มหาวิทยาลัย เปลี่ยน Mindset : From Green to Sustainable University

จากที่ทำเรื่อง “สิ่งแวดล้อม” ในมหาวิทยาลัย พัฒนาสู่ “ความยั่งยืน” ตาม SDGs จะต้องมี “คน” มาเกี่ยวข้องจึงจะต้องคิดใหม่ในการศึกษา วิจัย รวมสร้างวิถีที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคม ประเทศชาติ และโลกใบนี้

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ,Prof. Park, Taeyoon Yonsei University /President,Korean Association for Green Campus Initiative (KAGCI) ผศ.ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รักษาการแทนในตำแหน่งรองอธิบดี ฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ประธาน SUN Thailand ,ดร. บุญไชย สถิตมั่นในธรรม รองอธิบดี กำกับดูแลด้านบริหารทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตประธาน SUN Thailand ศ.ดร. ชนิตา รักษ์พลเมือง ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยสยาม และรศ.ดร. กิติกร จามรดุสิต รักษาการแทนอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมเสวนาเพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยไทยสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

“ยั่งยืน ไม่ใช่คำแฟชั่น เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย โจทย์วันนี้เขาแจ้งเรามานานแล้ว เราควรปลูกฝังการมองสิ่งรอบตัวอย่างเป็นธรรม ซึ่งสามารถเริ่มได้ในมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะของปัญญา หรือ Wisdom ซึ่งต้องเปลี่ยนความคิด เราสร้างนวัตกรรม เพื่อผลประโยชน์สู่สังคม”

ดร.สุเมธ เปิดมุมมองบางส่วนต่อวงเสวนา

เวทีเสวนาเพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยไทย สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
หน้าที่มหาวิทยาลัยต่อสังคม

สถาบันการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ ผ่านกระบวนการศึกษา และวิจัย โดยมีเป้าหมายผลลัพธ์ของการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพออกสู่สังคม รวมถึงการพยายามนำองค์ความรู้ที่มีอยู่ถ่ายทอดผ่านกลไกการประยุกต์เพื่อให้เกิดการใช้งานที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคม ประเทศชาติ และโลกใบนี้

ดังนั้น บริบทของการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคสถาบันการศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง การประยุกต์แนวคิดของการพัฒนาอย่างยั่งยืนสู่นโยบายการบริหาร และกิจกรรมการดำเนินงานของสถาบันการศึกษา จะส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพขององค์ความรู้ และบัณฑิตที่ถูกผลิตจากสถาบันนั้นๆ ด้วยเพราะสถาบันการศึกษาเป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้ และบุคลากรที่จะออกสู่ชุมชน และสังคมเป็นสำคัญ

ในวงเสวนา ดร.ปริญญา เริ่มต้นว่า เรามีบ้านเราบ้านเดียวคือโลกใบนี้ ทรัพยากรมีจำกัด แต่จะอยู่กันยังไงให้ทรัพยากรมีใช้ตลอดไปจนชั่วลูกชั่วหลาน เราต้องรับผิดชอบต่อคนรุ่นหลัง ไม่ใช่รุ่นเราไม่ใช่พินาศหมดในรุ่นเรา

“ผมเองก็เพิ่งเข้าใจเรื่องการบริหารยั่งยืน เมื่อไปเจอมหาวิทยาลัยที่ไปไกลกว่าเราแล้ว ฮาร์ดเวิด เอ็มไอที ได้เข้าใจว่า ที่โลกของเราทรัพยากรหมดไปอย่างรวดเร็ว เพราะความรู้ที่เราสอนกันในมหาวิทยาลัย เมื่อก่อน ก่อนที่จะมีความรู้ ก่อนที่จะมีเทคโนโลยี คนตอนนั้นตัดต้นทีละต้น ไม่ใช่เทคโนโลยีที่เราสอนกันหรือครับ ที่ตอนนี้ทำลายหมดเลย…การโฆษณาคืออะไรครับ คือของที่ต้องใช้บริโภค ต้องทำให้รู้สึกว่า จำเป็นต้องซื้อให้ได้ ทรัพยากรที่ควรใช้อย่างระมัดระวังก็ใช้กันเยอะขึ้น จึงกลับมา SDGs ข้อ 4 ความรู้ต้องถูกใช้อย่างยั่งยืน ส่งเสริมความรู้ในมหาวิทยาลัย เปลี่ยนเป้าหมายในการศึกษาวิจัยโดยเน้นให้เกิด Sustaintibility”

 

SUN เครือข่ายที่ช่วยยกระดับการพัฒนายั่งยืน

ด้วยเหตุผลสำคัญดังกล่าวข้างต้น การสร้างให้เกิด เครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืน (Sustainable University) เพื่อเป็นเวทีสำคัญสำหรับการกำหนดแนวนโยบายเพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน การแลกเปลี่ยน เรียนรู้ประสบการณ์การดำเนินงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงการกำหนดมาตรฐานการชี้วัดความเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืน อันจะเป็นส่วนสำคัญของการยกระดับมหาวิทยาลัยภายในประเทศ และการสร้างความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษาภายในประเทศ ที่สอดคล้องเชื่อมโยงต่อบริบทการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับนานาชาติ นำสู่การเป็นต้นแบบสำคัญของภาคส่วนภายในสังคมของประเทศที่สามารถใช้เป็นต้นแบบเพื่อการขยายผลการดำเนินงานสู่ภาคส่วนอื่นได้ต่อไปในอนาคต

ดร. บุญไชย อดีตประธาน SUN Thailand เล่าถึงกรณีศึกษาของจุฬาฯ เริ่มจากการทำ Green Campus เช่น การประหยัดพลังงาน การแยกขยะ พื้นที่สีเขียว และเปลี่ยนมาพัฒนาแบบคู่ขนานร่วมกับ Sustainable Campus ทุกอย่างนั้นเริ่มจากคน

“เราเริ่มโครงการ Zero Waste เน้น Engagement ทุกส่วน เพราะหัวใจหลักคือ นิสิต คณาจารย์ และบุคคลากร สร้างเครือข่ายและความตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อม ให้มาเรียนรู้ร่วมกัน แลกเปลี่ยนความรู้ ไม่ใช่เพื่อมาแข่งขันกัน ไม่ใช่กิจกรรมปลูกต้นไม้ ต้องลงในกระบวนการเรียนรู้ เอาเรื่อง Sustainability ลงในหลักสูตร”

ศ.ดร. ชนิตา ในฐานะมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกๆ ที่อยู่กับ SUN Thailand เน้นว่า Sustainability จะต้องเป็นเรื่องการเปลี่ยน Mindset มหาวิทยาลัยสยามมีการเชื่อมโยงกับชุมชนเขตภาษีเจริญ พัฒนาชุมชนรอบข้าง เป็นต้นแบบให้แก่ชุมชนอื่นๆ รวมถึงมี Class งานวิจัยด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน และผู้ประกอบการทางสังคม

 

การเริ่มต้นสร้างกระบวนการการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างไร

รศ.ดร. กิติกร ได้ถามถึงการเริ่มต้นสำหรับคณาจารย์ทั่วไปในแต่ละมหาวิทยาลัย

“ทำเรื่องเล็กให้สำเร็จก่อน แล้วคนจะเห็น อย่าเริ่มต้นด้วยการทำเรื่องใหญ่” ดร.ปริญญาตอบ และดร. บุญไชย ช่วยขยายความถึงกรณีศึกษาที่จุฬาฯ เรื่องนี้เกิดจากภาควิชา ที่ทำก่อน ต่อเมื่อเห็นผล ขยายผลก็ถูกกำหนดเป็นนโยบายมหาวิทยาลัย ส่วนมหาวิทยาลัยสยาม ศ.ดร. ชนิตากล่าวถึงเริ่มจากทีมเวิร์ค และ Leadership แต่ส่วนอื่นๆ ก็ทำคู่ขนานกันไปด้วย ในมุมที่เป็นเรื่องความยั่งยืน

ดร.ปริญญา ขยายความถึงธรรมศาสตร์ ให้ความสำคัญกับ SDGs เป้าหมายที่ 13 เป็นอันดับแรกคือการรับมือกับ Climate Change ที่กำลังกลายเป็น Climate Crisis เป็นอันดับแรก เนื่องจากเป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลงทันที โดยมีแนวทางแก้ไขคือ

-การใช้ Solar Rooftop กับอาคารเรียนซึ่งสามาถรถลดค่าไฟไปได้ถึง 10% และได้นำมาประยุต์ใช้กับรถ EV ภายในมหาวิทยาลัย เนื่องจาก 80% ของไฟฟ้าที่ใช้ ได้มาจากการเผาของเชื้อเพลิงฟอสซิล ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนซึ่งเป็นหนึ่งสาเหตุของการเกิดโลกร้อน การนำ Solar Cell มาใช้กับรถ EV นั้นสามารถทดแทนการใช้พลังงานจากไฟฟ้าได้เลย

-เรื่องที่สองที่สนใจคือ SDGsเป้าหมายที่ 12 Responsibility Consumption หรือ การบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ ให้เกิดการหมุนเวียนมาใช้ใหม่ให้มากที่สุด เช่น การเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวด, การใช้กระบอกน้ำแทนแก้วที่ต้องทิ้ง, เปลี่ยนพฤติกรรม Say No Single Plastic Use นอกจากนี้มีความสนใจใน SDGs เป้าหมายที่ 10 Reduced Inequalities ลดความเหลื่อมล้ำ และ SDGs เป้าหมายที่ 4 Good Education ให้ความรู้ที่มีคุณภาพและถูกใช้อย่างยั่งยืน เปลี่ยนเป้าหมายในการศึกษาวิจัยโดยเน้นให้เกิด Sustaintibility

พื้นที่บางส่วนของอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ  มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา นครปฐม
ประสบการณ์จากเกาหลีสู่แนวทางเริ่มต้นสร้างความเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว

Prof. Park ได้อธิบายถึง Korean Association for Green Campus Initiative (KAGCI) หรือ สมาคมเกาหลีเพื่อการเริ่มต้นเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว โดยวิสัยทัศน์ของ KAGCI

– ส่งเสริมการศึกษาและวิจัยอย่างยั่งยืน
– ริเริ่มในการรักษาสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยและการอนุรักษ์พลังงาน
– สนับสนุนวัฒนธรรมการอนุรักษ์พลังงานผ่านการร่วมมือกับชุมชนในท้องถิ่น

ดังนั้นทุกๆ มหาวิทยาลัยจะมีส่วนร่วมในการปฏิบัติอย่างยั่งยืน เพื่อลดการเพิ่มปริมาณของก๊าซคาร์บอน

หน้าที่ของ KAGCI

1. ดูแลบริหารจัดการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ภายในมหาวิทยาลัย (Green Management in the university) เช่น การสร้างเครือข่ายมหาวิทยาลัยสีเขียว, การจัดตั้งคณะกรรมการในแต่ละมหาวิทยาลัยสมาชิกเพื่อการทำงานอย่างเป็นระบบและสนับสนุนการจัดจำหน่ายวัสดุผลิตภัณฑ์จากมหาวิทยาลัยสีเขียวเพื่อนำรายได้มาใช้ในการทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัยนั้น ๆ

2. ทำให้มหาวิทยาลัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environment-Friendly Campus) เช่น การสร้างรายการสิ่งที่ทำให้เกิดแก๊สเรือนกระจก, มีสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม, โครงการประหยัดพลังงาน และการใช้พลังงานทดแทน

3. สร้างความยั่งยืนให้โครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาและการวิจัย (Sustainable Education and Research Infrastructure) เช่น จัดทำนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยสีเขียว, มีกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานและการปกป้องสิ่งแวดล้อม และมีการจัดทำค่ายอบรมผู้นำสีเขียว

4. มีการทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนในท้องถิ่น (Activities with Local Communities) เช่น การทำโครงการร่วมมือกันภายโรงเรียน, สร้างความร่วมมือในชุมชน, สร้างกิจกรรมเพื่อเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยท้องถิ่นกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศเพื่อสร้างจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

มาถึงกิจกรรมของ KAGCI
– การเลือกประธานของโครงการ
– รายงานผลการวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยสีเขียว
– การประชุมมหาวิทยาลัยสีเขียวทั้งภายนอกและภายในประเทศ
– ค่าย Green Leaders’ Summer Camp

เป้าหมายการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวของมหาวิทยาลัยยอนเซ

1. มีการจัดการที่ยั่งยืน โดยลดพื้นที่จอดรถตลอดจนการลดขยะจากอาหาร มีการจัดระเบียบพลังงาน

2. เป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้พลังงานทดแทน หรือการบำบัดน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่

3. มีหลักสูตรและการวิจัยเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การพัฒนาวิชาที่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยสีเขียว, การดำเนินโครงการกิจกรรมหอพักที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม, ส่งเสริมงานวิจัยและกิจกรรมต่าง ๆ มีโครงการแข่งขันการประหยัดพลังงาน

ส่วนแผนในอนาคต
– เพิ่มการติดตั้งและการใช้พลังงานทดแทนในสิ่งอำนวยความสะดวก
– โครงการ การบริโภคอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
– สนับสนุนกิจกรรมของนักศึกษา
– ความร่วมมือระหว่างประเทศ: การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยสีเขียวในประเทศอาเซียน

การพัฒนาอย่างยั่งยืน หมายถึง การพัฒนาอย่างสมดุล โดยพยายามให้เกิดการพัฒนาอย่างบูรณาการขององค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม เกิดการประสานกันจนครบองค์ และมีดุลยภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดสภาพที่เรียกว่า เป็นภาวะยั่งยืน

ปัจจุบันทุกภาคส่วนให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยฐานคิดที่ต้องการให้เกิดภาวะยั่งยืน ในแง่ของฐานทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และภาวะคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของมนุษย์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อมวลมนุษยชาติในรุ่นต่อๆไปในอนาคต

Stay Connected
Latest News