DialogueTop Stories

เปิด ‘SDG Index 2025’ ประเทศไทย​ รั้งอันดับ 43 ของโลก พบ ​6 เป้าหมายน่าห่วง ยังอยู่ในสถานะ ‘ท้าทายมาก’  

ครบรอบทศวรรษการขับเคลื่อน 'เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน' หรือ SDG Goals ปัจจุบันโลกยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายข้อใดได้เลย ขณะที่ภาพรวมการขับเคลื่อนขยับไม่ถึง 20% ​โดยปัจจัยขัดขวางหลัก คือความขัดแย้ง ความเปราะบางเชิงโครงสร้าง และข้อจำกัดทางการเงิน

SDG MOVE สรุป​ ‘รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน’ (SDR : Sustainable Development Report) และ ‘SDG Index ประจำปี 2568‘ โดย Sustainable Development Solutions Network (SDSN)  ซึ่งเผยแพร่เป็นฉบับที่ 10 หลังเริ่มจัดทำและเผยแพร่ครั้งแรก ตั้งแต่ปี 2015

​ปีนี้จึงนับเป็นการดำเนินงาน​ครบรอบ 1 ทศวรรษ ​พร้อมเผยแพร่​ในธีม ‘A Decade After Their Adoption at the UN, the World Remains Highly Committed to the Sustainable Development Goals’ หรือ ‘หนึ่งทศวรรษหลังรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โลกยังคงมุ่งมั่นอย่างเเน่วเเน่เพื่อบรรลุ’ 

ทั้งนี้ ​คาดการณ์​ภาพรวมการขับเคลื่อนความยั่งยืนของโลก จนถึงปัจจุบันยังไม่มีเป้าหมายใดที่เชื่อว่าจะสามารถบรรลุได้ตามกำหนดภายในปี 2030 ขณะที่การบรรลุเป้าหมายย่อยที่ใช้ชี้วัดจะทำได้ไม่ถึง 20%  พร้อมรายงานเพื่อฉายภาพสถานการณ์การขับเคลื่อนในแต่ละ​ตัวชี้วัดทั้ง17 ข้อ  เพื่อเห็นถึงความก้าวหน้าและถดถอยในการขับเคลื่อนทั้งระดับโลกและ​ภูมิภาค โดยสรุปเป็น 5 ประเด็นสำคัญ ต่อไปนี้

1. ความมุ่งมั่นเพื่อบรรลุ SDGs ทั่วโลกอยู่ในระดับสูง ​​ปัจจุบัน มี 190 จาก 193 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ที่เข้าร่วมกระบวนการ ‘รายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ’ (Voluntary National Review: VNR) เพื่อเสนอแผนและลำดับความสำคัญด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับชาติของตนเอง โดยมีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่ยังไม่เข้าร่วม ได้แก่ เฮติ เมียนมา และสหรัฐอเมริกา

2. ประเทศในยุโรปยังคงเป็นผู้นำใน SDG Index ขณะที่ประเทศในเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้มีความก้าวหน้ามากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ โดยหากพิจารณาจากปี 2015 จะพบว่าปีนี้ ประเทศที่มีคะแนนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและน่าจับตา เช่น เนปาล (+11.1 คะแนน) กัมพูชา (+10 คะแนน) บังคลาเทศ (+8.3 คะแนน) และ มองโกเลีย (+7.7 คะแนน) ส่วนจีนและอินเดีย ขยับขึ้นมาอยู่ในกลุ่ม Top 50 และ Top 100 ได้ตามลำดับ

3. ความก้าวหน้าในการขับเคลื่อน SDGs หยุดชะงัก โดยยังไม่มีเป้าหมาย SDGs ใดที่อยู่ในเส้นทางที่จะบรรลุได้ภายในปี 2030 และพบว่ามีเพียง 17% ของเป้าหมายย่อยเท่านั้นที่ยังอยู่ในเส้นทางที่จะบรรลุได้ ซึ่งมีปัจจัยขัดขวางหลักคือความขัดแย้ง ความเปราะบางเชิงโครงสร้าง และข้อจำกัดทางการเงิน

4. บาร์เบโดส คือ ประเทศผู้นำด้านความมุ่งมั่นมากที่สุด จากดัชนีประเทศที่สนับสนุนการทำงานพหุภาคีตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ (UN-based multilateralism: UN-Mi) ซึ่งพิจารณาจากการมีส่วนร่วมกับระบบขององค์การสหประชาชาติ ขณะที่สหรัฐอเมริกาถูกจัดอยู่อันดับท้ายสุดเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากการถอนตัวจากข้อตกลงปารีสและการแสดงออกอย่างเป็นทางการถึงการไม่สนับสนุน SDGs และวาระการพัฒนา 2030

5. จำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบการเงินระหว่างประเทศ (Global Financial Architecture: GFA) อย่างเร่งด่วน เพื่อสนับสนุน SDGs โดยการประชุม Ff4D ครั้งที่ 4 ที่ถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับประเทศสมาชิก UN ในการปฏิรูประบบ เพื่อให้เงินทุนระหว่างประเทศไหลเวียนอย่างเพียงพอไปยังประเทศตลาดเกิดใหม่และเศรษฐกิจกำลังพัฒนา (Emerging markets and developing economies: EMDEs) เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ส่อง SDG Index ประเทศไทย
การจัดอันดับ SDG Index ระดับโลก ปีนี้มีประเทศที่ถูกจัดอันดับทั้งสิ้น 167 ประเทศ เท่ากับปีที่แล้ว โดยประเทศที่ติด Top 5 อันดับแรก ประกอบด้วย ฟินแลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก เยอรมนี และ ฝรั่งเศส ตามลำดับ ขณะที่ประเทศที่ถูกจัดอยู่ใน 5 อันดับสุดท้าย ประกอบด้วย เยเมน (อันดับ 163) โซมาเลีย (อันดับ 164) ชาร์ด (อันดับ 165) สาธารณรัฐแอฟริกากลาง (อันดับ 166) และซูดานใต้ (อันดับ 167) ซึ่งครองอันดับเดิมจากปีที่แล้ว

ส่วนประเทศไทย ปีนี้ได้รับการจัดอันดับอยู่ที่อันดับ 43 ของโลก ขยับขึ้นมา 2 อันดับจากปี 2024 ซึ่งอยู่ที่อันดับ 45 ขณะเดียวกันคะแนนรวมก็ขยับขึ้นเป็น 75.3 คะแนน มากกว่าปี 2567 ถึง 0.6 คะแนน ถือว่าสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ซึ่งอยู่ที่ 69.5 คะแนน

หากเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน พบว่าประเทศไทยยังครองอันดับ 1 เป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน (2019 – 2025) ตามมาด้วย เวียดนาม (อันดับ 61) สิงคโปร์ (อันดับ 69) อินโดนีเซีย (อันดับ 77) มาเลเซีย (อันดับ 84) ฟิลิปปินส์ (อันดับ 87) บรูไนดารุซซาลาม (อันดับ 92) กัมพูชา (อันดับ 101) เมียนมา (อันดับ 116) และลาว (อันดับ 121) ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2024 พบว่ามีเพียง 5 ประเทศเท่านั้นที่มีอันดับก้าวหน้าขึ้น คือ ไทย ฟิลิปปินส์ บรูไนดารุซซาลาม กัมพูชา และเมียนมา ขณะที่อีก 5 ประเทศมีอันดับถดถอยลง ได้แก่ เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และลาว

นอกจากนี้ หากเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ พบว่าไทยรั้งอันดับที่ 3 เป็นรองจากญี่ปุ่น (อันดับ 19) และเกาหลีใต้ (อันดับ 34)

6 เป้าหมาย ‘ความยั่งยืน ประเทศไทย’ ​​​อยู่ระดับ ‘ท้าทายมาก’

สำหรับพัฒนาการในการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนของประเทศไทยในปีนี้ หากพิจารณาตามสถานะรายเป้าหมายในปีนี้กับปี 2024 พบว่า เป้าหมายที่มีสถานะบรรลุเป้าหมายแล้ว (สีเขียว) สามารถบรรลุเป้าหมายได้ คือ SDG1 (ยุติความยากจน) และ SDG4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ)  เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ค่าสีสถานะที่ปรากฏตามรายงานฉบับนี้พิจารณาจาก 2 ตัวชี้วัดที่มี ‘สถานะแย่ที่สุด’ ในเป้าหมายนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ของทุกประเทศทั่วโลกจึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงรายละเอียดข้อมูลในระดับตัวชี้วัดเพิ่มเติม

โดยการประเมินความยากจน​ มีการใช้หลักเกณฑ์ภายในประเทศที่กำหนดเส้นความยากจนสูงกว่าเส้นความยากจนสากล จึงอาจกล่าวได้ว่า ประเทศไทยยังมีคนจนขั้นต่ำสุดอยู่ และยังไม่บรรลุเป้าหมายในการยุติความยากจนตาม SDG1 แม้สถานการณ์ความยากจนมีแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้น แต่กลุ่มคนบางกลุ่มมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับความยากจน เนื่องจากอยู่ในสถานะที่เปราะบางและมีระดับความเป็นอยู่ใกล้เคียงกับเส้นความยากจน จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะตกอยู่ในภาวะยากจนได้ ​
เช่นเดียวกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ยังคงฝังรากลึก และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียม ดังนั้น การประเมินสถานการณ์ด้านการศึกษา จึงไม่อาจพิจารณาเฉพาะข้อมูลด้านรายได้หรือจำนวนผู้เรียนเท่านั้น

เป้าหมายที่มีสถานะท้าทาย (สีส้ม) มีทั้งสิ้น 9 เป้าหมาย ลดลงจาก 10 เป้าหมายในปี 2024 ได้แก่ SDG5 (ความเท่าเทียมทางเพศ) SDG6 (น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล) SDG7 (พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้) SDG8 (งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ) SDG9 (โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม) SDG10 (ลดความเหลื่อมล้ำ) SDG12 (การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน) SDG13 (การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) และ SDG17 (ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน)

ปีนี้ ไม่มีเป้าหมายที่มีแนวโน้มอยู่ในทิศทางที่จะบรรลุได้ ขณะที่ SDG5 SDG6 SDG7 และ SDG9 มีแนวโน้มค่อนข้างก้าวหน้า ส่วนอีก 5 เป้าหมายที่เหลือยังคงไม่คืบหน้า

เป้าหมายที่มีสถานะท้าทายมาก (สีแดง) มีทั้งสิ้น 6 เป้าหมาย เพิ่มขึ้น 1 เป้าหมายจากปี 2024 ได้แก่ SDG2 (ยุติความหิวโหย) SDG3 (สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี) SDG11 (เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน) SDG14 (ทรัพยากรทางทะเล) SDG15 (ระบบนิเวศบนบก) และ SDG16 (สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง)

ทั้งนี้เมื่อเทียบข้อมูลจากปีที่แล้ว พบว่าเหตุผลที่ทำให้ปีนี้ SDG11 ตกอยู่ในสถานะสีแดง เนื่องจากผลการดำเนินงานในตัวชี้วัดเรื่องความเข้มข้นเฉลี่ยรายปีของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 (μg/m³) มีแนวโน้มที่ถดถอยลง และมีความท้าทายอย่างมาก ขณะที่ปีที่แล้วอยู่ในแนวโน้มที่ยังคงไม่คืบหน้า

โดยในปีนี้ไม่มีเป้าหมายใดของไทยอยู่ในสถานะยังคงมีความท้าทายบางส่วน (สีเหลือง)