เวทีเสวนา ‘Sustainable Green Finance โอกาส และความท้าทาย‘ โดยเดลินิวส์ ‘Sustain Daily Talk 2025’ ร่วมฉายภาพมุมมองการเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน โดยเฉพาะมิติ Green Finance หรือผลิตภัณฑ์การเงินสีเขียว ซึ่งถิอเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อน เพื่อพาไปสู่การเติบโตที่แท้จริง
งานเสวนาครั้งนี้ ร่วมแชร์มุมมองทั้งจากนโยบายภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อสะท้อนให้เห็นโอกาส และความท้าทายในการเปลี่ยนผ่าน โดยเฉพาะการมีเงินทุนจาก Green Finance เข้ามาสนับสนุน และถือเป็นเครื่องยนต์ที่สำคัญทางเศรษฐกิจ ที่สามารถผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านให้เกิดขึ้นได้จริง
คุณเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวปาฐกถาพิเศษ ‘เพิ่มขีดความสามารถ อุตสาหกรรมไทยด้วยการเงินสีเขียว-พลังงานสะอาด’ ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว คือ การขาดเงินทุน เพราะทุกการเปลี่ยนแปลงจำเป็นต้องอาศัยเม็ดเงินในการลงทุน ทั้งจากตลาดหลักทรัพย์ในการระดมทุน เพื่อสร้างให้เกิดแต้มต่อในการขับเคลื่อนธุรกิจ รวมทั้งบริการจากธนาคารเอกชน ธนาคารรัฐ หรือธนาคารเฉพาะกิจต่างๆ
ขณะที่สภาพแวดล้อมธุรกิจในปัจจุบันตกอยู่ในความไม่แน่นอน ทั้งจากสงครามการค้า ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ และสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะประเด็นสงครามการค้าที่เริ่มรุนแรงมากขึ้น หลังการกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ และมีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศคู่ค้า ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกตกอยู่ในความผันผวน เป็นสัญญาณที่จำเป็นต้องนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกบริบท
“ภัยธรรมชาติเริ่มขยับมาอยู่ใกล้ตัวเรามากขึ้น เช่น แผ่นดินไหว ที่รุนแรงจนทำให้เกิดตึกถล่ม พร้อมสะท้อนว่าเรายังไม่มีความพร้อมในการรับมือต่อภัยธรรมชาติเท่าที่ควร เป็นการส่งสัญญาณว่าถึงเวลาที่ต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจ เพราะระบบเศรษฐกิจของประเทศทุกวันนี้ ยืนอยู่บนขาที่ไม่มีความแข็งแรง จึงต้องมีการปรับเปลี่ยน และจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยน ต้องเริ่มจากการมีความเข้าใจ และการปรับทัศนคติที่ถูกต้อง ที่สำคัญคือต้องมีเงินทุนเข้ามาช่วยขับเคลื่อนด้วย”
นอกจากนี้ ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการเปิดรับเทคโนโลยี หรืออุตสาหกรรมที่ไม่มีความเป็นมิตรต่อส่ิงแวดล้อม เกิดจากระบบการผลิตที่ไม่มีธรรมาภิบาล ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จากการให้โอกาสธุรกิจที่ไม่มีคุณภาพ และไม่มีการเข้าไปกำกับดูแลอย่างถูกต้อง จนเป็นสาเหตุให้กลุ่มธุรกิจศูนย์เหรียญ หรือธุรกิจสีดำ สีเทา เข้ามาบ่อนทำลายผู้ประกอบการไทย ทั้งรายใหญ่ หรือเอสเอ็มอีได้ในที่สุด
คุณเอกนัฏ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันฉากทัศน์ทางเศรษฐกิจท่ัวโลกเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้เกณฑ์การแข่งขันทางการค้าไม่ได้เน้นการผลิตจำนวนมาก เพื่อให้ธุรกิจมีต้นทุนที่ถูกที่สุด แต่แต้มต่อในวันนี้จำเป็นต้องมองในมิติสิ่งแวดล้อม และคุณภาพของสินค้าเป็นเรื่องสำคัญด้วย การส่งเสริมการลงทุนต่างๆ ต้องประเมินว่าการลงทุนแบบไหนที่เป็นการลงทุนที่ดี ช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ประเทศ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศ ช่วยให้ประเทศขายของได้มากขึ้น ช่วยให้คนไทยเก่งขึ้น มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือส่งเสริมนวัตกรรมต่างๆ เพิ่มมากขึ้น จึงสมควรที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เข้ามาลงทุนภายในประเทศ
“ที่ผ่านมาเราเปิดประตูโดยไม่ได้ติดตามว่าคนที่เข้ามาลงทุน เข้ามาทำอะไร จึงต้องทบทวนการส่งเสริมการลงทุน อย่างรอบด้านมากขึ้น ทั้งการสร้างมูลค้าให้ระบบเศรษฐกิจ หรือเป็นประโยชน์ต่อคนไทยมากน้อยอย่างไร เพราะช่วยป้องกันการทะลักเข้ามาของสินค้าคุณภาพต่ำ หรือธุรกิจศูนย์เหรียญ ที่เข้ามาสร้างปัญหาต่อผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอย่างถูกต้อง การบริหารจัดการให้ธุรกิจสีดำ หรือสีเทาหมดไปจากประเทศ จะเพิ่มโอกาสต้อนรับอุตสาหกรรมสีขาว ผู้ที่ทำธุรกิจอย่างโปร่งใส และมีธรรมาภิบาล ตั้งใจมาลงทุนเพื่อพัฒนาให้ภาคเศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโต แต่ที่ผ่านมาต้องเสียโอกาสจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม หรือการฟอกเงิน จากการทำผิดกฏหมาย เป็นอุปสรรคในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย จากแต้มต่อที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้ ทำให้เกิดความสูญเสียในระบบเศรษฐกิจ ทั้งในเชิงมูลค่าทางเศรษฐกิจ รวมท้ังยังสร้างปัญหาต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในที่สุดด้วย”
ทั้งนี้ การส่งเสริมธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ใส่ใจสังคม และมีธรรมาภิบาล จะส่งผลเชื่อมโยงมาสู่การขับเคลื่อนเงินทุนในกลุ่ม Sustainable Green Finance เพื่อช่วยเพิ่มแต้มต่อให้อุตสาหกรรมไทยในการทำธุรกิจที่มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย ขณะที่ธุรกิจศูนย์เหรียญจะมองข้ามความรับผิดชอบเหล่านี้ นอกจากการลดต้นทุน ลดคุณภาพ ทำให้ได้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ และเกิดปัญหาเมื่อนำไปใช้โดยไม่รับผิดชอบ หรือไม่มีระบบการจัดการของเสียในกระบวนการผลิตอย่างถูกต้อง และมีกระบวนการในการลักลอบนำขยะของเสียเข้าประเทศ การปลอมแปลงเอกสาร ทำให้ไทยกลายเป็นกองขยะโลก เป็นทางผ่านของธุรกิจสีเทา ที่มองว่าของเสีย หรือกากอุตสาหกรรมเป็น New Currency เป็นสกุลเงินใหม่ ที่สร้างรายได้ จากการสกัดของดีหรือแร่ที่มีราคา จากขยะอุตสาหกรรมไปขาย และทิ้งขยะ ทิ้งมลพิษ ทิ้งของเสียไว้ในประเทศ สร้างภาระให้รัฐบาลต้องคอยจัดการ และพบลักษณะธุรกิจที่เชื่อมโยงกับกลุ่มทุนในลักษณะนี้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในหลายๆ อุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก พลาสติก ยาง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เป็นต้น
“หากเราเสพติดของถูก ที่ด้อยคุณภาพ นอกจากกระทบธุรกิจ ยังอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพคนในประเทศ เป็นการทำลายระบบเศรษฐกิจของประเทศ เหมือนปัจจุบันที่แม้จะมีการลงทุน มีการส่งเสริมการพัฒนาสิทธิบัตรต่างๆ แต่ GDP กลับไม่เติบโต เพราะไม่ได้ส่งเสริมให้เกิดการผลิตที่มีคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มได้ จึงจำเป็นที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัว และที่สำคัญต้องอาศัยเงินทุนด้วย โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่ประเทศไทย หรือภูมิภาคของเรามีความได้เปรียบ เช่น พลังงานสะอาด ในการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาผลิตเป็นไฟฟ้า การส่งเสริมพลังงานสีเขียว ซึ่งในฐานะผู้กำหนดนโยบาย ได้ส่งเสริมผ่านการเปลี่ยนผ่าน โดยการแก้ข้อกฏหมายโซลาร์เซลล์ เพื่อให้ทั้งธุรกิจ หรือบ้านเรือนสามารถดำเนินการติดตั้งได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต ซึ่งช่วยทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด รวมทั้งยังลดค่าไฟ ที่เป็นต้นทุนการดำเนินธุรกิจในภาพรวมให้ลดลงได้ ขณะที่การติดตั้ง ก็มีสถาบันการเงินที่พร้อมให้การสนับสนุน และเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่ผู้ประกอบการสามารถทำได้ทันที”
อย่างไรก็ตาม ยังมีมิติอื่นๆ ที่ภาคธุรกิจสามารถปรับตัว เช่น การหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าในธุรกิจ การส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านในหลายๆ กลุ่ม ทั้งชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Data Centers เพื่อขับเคลื่อนสู่ธุรกิจที่สามารถสร้างแต้มต่อในการแข่งข้นของโลกธุรกิจยุคใหม่ ที่ไม่ได้แข่งขันกันที่การมีต้นทุนต่ำที่สุด แต่เป็นการทำธุรกิจที่ต้องดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม สร้างการเติบโตร่วมกัน และการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น