‘สินนท์ ว่องกุศลกิจ’ นั่ง CEO ‘บ้านปู’ สานต่อ​ Greener & Smarter มุ่งทศวรรษที่ 5 ต่อยอดอนาคตพลังงานที่ยั่งยืน สู่ Decarbonization Company

คณะกรรมการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ​มีมติแต่งตั้ง คุณสินนท์ ว่องกุศลกิจ ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) แทน คุณสมฤดี ชัยมงคล เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งจะมีผลในวันที่ 2 เมษายน 2567 เป็นต้นไป ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและสรรหา 

โดยการสรรหาและแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของบริษัทบ้านปู เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติการกำกับดูแลกิจการที่ดี ​สะท้อนถึงความพร้อมและความเชื่อมั่นของบริษัทฯ ในการเปลี่ยนผ่านผู้นำองค์กร (Leadership Transformation) คณะกรรมการฯ ยังได้กำหนดแนวทางและวางแผนพัฒนาผู้สืบทอดตำแหน่งสำคัญ (Succession Planning and High Performance Management) เพื่อขับเคลื่อนองค์กรในช่วงการเปลี่ยนผ่านธุรกิจ (Business Transformation) มาอย่างต่อเนื่อง

คุณสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คุณสินนท์ ว่องกุศลกิจ ร่วมงานกับ​บ้านปูมามากกว่า 10 ปี โดยได้รับผิดชอบดูแลด้านการพัฒนาแผนกลยุทธ์ โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านธุรกิจตามกลยุทธ์ Greener & Smarter และเป็นผู้บุกเบิกในการนำบ้านปู เพาเวอร์ เข้า IPO ในปี 2016 รวมทั้งการเข้ามา​มีบทบาทสำคัณในการขับเคลื่อนกลุ่มธุรกิจ Energy Technology มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมการดำรงตำแหน่ง CEO ของบ้านปู เน็กซ์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มธุรกิจสำคัญของบ้านปูในการเปลี่ยนผ่าน​สู่กลุ่มธุรกิจพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์ด้านพลังงานที่สำคัญระดับโลก

“คุณสินนท์ เป็นคนหนุ่มไฟแรง ที่มี Passion แรงกล้าในการขับเคลื่อนบ้านปู ไปสู่การเป็น Decarbonization Company รวมทั้งการขับเคลื่อนองค์กรไปพร้อมความท้าทายใหม่ๆ ของโลก เช่น Digitalization, Gen AI พร้อมทั้งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Corporate Venture Capital (CVC) อีกหนึ่งฟังก์ชันสำคัญที่ช่วย​สร้างโอกาสและการเติบโตใหม่ๆ ให้ท้ังบ้านปู เน็กซ์ รวมทั้ง​​บ้านปู กรุ๊ป โดยปัจจุบันคุณสินนท์ ได้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่ง Senior Vice President ในบ้านปู เพื่อเตรียมพร้อมการเปลี่ยนผ่านงานเพื่อ​ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งซีอีโอ ในวันที่ 2 เมษายน 2567 ตามมติคณะกรรมการบริษัท โดยเชื่อมั่นว่า คุณสินนท์จะสามารถเป็นแม่ทัพคนใหม่ ที่มีความสามารถในการนำบ้านปูไปสู่ Greener & Smarter และ ESG Company ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้อย่างแข็งแกร่งต่อไป”

มุ่งขับเคลื่อน Decarbonization Company 

คุณสินนท์ ว่องกุศลกิจ  ว่าที่ CEO คนใหม่ บ้านปู กล่าวว่า ทิศทางการขับเคลื่อนบ้านปูจากนี้ไป จะมุ่งเน้นเรื่องของ Decarbonization และ Digitalization โดยเฉพาะการนำ AI เข้ามาช่วยเสริมศักยภาพในทุกธุรกิจที่มีอยู่ทั้ง 3 กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น Energy Resources, Energy Generation และ Energy Technology ขณะที่ทิศทางในการลงทุน จะเน้นในกลุ่มที่สามารถเพิ่มความแข็งแกร่งในการสร้างกระแสเงินสด หรือ Cash Flow ให้กับธุรกิจได้เพิ่มมากขึ้นในกลุ่มเหมือง และโรงไฟฟ้า ขณะเดียวกันในกลุ่มเทคโนโลยี​ จะเน้นการ​เติมเต็มศักยภาพในฐานะ Net Zero Solutions Provider ของบ้านปู เน็กซ์ รวมทั้งการลงทุนในกลุ่ม Climate Tech ของ CVC เพื่อยกระดับสู่ Greener & Smarter ได้ตลอดทั้งห่วงโซ่ของธุรกิจพลังงาน​ โดยเตรียมเม็ดเงินลงทุนตลอดทั้งปีไว้ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับปีที่ผ่านมา

“เป้าหมายการขับเคลื่อนธุรกิจของบ้านปูจากนี้ จะมุ่งเน้น​การเพิ่มศักยภาพให้ธุรกิจเดิมที่มีอยู่แล้ว ทั้งการลดต้นทุน เพิ่มความสามารถในการทำกำไรและสร้างกระแสเงินสดได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ​ ทั้งในกลุ่มธุรกิจเหมือง ไฟฟ้า และ Renewable ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ทางบ้านปูมีฐานธุรกิจอยู่​ ไม่ว่าจะเป็น​อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย จีน และสหรัฐอเมริกา ซึ่งล้วนแต่มีโอกาสในการเติบโตได้ในระดับสูง  และสามารถซินเนอร์จี้ทรัพยากร หรือเทคโนโลยีต่างๆ ระหว่างกัน รวมทั้งสานต่อกลยุทธ์ Greener & Smarter ในฐานะ Key Player ของอุตสาหกรรมในการทรานสฟอร์มไปสู่พลังงานที่ยั่งยืนมากขึ้น” ​

​สำหรับ​ผลประกอบการในปี 2566 กลุ่มบริษัทบ้านปูรายงานผลกำไรสุทธิจำนวน 160 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 5,343 ล้านบาท) โดยมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) รวม 1,562 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 54,361 ล้านบาท)​ ขณะที่ความคืบหน้าสำคัญของธุรกิจแต่ละกลุ่ม มีดังต่อไปนี้

กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน (Energy Resources)

ธุรกิจเหมือง คงความสามารถในการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถสร้างกระแสเงินสดได้อย่างแข็งแกร่ง

– ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ แม้ว่าราคาก๊าซจะไม่เอื้ออำนวย แต่บริษัทฯ สามารถปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานและการผลิตให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และบริหารจัดการต้นทุน เพื่อคงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังมีความคืบหน้าในโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ในสหรัฐอเมริกา ที่เริ่มดำเนินการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เรียบร้อยแล้ว โดยบ้านปูถือเป็นผู้ผลิตก๊าซรายใหญ่ในเท็กซัส และเป็นรายแรกในเทคโนโลยี CCUS ซึ่งในอนาคตมีแผนจะพัฒนา​ Net Zero Gas เพื่อทำตลาดในกลุ่มพรีเมียม เพิ่ม Advantage ให้ธุรกิจได้มากขึ้น

กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน (Energy Generation)

– ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน มีผลการดำเนินงานที่ดีจากการรักษาประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าได้อย่างมั่นคง โดยโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple I และ Temple II ในสหรัฐฯ รายงานผลการดำเนินงานที่ดีจากความต้องการใช้ไฟฟ้าที่สูงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้อานิสงส์จากราคารับซื้อไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงวิกฤตคลื่นความร้อนในรัฐเท็กซัส ในขณะที่โรงไฟฟ้าเอชพีซี (HPC) ในประเทศลาว โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ในประเทศไทย และโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (Shanxi Lu Guang: SLG) ในประเทศจีน สามารถเดินเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) ในระดับสูง

– ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน มีกำลังผลิตรวมจากพลังงานหมุนเวียน 870 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในทุกประเทศต่างมีผลการดำเนินงานที่ดีจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและค่าความเข้มของแสงที่สูง

กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน (Energy Technology)

–  ธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (Battery & Energy Storage System Solutions: BESS) จะลงทุนตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจแบตเตอรี่ ตั้งแต่การผลิต ไปจนถึงการรีไซเคิลแบตเตอรี่ ​อาทิ การลงทุนในโครงการฟาร์มแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ กำลังกักเก็บพลังงานไฟฟ้า 58 เมกะวัตต์ ที่เมืองโตโนะ (Tono) จังหวัดอิวาเตะ (Iwate) ในประเทศญี่ปุ่น และการลงทุนในบริษัท เอส โวลต์ เอเนอร์จี้ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อร่วมกันพัฒนา ผลิต และจัดจำหน่ายแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ยานยนต์ 2 ล้อ และ 3 ล้อ รวมไปถึงระบบกักเก็บพลังงาน การรีไซเคิลแบตเตอรี่ และบริการด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยจัดตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในจังหวัดชลบุรี กำลังผลิตราว 2 กิกะวัตต์ชั่วโมง

– ธุรกิจพัฒนาเมืองอัจฉริยะและจัดการพลังงาน (Smart Cities & Energy Management) มีความคืบหน้าสำคัญ โดยบริษัท บีเอ็นเอสพี สมาร์ท เทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บ้านปู เน็กซ์  กับเอสพี กรุ๊ป ผู้ให้บริการระบบสาธารณูปโภคด้านพลังงานแห่งชาติในสิงคโปร์และเอเชีย-แปซิฟิก ได้รับคัดเลือกให้ดำเนินการออกแบบ พัฒนา และบริหารจัดการระบบผลิตความเย็นจากส่วนกลาง (District Cooling System) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โซนซี

– ธุรกิจอีโมบิลิตี้ (E-Mobility) ยังขยายการให้บริการระบบสัญจรทางเลือกแบบครบวงจรในรูปแบบ Mobility as a Service (MaaS) และการบริหารการเดินทางและขนส่งด้วยยานพาหนะไฟฟ้า(EV Fleet Management) เพื่อส่งเสริมการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีจุดบริการไรด์ แชร์ริ่ง 2,500 จุด, คาร์แชร์ริ่งกว่า 1,500 จุด, สถานีชาร์จกว่า 300 สถานีและจุดบริการหลังการขายรถยนต์ไฟฟ้า 20 แห่ง

“ทิศทางธุรกิจในปี 2567  ยังมุ่ง​เสริมสร้างความแข็งแกร่งของทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ต่อยอดประโยชน์สูงสุดจาก Banpu Ecosystem เพื่อทำให้บ้านปูเป็นผู้นำในธุรกิจพลังงานที่สามารถส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืนและตอบโจทย์ความต้องการด้านพลังงานของโลกในอนาคต ภายใต้การนำทัพของผู้บริหารรุ่นใหม่ที่มีความสามารถและความมุ่งมั่นเต็มเปี่ยม พร้อมการสนับสนุนอย่างแข็งแกร่งจากคณะผู้บริหารของกลุ่มบ้านปูทั้งหน่วยธุรกิจและหน่วยสนับสนุน จะสามารถนำบ้านปูไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างแน่นอน”  คุณสมฤดี  กล่าวปิดท้าย

Stay Connected
Latest News