เปลี่ยนขยะให้เป็นทอง มอง Waste ให้เป็น Wealth

ประเทศไทยมีขยะจากครัวเรือนกว่า 28 ล้านตัน/ปี หรือเฉลี่ย 1 กก./คน/วัน แต่นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้แค่เพียงปีละ 9.6 ล้านตัน ไม่เพียงเท่านั้น วิถีชีวิตแบบใหม่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 ยิ่งผลักดันให้มีขยะแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งมากขึ้น ปริมาณขยะจึงเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เกิดเป็นวิกฤตขยะล้นเมือง! ส่วนหนึ่งเพราะขาดการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

ซึ่งไม่เพียงแค่ในประเทศไทย แต่วิกฤตนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก จนคาดกันว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป จะมีขยะหลุดเข้าสู่สิ่งแวดล้อมถึง 700 ล้านตัน

จะดีกว่าหรือไม่? หากขยะเหล่านี้ไม่ถูกตัดสินให้กลายเป็นขยะเร็วเกินไป ทั้งที่มันเคยเป็นและอาจยังเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามหาศาลอยู่ ด้วยการใช้ “หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Economy) ที่มุ่งใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าและหมุนเวียนทรัพยากรใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่เพียงแค่ลดปัญหาขยะล้น หรือทรัพยากรขาดแคลน แต่ยังสามารถสร้างให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจได้ แค่เปลี่ยนความคิดและลงมือทำ

เวที “SCG Trash (less) Talk” ในงาน “Thailand Sustainability Expo 2021” ที่ผ่านมาจึงชวนทุกคนมาร่วมเห็นความสำคัญของการ “เปลี่ยนขยะให้เป็นทอง มอง Waste ให้เป็น Wealth” โดยมีจิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด หรือ SC GRAND , ภูเบศร์ สำราญเริงจิต รองผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท ชีวาทัย จำกัด (มหาชน) และเฉลิมพล ฮุนพงษ์สิมานนท์ Circular Economy Business Director ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ร่วมค้นหาทางออกแก้ปัญหาขยะและทรัพยากรที่มีจำกัด เพื่อให้โลกน่าอยู่มากขึ้น

แค่เปลี่ยนวิธีคิด ชีวิตก็เปลี่ยน

เฉลิมพล ฮุนพงษ์สิมานนท์ Circular Economy Business Director ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี กล่าวว่า การจะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นจริงได้ต้องปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการใช้ทรัพยากร ที่ผ่านมาเรามักใช้แล้วทิ้ง แต่ปัจจุบันต้องปรับวิธีคิดว่าจะใช้อย่างไรให้นานขึ้น คุ้มค่าขึ้น โดยเอสซีจี ทำเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนในธุรกิจอย่างจริงจัง และนำความรู้ ความคิดใหม่ ๆ มาเป็นตัวอย่าง พร้อมชักชวนภาคส่วนอื่นๆ มาร่วมทำ เพื่อเชื่อมต่อเครือข่ายที่ทำเรื่องการจัดการขยะและหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาสร้างประโยชน์ใหม่ โดยยกตัวอย่างของการร่วมกับเทศบาลเมืองใหม่บางบัวทองและยูนิลีเวอร์ ทำโครงการ “แยกดี มีแต่ได้”

“ปกติที่ชุมชนบางบัวทองจะมีการแยกขยะอยู่แล้ว เราไปร่วมกับยูนิลีเวอร์เพื่อส่งเสริมเรื่องการแยกขยะมากขึ้น โดยขยะพลาสติกชนิด HDPE เช่น ขวดนมหรือขวดน้ำยาล้างจานที่รวบรวมมาทุก 1 กิโลกรัม สามารถนำไปแลกสินค้ายูนิลีเวอร์ได้ 1 ชิ้น โยเอสซีจีทำหน้าที่นำขวดพลาสติกที่ได้มารีไซเคิลเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำบรรจุภัณฑ์สำหรับ consumer products เป็นการเปลี่ยน Waste ให้เป็น Wealth และถือเป็น Circular Economy อย่างแท้จริง เพราะทุกภาคส่วนได้เข้ามาเกี่ยวข้อง”

ชุบชีวิตใหม่ให้เสื้อผ้าเก่า

ด้าน จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด หรือ SC GRAND ผู้ผลิตผ้ารีไซเคิลและสินค้ารีไซเคิล เล่าถึงที่มาของการนำ Waste จากวงการสิ่งทอมาสร้างให้เกิดมูลค่ามากขึ้นว่า ตนเองเป็นทายาทรุ่นที่ 3 โดยในรุ่นแรกเริ่มจากการซื้อมาขายไปของเสียในวงการแฟชั่น เช่น เศษผ้าจากการตัดเย็บหรือเสื้อผ้าเก่า ต่อมาทายาทรุ่น 2 ได้เริ่มนำของเสียเหล่านี้มาแปรสภาพเป็นเส้นด้ายและนำไปผลิตเป็น Mass Products ให้กับวงการต่างๆ

ตนเองเมื่อได้เข้ามาสานต่อ SC GRAND จึงมองว่าทำอย่างไรเพื่อสื่อสารให้ลูกค้าซึ่งเป็นคนทั่วไปจับต้องผลิตภัณฑ์นี้ได้ จึงนำสิ่งที่เคยเป็นขยะเหลือทิ้งเหล่านี้มาผลิตเป็นแบรนด์ผ้ารีไซเคิลจาก SC GRAND ให้ทุกคนรู้ว่าขยะสิ่งทอสามารถแปรรูปให้เป็นเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ในชีวิตประจำวันได้

“จุดเริ่มต้นของแบรนด์เสื้อผ้า SC GRAND มาจาก Core Value เมื่อครั้งคุณยายเริ่มธุรกิจ มีโอกาสไปโรงงานสิ่งทอและเห็นว่าใยของขยะจากสิ่งทอเหล่านี้ยังมีคุณค่า สามารถนำมาสร้างประโยชน์ได้ จึงนำของเสียจากวงการสิ่งทอ ไม่ว่าจะเป็นเศษด้ายจากโรงงานทอผ้า เศษผ้าจากโรงงานตัดเย็บ เสื้อผ้าเก่า ฯลฯ มาเข้ากระบวนการคัดแยกเฉดสี และแปรสภาพเป็นเสื้อผ้าใหม่”
จิรโรจน์ บอกและย้ำว่า “เราตั้งใจจะสื่อสารว่า ขยะสิ่งทอสามารถสร้างสรรค์เป็นเสื้อผ้าที่สวยงามได้และสามารถสวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน”

“หมุนเวียนทรัพยากร” ได้ประโยชน์ 2 ต่อ

ด้าน ภูเบศร์ สำราญเริงจิต รองผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท ชีวาทัย จำกัด (มหาชน) สะท้อนมุมมองการบริหารจัดการขยะในฐานะนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ว่า โดยปกติในหนึ่งโครงการที่พักอาศัยจะมีขยะจากแต่ละบ้านรวมกันมากถึงวันละ 1.5 ตัน แต่ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด19 มีขยะเพิ่มขึ้นร้อยละ 30-40

“สิ่งสำคัญคือ การสร้างการรับรู้ว่าขยะนำมาสร้างประโยชน์อะไรได้บ้าง โดยแนวทางแรกของเราคือการสร้างประโยชน์ต่อชุมชน เราได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก SCGP reXycle เข้ามาทำโครงการร่วมกัน มีการรีไซเคิล นำกระดาษมาใช้ในโครงการให้เห็นว่าขยะที่ทิ้งไปก็สามารถหมุนเวียนกลับมาทำประโยชน์ได้ เช่น ทำเป็นของเล่นเด็กในพื้นที่ส่วนกลางจากลังกระดาษ รวมทั้งกระดาษเอกสารด้วย”

หลังจากนั้นมีการ “เพิ่มมูลค่า” ของขยะโดยการสร้างบุญ คือ นำขยะที่คัดแยกไว้แล้วไปส่งมอบทำเตียงสนามกระดาษ เพื่อบริจาคให้กับโรงพยาบาลสนามใช้ในช่วงโควิด 19 จากสองแนวคิดนี้ทำให้ได้รับความร่วมมือจากลูกบ้านเป็นจำนวนมาก

ทริคเล็กๆ ใครๆ ก็เป็นฮีโร่ได้

แล้วเราจะทำให้ทุกคนหันมาตระหนักและมีส่วนร่วมได้อย่างไร?
จิรโรจน์ บอกว่า ขยะสิ่งทอทั่วโลกมีประมาณ 92 ล้านตันต่อปี ตัวเลขนี้เป็นเพียงขยะในอุตสาหกรรมสิ่งทอหรือขยะแฟชั่นเท่านั้น ซึ่งยังมีขยะจากอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมากมาย หากใครคิดจะทำธุรกิจและมีความมุ่นมั่นที่จะทำโลกนี้ให้ดีขึ้น แนะนำให้เปลี่ยนมุมมองความคิด โดยลองเริ่มต้นทำจากสิ่งใกล้ตัว

“เรากำลังจะเปิดให้บริการรับผลิตเสื้อผ้าให้กับองค์กรในสิ้นปีนี้ ซึ่งสิ่งที่แตกต่างคือ สามารถนำเสื้อผ้าองค์กรซึ่งในปีที่ผ่านมาไม่ใช้แล้วมาเป็นส่วนผสมในการผลิตเสื้อผ้าใหม่ได้ และสำหรับคนทั่วไป สามารถหยิบเสื้อผ้าเก่ามารับส่วนลดที่ร้าน CIRCULAR ของเราได้ ซึ่งเสื้อผ้าเก่าที่รับมาก็จะนำไปใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเสื้อผ้าใหม่ในคอลเลคชันถัดไป นี่เป็นทรัพยากรที่คนทั่วไปมองว่าไม่มีประโยชน์ ไม่เห็นคุณค่า แต่เราสามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก”

มอง Waste ให้เป็น Wealth

ปิดท้ายด้วย เฉลิมพล ที่ให้ข้อคิดเสริมว่า การจะทำให้สังคมของเราเป็น Trashless Society หรือสังคมที่ไม่มีคำว่าขยะนั้น การแยกขยะเป็นสิ่งจำเป็น ทรัพยากรไม่มีคำว่า Waste หรือของเสีย เช่น เสื้อผ้าเก่าก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ หากเราช่วยกันทำสิ่งที่เคยมองว่าเป็น “ขยะ” ให้มี “คุณค่า” มากขึ้น เช่นขยะที่ไม่มีการคัดแยก นำไปขายรวมกันได้ราคากิโลกรัมละบาทเดียว แต่ถ้าแยกขยะ กระดาษขายได้กิโลกรัมละ 5-6 บาท พลาสติกขายได้กิโลกรัมละ 10 บาท กระป๋องขายได้กิโลกรัมละ 20 บาท นั่นหมายความว่าแค่แยกขยะก็สามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้แล้ว

“หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน คือทำอย่างไรไม่ให้มี waste เพราะมันกระทบกับเรื่องทรัพยากรที่มีจำกัด และการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ดังนั้น อนาคตของเรากับเศรษฐกิจหมุนเวียนจึงไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด อยากให้ช่วยกันคิดว่าไม่ใช่ one day หรือวันหนึ่งฉันจะทำ แต่ควรเปลี่ยนเป็น day one หรือเป็นวันแรกที่เราจะเริ่มเปลี่ยนแปลงจริงๆ”

Stay Connected
Latest News