เปิดบ้านจันท์ช่วยจันท์ เตรียมความพร้อมให้”ผู้ก้าวพลาด”คืนคนดีสู่สังคม

“หนึ่งเสี้ยวชีวิตฉันเดินทางสายเปลี่ยว ที่มีความเหงาจับในหัวใจ อีกเสี้ยวชีวิตเหมือนตายทั้งที่เดินได้
จากความที่ฉันโง่งม และแล้วชีวิตหลงเดินบนทางสายผิด เดินเซถลำเข้าไป
สุดท้ายชีวิตเหมือนตายแต่ยังหายใจ ถูกตัดออกจากสังคม
และฉันยังหวัง แปรเปลี่ยนตัวเองให้ดี ให้ได้เลือกเดินบนทางสายใหม่อย่างเช่นทุกคน
ขอโอกาสแค่เพียงครั้งเดียว เริ่มต้นเดินบนทางที่ดี อย่างคนทั่วไป
และฉันหวังแปรเปลี่ยนตัวเองให้ดี ให้ได้ เลือกเดินบนทางสายใหม่เช่นทุกคน”

 

 

บทเพลง “ขอโอกาส” ที่มีความหมายกินใจนี้ คือผลงานของ”เจ” ผู้ต้องขังจากเรือนจำจันทบุรี “ผู้ก้าวพลาด” ที่แต่งขึ้นมาเพื่อต้องการสื่อถึงชีวิตผู้ต้องขังในเรือนจำที่เสียใจกับการกระทำผิดที่ผ่านมา และอยากได้โอกาสสักครั้งจากสังคมเพื่อจะกลับมาเป็นคนดี

คนเราทำผิดพลาดกันได้ แต่หลายคนที่ผิดพลาดเพราะไปกระทำผิดกฎหมาย สิ่งที่ได้รับคือโทษจำคุก หมดอิสรภาพในการดำเนินชีวิต ชีวิตหลังกำแพงสูงไม่ใช่สิ่งที่สวยงาม การมีเวลาอยู่กับตัวเองเพื่อทบทวนเรื่องราวความผิดที่ได้กระทำมา เพื่อสักวันเมื่อเดินก้าวออกจากสถานที่แห่งนี้หวังที่จะได้รับโอกาสจากสังคม เป็นกำลังใจให้พวกเขากลับมาเป็นคนดีของสังคม

กุศโลบาย “ใจแลกใจ”

 

ด้วยนโยบายที่ต้องการปรับสภาพของเรือนจำทั่วประเทศจากโครงสร้างเดิมที่ผู้ต้องขังอยู่กันอย่างแออัด ส่งผลให้ผู้ต้องขังมีสภาพจิตใจหดหู่ ไม่สามารถปรับทัศนคติในการใช้ชีวิต ทำให้หลายคนเมื่อพ้นโทษแล้วก็ต้องกลับไปทำผิดซ้ำ ๆ อีก แต่ปัจจุบันกรมราชทัณฑ์มีนโยบายให้ทุกเรือนจำต้องปรับปรุงให้ผู้ต้องขังมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปรับทัศนคติใหม่ให้ผู้พวกเขาพร้อมรับการแก้ไขเพื่อกลับไปเป็นคนดีของสังคมได้อีกครั้ง

สำหรับเรือนจำจันทบุรี ได้รับการยกย่องให้เป็น “เรือนจำต้นแบบ”ที่สามารถปรับปรุงสภาพในเรือนจำให้สอดคล้องกับนโยบายใหม่ได้อย่างดี โดยเปลี่ยนสภาพเรือนจำแบบเก่ามาเป็น “เรือนจำแบบรีสอร์ท” ตามนโยบายของ ดร.ชาญ วชิรเดช ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดจันทบุรี

“ ที่เรือนจำจันท์ บนพื้นที่ 46 ไร่ เราแบ่งโซนอย่างชัดเจน มีทั้งหมด 9 แดน ทำให้สะดวกแก่การปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง สามารถแยกนักโทษเด็ดขาดกับนักโทษชั้นระวาง “สมาน รุ่งจิรธนานนท์ ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาผู้ต้องขัง เรือนจำจังหวัดจันทบุรี กล่าว

 

“ใครเข้ามา เราจะจำแนกพื้นฐานก่อนเพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการต่อยอดให้กับพวกเขา” ผอ.สมานกล่าวถึงระบบการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตั้งแต่เดินเข้ามาสู่เรือนจำจะมีการทำประวัติอย่างละเอียด ใครที่มีการศึกษาพออ่านออกเขียนได้ทางเรือนจำเรียนได้ร่วมมือกับ กศน. ส่งเสริมให้ผู้ต้องขังสามารถศึกษาต่อไปจนถึงระดับปริญญา ที่นี่เรามีผู้ต้องขังหลายคนสามารถมาศึกษาต่อจนจบระดับปริญญาตรี ด้านธรรมะเรามีโครงการเรือนจำเรือนธรรม สร้างสมาธิเพื่อให้ผู้ต้องขังได้รับการเปลี่ยนทัศนคติ จิตใจไม่ฟุ้งซ่านมีสมาธิอยู่กับตัวเองมากขึ้น”

นอกจากนี้ทุกเดือนยังมีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ต้องขังเรือนจำเอาใจใส่ และทุกคนมีความรู้สึกว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้ง อาทิ จัดการแข่งขันกีฬา งานพบญาติ งานขึ้นปีใหม่ งานสงกรานต์ วันวาเลนไทน์ และที่ทำให้เรือนจำแห่งนี้มีชื่อเสียงขึ้นมาคือการจัดประกวดจันท์สตาร์ เพื่อค้นหานักร้องเสียงดี จนในที่สุดสามารถก่อตั้งวงดนตรี “CTS ซังเตแบนด์“

 

“วงดนตรี CTS ซังเตแบนด์ ตั้งขึ้นมาจากการที่เราค้นพบว่าผู้ต้องขังแต่ละคนมีความสามารถด้านดนตรีกันคนละอย่าง จึงเริ่มตั้งวงดนตรีขึ้นมา ผู้ต้องขังบางคนมีความสามารถมากถึงขนาดนำดนตรีไทยมาผสมกับดนตรีสากล บางคนแต่งเพลงได้ ส่วนหางเครื่องของวงดนตรีเป็นสาวประเภทสองที่มีความสามารถเต้นแบบทิฟฟานี่ได้ คนพวกนี้ถ้าอยู่นอกเรือนจำพวกเขาอาจไม่เคยค้นพบตัวเองว่ามีความสามารถขนาดนี้ แต่มาอยู่ในนี้เราส่งเสริมอย่างจริงจังจนพวกเขาสามารถทำได้เก่งทุกอย่าง บางคนพ้นโทษไปแล้วก็ไปทำอาชีพนักร้องเลย “

ทั้งหมดที่เรือนจำจันทบุรีทำเพื่อเป้าหมายคือ “สุขทุกวันที่จันแลนด์” เพื่อทำให้ผู้ต้องขังทุกคนมีความสุข แต่คงมีคำถามตามมาว่า ถ้าทำให้ผู้ต้องขังมีความสุขเมื่ออยู่ในเรือนจำ อาจจะทำให้พวกเขาไม่กลัวโทษจำคุกก็ได้ ผอ.สมานได้ให้ความกระจ่างกับคำถามนี้ว่า

“ การที่เรือนจำดีมีสุขได้ เราต้องการใจแลกใจ คือมีความสุขก็จะไม่กระทำผิด เปลี่ยนทัศนคติที่ดีพร้อมรับการแก้ไข แต่ถ้าใช้ระบบบังคับโทษหนัก พวกผู้ต้องขังจะไม่มีใจเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะฉะนั้นเรามองจุดนี้ เราต้องเข้าใจ มีมนุษยธรรมกับผู้ต้องขังทุกคน ระบบการปกครองเราจึงจะศักดิ์สิทธิ์ “

 

โครงการกำลังใจ

จากซ้าย ผอ.สมาน รุ่งจิรธนานนท์ ,จิรภา สินธุนาวา และ ไพโรจน์ ชื่นครุฑ

 

ปัญหาใหญ่สำหรับผู้ต้องขังเมื่อพ้นโทษก้าวออกจากเรือนจำไปแล้วคือการประกอบสัมมาชีพเลี้ยงตัวเองเพื่อที่จะได้ไม่ต้องกลับไปทำผิดซ้ำอีกครั้ง ซึ่งเรือนจำจันทบุรีก็ตระหนักถึงเรื่องนี้ จึงได้มี “โครงการจันท์ช่วยจันท์” โดยร่วมมือกับกรุงศรี ออโต้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อ “ สร้างกำลังใจ สร้างโอกาส และสร้างการยอมรับ” ให้กับผู้ต้องขัง ตามแนวทางโครงการกำลังใจในพระราชดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา

โครงการกำลังใจในพระราชดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เริ่มต้นเมื่อ 13 ปีที่ผ่านมา เดิมทรงมีพระราชดำริให้ช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงและเด็กที่ติดผู้ต้องขัง ต่อจากนั้นจึงขยายความช่วยเหลือไปยังผู้ต้องขังอื่น ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการคืนคนดีสู่สังคม และไม่ทำให้ผู้ต้องขังกลับมาทำผิดซ้ำอีก จึงนำเรื่องการฝึกอาชีพมาสอนให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำ

จิรภา สินธุนาวา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ โครงการกำลังใจ ในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กล่าวว่า “ทางโครงการเห็นว่าเรือนจำจันทบุรีมีโครงการเรือนจันท์แลนด์ที่สอดคล้องกับโครงการกำลังใจฯจึงเกิดความร่วมมือกันขึ้นโดยเน้นอาชีพที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งปัจจุบันดำเนินการฝึกฝนวิชาชีพให้แก่ผู้ก้าวพลาดในเรือนจำและทัณฑสถานหญิงทั้งสิ้น 19 แห่งทั่วประเทศ”

 

เปิดบ้าน จันท์ช่วยจันท์

เพื่อแสดงศักยภาพด้านทักษะของผู้ก้าวพลาด กรุงศรี ออโต้จึงจัดกิจกรรม “ เปิดบ้าน จันท์ช่วยจันท์” ซึ่งเป็นการแสดงผลงานฝีมือผู้ก้าวพลาดที่ได้รับการฝึกอบรมวิชาชีพจากโครงการกำลังใจ ในพระราชดำริฯ อาทิ อาหารคาว-หวาน ผลิตภัณฑ์เครื่องจักสาน ของแตกแต่งบ้าน รวมถึงเปิดโอกาสให้พันธมิตรของกรุงศรี ออโต้ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ใหม่ รถยนต์มือสอง และรถจักรยานยนต์ 11 รายในจังหวัดจันทบุรี มาเยี่ยมชมสถานฝึกทักษะอาชีพ และหาแนวทางการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นในอนาคต

ไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงบทบาทและเป้าหมายที่เข้ามาสนับสนุนโครงการนี้ว่า

“ เราพยายามสร้างความหวังให้กับผู้ก้าวพลาดในเรือนจำจันท์ ตามแนวโครงการพระราชดำริฯ โดยมุ่งหวังสร้างกำลังใจ โอกาสและการยอมรับของผู้ที่ก้าวพลาด และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โครงการจันท์ช่วยจันท์จึงประสานความร่วมมือภายใต้ 4 เรื่องคือ สร้างสัมพันธ์กับพันธมิตรของกรุงศรี ออโต้ในจังหวัดจันทบุรี สร้างสรรค์โดยนำทีมงานมาช่วยสอนเรื่องการตลาด ส่งเสริมการสอนให้ผู้ก้าวพลาดดูแลชีวิตตัวเองหลังพ้นโทษเพื่อจะได้ไม่กลับมากระทำผิดซ้ำอีก และสุดท้ายคือสืบสาน เป็นการสนับสนุนเงินทุนในบางโครงการ “

 

เรือนจันแลนด์

โครงการเรือนจันแลนด์มีจุดประสงค์เพื่อเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีคอนเซ็ปต์ที่แปลกใหม่ไม่เหมือนที่อื่นๆ เพราะที่นี่เปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังที่ใกล้พ้นโทษและได้ผ่านการฝึกอาชีพแล้วสามารถออกมาให้บริการจริงแก่ลูกค้า โดยใช้พื้นที่ว่างเปล่าหน้าเรือนจำฯซึ่งเป็นป่าโกงกางและป่าพรุ มาทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยว 7 สถานีคือ

เรือนจันครัวไทย เป็นสถานีแรกของโครงการที่สร้างขึ้น ลักษณะเป็นเรือนไม้ขนาดใหญ่สีขาวยกพื้นโปร่ง ล้อมรอบด้วยต้นไม้ใหญ่ให้ความร่มรื่น ให้บริการอาหารจานเดียวและอาหารตามสั่ง ซึ่งเหล่าแม่ครัวล้วนเป็นผู้ต้องขังหญิงที่ผ่านการฝึกอบรมการทำอาหารจากเชฟฝีมือดีจิตอาสาที่เข้าไปสอนในเรือนจำ

 

หลังจากการเปิดเรือนจันครัวไทยได้ไม่นานก็มีลูกค้าที่ติดใจรสมือของผู้ต้องขังหญิงมาอุดหนุนอย่างล้นหลาม
จากนั้นจึงขยายเป็นสถานีที่ 2 “ อินสไปร์ คาเฟ่@เรือนจันแลนด์” มีจุดขายคือเป็นร้านกาแฟที่ต้องขึ้นไปจิบกาแฟหอมกรุ่นบนต้นไม้ใหญ่อายุเกือบ 100 ปี โดยฝีมือการชงกาแฟจากบาสเรสต้าที่เป็นผู้ต้องขัง การตกแต่งร้านกาแฟแห่งนี้น่าสนใจตรงที่ย้ายเรือนจำเก่าแก่ของจันทบุรีมาสร้างเป็นร้านกาแฟ พร้อมกับการเติมไอเดียการตกแต่งให้มีสภาพหลายอย่างเหมือนเรือนจำ อาทิ

ด้านหน้าก่อนจะเดินเข้าร้านกาแฟจะพบกับ “เรือนบ่อมิจำ” ที่นำกรงขังโบราณของจริงมาจำลองให้เป็นเรือนจำ ซุ้มประตูทางเข้าเป็นไม้ฉลุลายกนกของเก่าแก่ รวมถึงกระดานไม้ที่นำมาทำพื้นทุกแผ่นเป็นไม้เก่าที่รื้อมาจากเรือนจำเดิม สำหรับจุด check in เก๋ ๆ เป็นมีห้องขังและชุดนักโทษให้นักท่องเที่ยวที่สนใจใส่ถ่ายรูปกับห้องขัง เพื่อสะเดาะเคราะห์ และด้านหลังร้านกาแฟเป็นทางเดินไม้ให้เดินชมป่าโกงกางที่ยังอุดมสมบูรณ์

 

สถานที่ 3 ซึ่งสร้างเกือบเสร็จแล้วคือ “คุกขี้ไก่” ซึ่งเป็นคุกสำคัญในประวัติศาสตร์ของจันทบุรี ตั้งอยู่ที่ตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ มีการจำลองของจริงทุกอย่างมาตั้งไว้ที่นี่ ส่วนสถานที่ 4 คือพิพิธภัณฑ์ที่จำลองจากตึกแดง สถานที่ 5 เรือนจันสปา สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาพักผ่อนคลายเครียดด้วยการนวด สถานีที่ 6 เรือนจันคาร์แคร์ โดยใช้ผู้ต้องขังที่มีทักษะในการซ่อมรถมาให้บริการ และสถานีสุดท้าย สร้างเป็นศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง

“ เป้าหมายของการทำเรือนจันแลนด์ขึ้นมาเพื่อสร้างงานให้กับผู้ต้องขัง ปรับปรุงนิสัยและเตรียมความพร้อมให้สามารถปรับตัวคืนสู่สังคมได้อย่างราบรื่น ไปเป็นคนดีของสังคม ไม่ต้องกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก” ผอ.สมานกล่าว

 

ขอโอกาสให้ “ผู้ก้าวพลาด”

 

ชีวิตภายในเรือนจำจันทบุรีซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเรือนจำต้นแบบนั้น ไม่มีโซ่ตรวนล่ามผู้ต้องขังเหมือนภาพที่คุ้นชินจากที่เคยดูหนัง สภาพภายในถูกจัดระเบียบเรียบร้อย สะอาด ร่มรื่นเป็นสัดส่วน ภาพของผู้ต้องขังที่รวมกันอยู่ภายในโรงยิมขนาดใหญ่เพื่อนำผลงานมาแสดงตามบูธต่าง ๆ ในงานเปิดบ้านจันท์ช่วยจันท์นั้น แต่ละคนมีอิสระในการพูด มีรอยยิ้ม และสายตาที่มีความหวัง

เสียงดนตรีขับกล่อมจากวง “CTS ซังเตแบนด์“ ไพเราะและสนุกสนานไม่ต่างจากมืออาชีพที่เล่นกันอยู่ภายนอก เสียงปรบมือจากผู้มาเยือนที่แสดงความสุขกันเสียงเพลงและการแสดง ช่วยทำให้ นักร้อง นักดนตรีและหางเครื่องทุกคนมีกำลังใจแสดงความสามารถกันอย่างเต็มที่

“เจ”ผู้ก้าวพลาดวัย 28 ปี เป็นเจ้าของบทเพลง “ ขอโอกาส” ถูกโทษจำคุกคดียาเสพติด 25 ปี 2 เดือน จำคุกมาแล้ว 6 ปีกว่า กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงว่า

“แรงบันดาลใจคือความเหงาและคิดถึงครอบครัว เพลงนี้แต่งขึ้นเพื่อต้องการขอโทษสังคม อยากให้สังคมให้อภัย ” โดยเจใช้เวลา 3 เดือนในการแต่งเพลงนี้และมีเพื่อนในวงดนตรีช่วยใส่ทำนองให้ ร้องเปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2561 ในงานวันพบญาติ เนื้อหาของบทเพลงสะเทือนใจจนทำให้คนที่ได้ฟังถึงหลั่งน้ำตาด้วยความซาบซึ้ง

สำหรับผลงานเพลงที่ 2 ที่เจแต่งเสร็จแล้วมีชื่อว่า “หลงทางผิด” ซึ่งเขาแต่งเพลงนี้เพื่อจะขอโทษแม่และระลึกถึงบุญคุณของแม่

และเจยังได้ฝากคำแนะนำถึงวัยรุ่นที่กำลังคิดจะทำผิดว่า “ อยากเตือนสติวัยรุ่น คนที่หลงระเริงในความผิดที่ตัวเองทำและคิดว่าสนุกสนานหรือหาเงินอย่างผิดกฏหมาย ให้เลิกซะ เพราะอยู่ในเรือนจำทำให้มหดอิสรภาพ”

อีกมุมหนึ่งเป็นผู้ก้าวพลาดหญิง” จุ๋ม” สาวชาวสวนที่ต้องโทษยาเสพติด 25 ปี รับโทษมาแล้ว 4 ปี จากคนที่ไม่มีวิชาชีพติดตัวมาเลย เมื่อมีโครงการกำลังใจมาเปิดสอนการทำเบอเกรี่ จุ๋มจึงตัดสินใจเข้าอบรมแล้วก็เกิดรักอาชีพนี้ขึ้นมา จึงเข้าอบรมทำเบอเกรี่มาทุกหลักสูตร จนปัจจุบันเธอเป็นหนึ่งใน 18 คนของผู้ต้องขังหญิงที่ทำงานประจำแผนกเบอเกอรี่ของเรือนจำแห่งนี้ เพื่อป้อนให้ร้าน“ อินสไปร์ คาเฟ่@เรือนจันแลนด์” ที่อยู่ด้านหน้าเรือนจำ ซึ่งจุ๋มบอกว่าขนบอบของเธอชิ้นแรกที่ขายได้นั้น รู้สึกดีใจมาก เพราะอย่างน้อยคนข้างนอกเรือนจำก็ยอมรับขนมของเธอแล้ว

 

“ชีวิตที่เหลืออีก 16 ปีในเรือนจำ จะพยายามใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เพราะอดีตแก้ไขไม่ได้แล้ว เราต้องทำชีวิตข้างหน้าให้ดีที่สุด เพื่อจะได้ออกไปใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว”

แม้โอกาสที่จะได้ออกจากเรือนจำยังอีกยาวไกล แต่จุ๋มก็ฝันไว้ว่าเมื่อได้ออกไปจะไปช่วยแม่ทำสวนและอยากเปิดร้านเบเอกรี่เล็ก ๆ ของตัวเอง

ส่วนบูธแกะสลักรองเท้าเป็นบูธที่ได้รับความสนใจอย่างมาก เอฟ ผู้ก้าวพราดชายที่กำลังก้มหน้าก้มตาแกะสลักรองเท้าแตะด้วยลวดลายที่สวยงามจนใครเห็นก็ต้องอยกเป็นเจ้าของสักคู่หนึ่ง

เอฟเล่าที่มาของการทำงานแกะรองเท้าแตะว่า ในเรือนจำทุกคนใส่รองเท้าแตะเหมือนกันหมด บ่อยครั้งจึงมีการหยิบผิดกัน เอฟซึ่งเดิมเป็นช่างสักลายมาก่อน จึงรับจางแกะชื่อหรือลายที่สวยงามให้รองเท้าแตะเพื่อน ๆ
ด้วยพรสวรรค์ที่เอฟมี เขาสามารถแกะลายสวยงามและยาก ๆ ตามแบบลายในหนังสือได้ไม่ผอดเดี้ยน จึงทำให้มีออร์เดอร์ทั้งจากเพื่อน ๆ ในเรือนจำ เจ้าหน้าที่เรือนจำ ไปจนถึงบุคคลภายนอกเรือนจำ

 

สิ่งเหล่านี้คือความพยายามของเรือนจำจันทบุรีเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ก้าวพลาด ทั้งด้านจิตใจให้เข้มแข็ง ฝึกอาชีพให้สามารถประกอบสัมมนาชีพเลี้ยงตัวเองได้ เพื่อเป้าหมายคือการคืนคนดีกลับสู่สังคม

“ทุกวันนี้เราไม่กลัวเรื่องการทำเรือนจำให้มีความสุข แต่เรากลัวว่าเมื่อผู้ต้องขังก้าวพ้นจากเรือนจำไปแล้ว ถ้าสังคมไม่ยอมรับและให้โอกาส พวกเขาก็ต้องทำความผิดซ้ำแล้วก็กลับมาอยู่ในเรือนจำอีก” ผอ.สมาน กล่าวปิดท้าย

Stay Connected
Latest News