“อาเซี่ยนไม่ใช่ถังขยะ” วัดใจ 10 ผู้นำประชุมอาเซี่ยน ครั้งที่ 34

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซี่ยน ครั้งที่ 34 เปิดฉากขึ้นวันแรกที่กรุงเทพ ( 19 มิ.ย. 2562 ) ก็ถูกต้อนรับด้วยกลุ่มกรีนพีซและองค์กรต่าง ๆ โดยการนำขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ขนาดย่อมมากองไว้ด้านหน้ากระทรวงต่างประเทศ กับป้ายข้อความ “ อาเซี่ยนไม่ใช่ถังขยะโลก” พร้อมยื่นข้อเสนอให้บรรดาผู้นำประเทศในอาเซียน10 ประเทศ ประกาศยุติการนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่มีข้อแม้

ตัวแทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมกับนักกิจกรรมและอาสาสมัครจากมูลนิธิบูรณะนิเวศและกรีนพีซรวมตัวกันพร้อมป้ายข้อความ “อาเซียนไม่ใช่ถังขยะโลก” เพื่อยืนจดหมายเปิดผนึกต่อรัฐบาลไทยในฐานะประธานอาเซียนเพื่อเรียกร้องให้บรรดาผู้นำประเทศในอาเซียน10 ประเทศ ประกาศยุติการนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่มีข้อแม้

 

ผัลย์ศุภา แดงประดับ ตัวแทนองค์กรชุมชนตำบลหนองชุมพลเหนือ อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ประกาศว่า “ในวันนี้ เราขอยืนหยัดในสิทธิขั้นพื้นฐานในการมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดี เราขอเรียกร้องให้ผู้นำทุกประเทศในอาเซียนนำประเด็นการค้ากากของเสียรวมถึงขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นวาระเร่งด่วน”ที่ผ่านมา จากแรงกดดันของภาคประชาสังคม เกิดผลทำให้รัฐบาลไทยประกาศห้ามนำเข้าขยะอันตรายที่ทำจากพลาสติกและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์หลายร้อยชนิด ทว่าก็ยังไม่มีแผนปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมและกรอบระยะเวลาที่ชัดเจน รวมถึงไม่ปรากฎขยะที่ปนเปื้อนสารพิษสารเคมีรวมอยู่ในรายการด้วย

อย่างไรก็ตาม บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เผยต่อสำนักข่าว Voice of America ว่า “หากมีการประสานงานร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เราเองก็สนับสนุนเต็มที่ ตามหลักแล้วเชื่อว่าทุกประเทศล้วนตระหนักถึงปัญหาการนำเข้าพลาสติก … และเราไม่อยากเห็นปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นอีก”

สำหรับขอเรียกร้องของภาคประชาสังคมในจดหมายเปิดผนึกของเครือข่ายภาคประชาสังคมไทยต่อรัฐบาลไทยในฐานะประธานอาเซียน พ.ศ.2562 และผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน ประกอบด้วย

● ยกเลิกพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2562 เนื่องจากเอื้อให้เกิดโรงงานรีไซเคิลขนาดเล็กที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน และเปิดช่องว่างให้เกิดประโยชน์ทับซ้อน
● ในระหว่างกระบวนการตามข้อที่ 1 ขอให้รัฐบาลทบทวนประเด็นสำคัญ เช่นโรงงานต้องมีอายุใบอนุญาตประกอบกิจการ [2] การขออนุญาตประกอบกิจการให้ตั้งโรงงานใหม่และโรงงานที่ขยายกิจการทุกแห่ง จะต้องมีการให้ข้อมูลกับประชาชนก่อนจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ที่ตั้งโรงงานและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ (3)การออกใบอนุญาตโรงงานต้องประกอบด้วยมาตรการการคุ้มครองและจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี มีมาตรการทางกฎหมายให้โรงงานทุกแห่งรายงานข้อมูลมลพิษที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมและมีการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายทางเว็บไซต์โดยไม่มีเงื่อนไขและข้อจำกัดใดๆ
● เพิ่มระบบการตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรม โดยการตั้งคณะทำงานระดับพื้นที่ประกอบด้วยประชาชนและนักวิชาการอิสระ โดยตั้งเป็นกลไกอิสระแยกออกจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมหรืออุตสาหกรรมจังหวัด คณะทำงานนี้สามารถตรวจสอบ ดำเนินการ และสอบสวนโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ทำตามแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการตรวจสอบและติดตามรายงานการปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม การปฏิบัติตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต การดูแลด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน และการเปิดโอกาสให้ชุมชนและคนงานสามารถร้องเรียนปัญหาเกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรมได้โดยตรง

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 34 ปีนี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ ภายใต้แนวคิดการประชุม “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” (Advancing Partnership for Sustainability) โดยบรรดาผู้นำอาเซียนควรหยิบยกประเด็นการค้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมาเป็นหนึ่งในวาระด่วนของการประชุมสุดยอดครั้งนี้

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่บรรดาผู้นำอาเซียนจะแสดงศักยภาพความเป็นผู้นำ กำหนดนโยบายระดับภูมิภาคให้ชัดเจนและก้าวหน้ามากขึ้น เรื่องการห้ามการนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ และหันมาควบคุมการผลิตและการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่เป็นรูปธรรม ถึงเวลาแล้วที่ประชาคมอาเซียนจะต้องเป็นผู้นำในการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นธรรมและยั่งยืน ผลักดันให้ประเทศที่ร่ำรวยเปลี่ยนแนวคิดที่มุ่งแต่การผลิตและการบริโภคที่สร้างของเสียจำนวนมหาศาล รวมถึงยุติการส่งออกของเสียไปยังประเทศอื่น”

ขณะนี้กรีนพีซกำลังเดินหน้ารณรงค์ออนไลน์ “อาเซียนไม่ใช่ถังขยะโลก” เพื่อเปิดให้สาธารณะชนร่วมเรียกร้องต่อผู้นำอาเซียนให้กอบกู้วิกฤตมลพิษพลาสติก

ทั้งนี้ จาก รายงานการศึกษาการนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทย ระหว่างปี2557-2561 (มิ.ย. 62) โดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ ระบุชัดว่า จำนวนการนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์มายังประเทศไทยมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 และส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อชุมชนดั้งเดิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตจังหวัดที่เข้าถึงได้ง่ายจากท่าเรือน้ำลึก

Stay Connected
Latest News