หลังขับเคลื่อนการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบของขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการ ‘คนไทยไร้ E-Waste’ มากว่า 6 ปี ส่งผลให้ภาพรวมการตอบรับ ทั้งด้านความรู้ความเข้าใจ ความตระหนักรู้ ไปจนถึงความร่วมมือและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรรม โดยนำ E-Waste เข้ามาทิ้งในระบบเพื่อสามารถนำไปบริหารจัดการได้อย่างถูกต้อง ตามแนวทาง Zero E-wasteto Landfill เพิ่มมากขึ้น
แต่โดยรายละเอียดพบว่า Action ที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ใน กทม.และหัวเมืองหลัก ส่งผลให้ AIS เร่งเดินหน้า สร้างความตระหนักรู้ รวมทั้งการขยายจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ให้เข้าถึงประชาชนส่วนใหญ่ในวงกว้างทั่วประเทศได้มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่อาจไม่ได้รับข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์เป็นหลัก เพื่อเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บ E-Waste เข้าระบบได้มากขึ้น
นำมาสู่ความร่วมมือสำคัญครั้งล่าสุด ระหว่าง AIS หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ภายใต้โครงการ ‘คนไทยไร้ E-Waste’ เพื่อร่วมสร้างความตระหนักรู้ และขยายผลการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี ด้วยการติดตั้งจุดรับทิ้ง E-Waste ในหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ และสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด จำนวน 22 หน่วยงาน ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนและเกษตรกรเข้าถึงช่องทางการจัดการขยะ E-Waste ได้ง่ายขึ้น และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
คุณประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ความร่วมมือนี้ เป็นอีกก้าวสำคัญของการขับเคลื่อนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตรที่เปราะบางต่อผลกระทบจากสารพิษ เช่น แคดเมียม ปรอท และตะกั่ว ซึ่งอาจปนเปื้อนในดิน น้ำ และอากาศ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพผลผลิตและสุขภาพของประชาชนในระยะยาว
“การขับเคลื่อนโครงการคนไทยไร้ E-Waste จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมส่งเสริมให้บุคลากรในสังกัดกระทรวงฯ รวมถึงประชาชนและเกษตรกรมีพฤติกรรมการจัดการขยะที่ถูกต้องและปลอดภัย” และโครงการดังกล่าว ยังมีความสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเรื่องของการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม (Go Green) และ BCG Model อีกด้วย ”
คุณสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าหน่วยธุรกิจสื่อสารองค์กรและรัฐกิจสัมพันธ์ AIS กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมา ‘โครงการคนไทยไร้ E-Waste’ ได้พัฒนาและขยายผลอย่างต่อเนื่อง และยกระดับเป็น ‘AIS HUB of E-Waste’ เพื่อเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย และมุ่งเปลี่ยนมุมมองคนไทยที่มองว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องไกลตัว แต่ความจริง ขยะเหล่านี้ส่งผลกระทบลึกซึ้งทั้งต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพในการดำรงชีวิตประจำวัน หากไม่จัดการอย่างถูกวิธี สารพิษในขยะอิเล็กทรอนิกส์อาจย้อนกลับมาสร้างปัญหาทั้งต่อสุขภาพ จนถึงระบบนิเวศและปัจจัยการผลิตในอนาคต
“ความร่วมมือครั้งนี้ จะขยายจุดติดตั้งถังขยะ E-Waste ในหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 22 หน่วยงาน พร้อมขยายจุดรับทิ้งไปยังสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมเดินหน้าสร้างการรับรู้เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อมุ่งไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของกลุ่มเกษตกร ที่ปัจจุบันมีการขับเคลื่อนสู่การทำเกษตรแบบอัจฉริยะ ทำให้มีจำนวนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น การมุ่งสร้างทั้งความตระหนัก ควบคู่ไปกับการขยายจุดทิ้ง เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพื่อสามารถนำเข้าสู่ระบบการจัดการที่ทาง AIS ให้บริการจัดการได้แบบ End to End ทำให้ขยะทุกชิ้นถูกกำจัดอย่างถูกต้องตามแนวทาง Zero E-Waste to Landfill ได้อย่างแท้จริง”
ทั้งนี้ ภาพรวการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ปัจจุบันถูกจัดเก็บได้ราว 10% จากจำนวนขยะราว 4.6 แสนตันต่อปี ขณะที่อีก 90% ยังไม่สามารถนำเข้าสู่ระบบได้ ทางเอไอเอส จึงมุ่งเดินหน้าขยายทั้งพันธมิตรในการร่วมโครงการ รวมทั้งการขยายจุดรับทิ้งให้ครอบคลุมได้ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด ผ่านความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน จากหลากหลายกลุ่ม และมีแผนขยายไปถึงระดับท้องถิ่น เช่น ระดับตำบล หรือโรงพยาบาลในแต่ละจังหวัด และสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อมุ่งสร้างความตระหนักรู้ และความร่วมมือ กับประชาชนในกลุ่มใหม่ๆ เชิงลึกได้มากขึ้น โดยปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มจุดรับทิ้งได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 จุด จากปัจจุบันมีจุดรับรวมกว่า 2,800 -2,900 จุด
ด้านความสำเร็จของการขับเคลื่อนโครงการตลอด 6 ปีที่ผ่านมา สามารถเพิ่มปริมาณาการจัดเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากช่วงปีแรกๆ ที่มีปริมาณขยะเข้าสู่โครงการราว 2 พันชิ้น แต่ปัจจุบันสามารถจัดเก็บได้หลัก 1-2 แสนชิ้นในแต่ละปี ขณะที่เอไอเอสมุ่งมั่น ลดผลกระทบจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน ทั้งการผนึกความร่วมมือผ่านพันธมิตร เพื่อเพิ่มการติดตั้งจุดรับขยะให้ครอบคลุม รวมทั้งเพิ่มการรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หลากหลายขึ้น จากเดิมรับเพียงโทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่ หูฟัง สายชาร์จ แต่ปัจจุบันขายการรับมาสู่อุปกรณ์ไฟฟ้าชิ้นเล็กต่างๆ ที่มีการใช้งานจำนวนมากขึ้นในแต่ละวัน รวมทั้งปริมาณผลิตภัณฑ์ที่เสียและกลายเป็นขยะที่เก็บไว้ในบ้านเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังเพิ่มรูปแบบการขับเคลื่อนโครงการ ให้สามารถสร้าง Positive Impact ได้มากขึ้น ด้วยการเปลี่ยนขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดเก็บได้ทุกชิ้น ให้เป็นสัญญาณอินเตอร์เน็ต เพื่อนำไปต่อยอดการใช้ประโยชน์ ทั้งต่อการศึกษาในโรงเรียนพื้นที่ห่างไกล การพัฒนาด้านอาชีพให้ชุมชน รวมทั้งการเข้าถึงการรักษาและการดูแลสุขภาพของคนไทยในพื้นที่ต่างๆ โดยปีที่ผ่านมาสามารถเปลี่ยนขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นสัญญาณอินเตอร์เน็ตได้รวมกว่า 2 หมื่นGB
เห็นได้ว่า โครงการ ‘คนไทยไร้ E-Waste’ ไม่เพียงเป็นการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังเป็นการวางรากฐานเพื่อสร้างสังคมไทยที่มีความรู้ ความเข้าใจ และมีพฤติกรรมการจัดการขยะอย่างยั่งยืน อันจะนำไปสู่การลดคาร์บอนและมลพิษในภาพรวมของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งยังมีส่วนช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตและเพิ่มความเท่าเทียมให้คนไทยในพื้นที่ห่างไกลได้อีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ทาง AIS ยังมุ่งเดินหน้าขยายความร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง โดยองค์กรหรือผู้สนใจต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารจัดการและกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้องสามารถติดต่อผ่าน AIS Sustainability เพื่อเป็นจุดรับทิ้งโดยไม่มีค่าใช้จ่าย