สภาพอากาศแปรปรวน กระทบต้นทุนช่วงเทศกาลกินเจ ราคาผักปรับขึ้น 3% ราคาข้าวขึ้น 10% ส่งผลคนลดจำนวนวันกินเจลง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เม็ดเงินค่าใช้จ่ายของคนกรุงเทพฯ ช่วงเทศกาลกินเจปี 2566 น่าจะอยู่ที่ 3,100 ล้านบาท หรือขยายตัว 3.5% จากราคาอาหารเจที่​ปรับสูงขึ้นเฉลี่ย 2.5% เมื่อเทียบกับเทศกาลกินเจปีก่อน และจำนวนคนกินเจที่เพิ่มขึ้น จากความนิยมอาหารเพื่อสุขภาพและการกลับมาใช้ชีวิตปกติ โดยคาดว่าปริมาณการบริโภคอาหารเจโดยรวม น่าจะเติบโตขึ้นราว 1%

โดยคาดว่าช่วงเทศกาลกินเจในกรุงเทพฯ แต่ละปีจะมีคนกินเจไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคนต่อปี โดยในปี 2566 นี้ จะเริ่มขึ้นในวันที่ 15 -23 ต.ค. 2566 รวมเวลา 9 วัน ซึ่งทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ราคาอาหารเจในปีนี้จะยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ตามต้นทุนการผลิตอาหารเจหลายรายการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลกินเจปีก่อนหน้า  ประกอบด้วย

– กลุ่มวัตถุดิบอาหารเจบางกลุ่ม เช่น ผักบางชนิด (อาทิ คะน้า ฟักทอง เต้าหู้) และข้าว จากสภาพอากาศที่แปรปรวน รวมทั้งมีฝนตกหนักและน้ำท่วมบางพื้นที่ ทำให้กระทบผลผลิต รวมทั้งกลุ่มโปรตีนเกษตรที่จะปรับตัวขึ้นตามความต้องการที่มากขึ้น โดยคาดว่าแนวโน้มราคาผักจะขยับขึ้นไม่ต่ำกว่า 3% ขณะที่ราคาข้าวจะปรับขึ้นมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลปีก่อน

– ราคาพลังงานและสาธารณูปโภคที่ยังอยู่ในระดับสูง แม้ภาครัฐจะมีมาตรการลดราคาพลังงาน อาทิ ตรึงราคา​ขายปลีกก๊าซหุงต้ม และน้ำมันดีเซล รวมถึงปรับลด​ตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) แต่เมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลกินเจปีก่อน ราคาเชื้อเพลิงเหล่านี้ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่อาจส่งผลต่อราคาเชื้อเพลิงในอนาคต

ทั้งนี้ จากทิศทางราคาอาหารเจที่จะปรับสูงขึ้นตามแนวโน้มเงินเฟ้อของหมวดอาหาร ทั้งที่บริโภคในบ้านและนอกบ้าน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลกินเจ ทำให้คนกรุงเทพฯ ที่แม้จะมีการกินเจเพิ่มมากขึ้น แต่บางส่วนก็ปรับลดจำนวนวันลง เพื่อสามารถควบคุมงบประมาณค่าใช้จ่ายตลอดเทศกาล

สำหรับจำนวนคนกินเจในกรุงเทพฯ ปีนี้อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนหน้า (ราว 38% ของผู้ตอบแบบสอบถาม) รวมทั้งการกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติทำให้เอื้อต่อการออกไปเลือกบริโภคได้สะดวกมากกว่าปีก่อนๆ โดยเหตุผลสำคัญในการกินเจยังมาจากเรื่องของความนิยมการดูแลสุขภาพที่ขยายตัว รองลงมา คือต้องการลดละกิเลส รวมถึงการมีวิถีชีวิตในแบบวีแกนอยู่เป็นประจำ โดยมีเทศกาลกิเจเป็นหนึ่งในอีเวนต์ที่เข้ามาช่วยเพิ่มอัตราการบริโภคได้มากขึ้นกว่าช่วงเวลาปกติ แต่ด้วยราคาคาอาหารเจที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับความกังวลต่อค่าครองชีพที่สูง และกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ทำให้ส่วนใหญ่มีการวางแผนและปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายเพื่อสามารถควบคุมงบประมาณได้ตลอดทั้งเทศกาล โดยมีแนวทาง อาทิ

– พยายามปรับลดจำนวนวันที่กินเจลง จากเฉลี่ย 4.5 วัน ในปีก่อน ลงมาอยู่ที่ 4.0 วัน ในปี นี้(จากจำนวนวันกินเจทั้งหมด 9 วัน) และควบคุมไม่ให้ค่าใช้จ่ายสูงเกินไป เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณมื้อละ 133 บาท จากปีก่อนที่เฉลี่ยอยู่ที่มื้อละ 129 บาท (รวมของทานเล่น เช่น ขนมขบเคี้ยว ผลไม้เครื่องดื่ม ฯลฯ)

– ผู้บริโภคมักเลือกทานอาหารสำเร็จรูปจากร้านอาหารข้างทางแบบตักขาย หรือนั่งทานในร้าน มากกว่าซื้อมาทำเอง เพราะประหยัดและสะดวกกว่า รวมทั้งเลือกใช้บริการช่องทางการจำหน่ายอาหารเจที่มีระดับราคาไม่สูงมาก โดยคาดว่า ช่องทางออนไลน์และเดลิเวอรี่จะเติบโตต่อเนื่อง เพราะตอบโจทย์เรื่องความสะดวก รวดเร็ว อีกทั้งยังสามารถเทียบราคา โปรโมชั่น สิทธิประโยชน์ได้ จากจำนวนเมนูร้านค้าและพันธมิตรทางการค้าที่เข้าร่วมในแต่ละแพลตฟอร์ม

 

Stay Connected
Latest News