ให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น พร้อม​ลดความเหลื่อมล้ำได้มากขึ้น

โดยได้เปิดตัว แอปพลิเคชันเพื่อความยั่งยืน เพื่อส่งเสริมให้​เกิดพฤติกรรม Eco-friendly ภายในหมู่บ้านนักกีฬาทั้ง 3 แห่ง รวมทั้งพัฒนาล่ามภาษามือเพื่อช่วยเหลือให้กลุ่มที่มีความบกพร่องทางการได้ยินสามารถเข้าถึงการแข่งขันกีฬาในคร้ังนี้ได้อย่างเท่าเทียมกันทุกคน ทั้งเอเชียนเกมส์ ที่จะจัดขึ้นมาตั้งแต่ 23 กันยายน ไปจนถึง 8 ตุลาคม 2566 นี้ รวมทั้งในเอเชียนพาราเกมส์ ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม ซึ่งจัดขึ้นที่หางโจวเช่นกัน

ทั้งนี้ ทางอาลีบาบาคลาวด์ ได้พัฒนา แอปพลิเคชัน ที่ใช้ระบบสะสมแต้มในรูปแบบคาร์บอนพอยท์​ เพื่อมอบรางวัลให้กับนักกีฬา ผู้สื่อข่าว รวมทั้งเจ้าหน้าที่ภายในหมู่บ้านนักกีฬา ช่วยกระตุ้นพฤติกรรมในการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ​เช่น ไม่ใช้ถุงพลาสติกเมื่อไปซูเปอร์มาร์เก็ต หรือรับประทานที่ห้องอาหารจนหมดจานเพื่อไม่สร้างขยะอาหาร และสามารถถ่ายรูปจานที่ไม่มีอาหารเหลือเพื่อนำไปสะสมคะแนน เป็นต้น เมื่อทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็น Low-carbon ก็จะสามารถสแกน QR code เพื่อร่วมรายการสะสมคาร์บอนพอยท์ และนำไปแลกของรางวัลเป็นเข็มกลัดลิมิเต็ดเอดิชันที่ระลึกเอเชียนเกมส์ หรือสินค้าคาร์บอนต่ำต่างๆ  ได้ภายในร้านที่อยู่ในหมู่บ้านนักกีฬา

ตามรายงานของ the Chinese Academy of Sciences ที่ตีพิมพ์ในปี 2021 พบว่า การปล่อยคาร์บอนจากการผลิตและบริโภคสินค้าและบริการจากครัวเรือน มีสัดส่วนถึง 53% ของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดในจีนตลอดทั้งปี 2019  อาลีบาบาคลาวด์ จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม AI ชื่อ ‘Energy Expert’​ เพื่อช่วยลดการสร้างคาร์บอนที่จะเกิดจากเอเชียนเกมส์ ผ่านร้านค้าต่างๆ ที่ได้รับสิทธิ์การผลิตสินค้าลิขสิทธิ์ของเอเชียนเกมส์ รวมไปถึงการบริหารจัดการ​ของร้านค้าต่างๆ ที่อยู่ภายในหมู่บ้านนักกีฬา

พร้อมนำระบบของ Energy Expert มาช่วยบริหารจัดการปริมาณคาร์บอนฟุตพรินท์​อย่างเหมาะสม เช่น นำไปใช้กับผู้ผลิตมาสคอตหางโจว เอเชียนเกมส์ ผ่านการคำนวณด้วยแบบจำลองจากปัจจัยและชุดข้อมูลต่างๆ ไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนการผลิต รวมทั้งแนะนำให้โรงงานต่างๆ เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตมากขึ้น ซึ่ง Energy Exper สามารถช่วยลดคาร์บอนฟุตพรินท์ในการผลิตมาสคอตแต่ละตัวลงได้ราว 1 ใน 3 หรือลดลง 0.15 กิโลกรัมต่อชิ้น

โดยพบว่า ตั้งแต่เริ่มเปิดหมู่บ้านนักกีฬามาเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2566 แพลตฟอร์มแห่งความยั่งยืนอย่าง​ Energy Expert มีผู้เข้าร่วมแล้วกว่า 3.1 แสนคน และสามารถลดการปล่อยคาร์บอนลงได้กว่า 7 ตัน จากการชับเคลื่อนกิจกรรมคาร์บอนต่ำต่างๆ ภายในการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งนี้

นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาดิจิทัลอวตาร์ ชื่อ เสี่ยวโม (Xiaomo) ที่สามารถทำงานได้ 2 ฟังก์ชัน ทั้งการใช้ภาษามือ รวมทั้งพูดภาษาจีน เพื่อช่วยสื่อสารให้กับผู้ที่มีปัญหาในการได้ยิน ในการเข้าร่วมเอเชียน พาราเกมส์ ซึ่งจัดขึ้นในหางโจวเช่นเดียวกัน

ซึ่งผู้มีปัญหาทางการได้ยิน สามารถเข้าถึงเสี่ยวโมได้ผ่านมินิแอป ที่อยู่ในแพลตฟอร์มชำระเงินของอาลีเพย์ ซึ่งจะมีอัลกอริธึมในการจดจำภาพและท่าทางการเคลื่อนไหว เพื่อช่วย​ทำให้ดิจิทัลอวตาร์แปลจากภาษามือมาเป็นการพูดสื่อสารผ่านภาษาจีนสำหรับช่วยให้ผู้ใช้ภาษามือสามารถสื่อสารกับคนทั่วไปได้อย่างสะดวกมากขึ้น

เสี่ยวโมยังสามารถแปลจากภาษาพูดกลับมาเป็นภาษามือ ที่ขับเคลื่อนด้วย Deep Tech ด้านโครงข่ายประสาทเทียม จากการรวบรวมชุดข้อมูลการแปลภาษามือของจีน ที่ทางอาลีบาบาคลาวด์รวบรวมมากว่า 2 ปี และมีคลังสะสมไว้มากกว่า 25,000 ท่าทางเพื่อนำมาแปลเป็นภาษามือในการสื่อสาร ภายใต้การดูแลด้านการอธิบายความหมายสัญลักษณ์ต่างๆ โดยผู้ใช้ภาษามือและผู้มีความบกพร่องทางการได้ยินในมณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน

ซึ่งในระหว่างการแข่งขันเอเชียน พาราเกมส์ที่หางโจว จะมีผู้มีปัญหาทางการจะสามารถใช้มินิแอปเพื่อสื่อสารกับอาสาสมัครเพื่อขอความช่วยเหลือต่างๆ ได้ เช่น การสอบถามเส้นทาง การขอรับการปฐมพยาบาล หรือการไปช้อปปิ้งของจำเป็นต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ​รวมทั้งยังใช้เสี่ยวโมมาช่วยอธิบายการแข่งขันกีฬาประเภทต่างๆ ให้ผู้มีปัญหาในการได้ยินสามารถร่วมลุ้นไปพร้อมกันได้

มินิแอปนี้ ไม่เพียง​มีประโยชน์​แค่ในระหว่างการแข่งขันเอเชียนเกมส์เท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตประจำวันของผู้บกพร่องทางการได้ยินเพื่อร้องขอบริการสาธารณะต่างๆ ได้ด้วย เช่น การช่วยเหลือปฐมพยาล หรือการเข้าถึงบริการด้านข้อกฏหมาย หรือบริการทางการเงินต่างๆ เป็นต้น ซึ่งตามรายงานขององค์กรอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า มีประชากรมากกว่า 1,500 ล้านคน หรือเกือบ 20% ของประชากรโลกที่มีปัญหาในการสูญเสียการได้ยิน

 

Stay Connected
Latest News