ไฟ-ป่า-ควัน-คน-เมือง…เรื่องเล่าจาก “หน่วยเหยี่ยวไฟ” ด่านหน้าผจญไฟ

“ปัญหาไฟป่า เป็นปัญหาของทุกคน ทุกคนที่ยังหายใจ! ในขณะที่เราอยู่กันตรงนี้ หลายพื้นที่ยังคงดับไฟ และต้องเผชิญกับปัญหาไฟป่าและฝุ่นควัน ปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ล้วนเกิดจากน้ำมือมนุษย์แทบทั้งสิ้น โดยมีสาเหตุที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไป ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ

แต่ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม เมื่อเกิดไฟป่าขึ้นแล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รวมไปถึงพี่น้องที่อยู่ในเมือง ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และที่สำคัญคือสิ่งแวดล้อม ความสูญเสียที่ไม่อาจประเมินค่าได้ ลำพังกำลังเจ้าหน้าที่เพียงแค่หยิบมือเดียว คงไม่อาจยับยั้งภัยอันตรายนี้ได้”

จันทร์เพ็ญ เกษตรสินธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าเชียงใหม่ (ซ้ายสุด)

คำบอกเล่าส่วนหนึ่ง จากจันทร์เพ็ญ เกษตรสินธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าเชียงใหม่ ในระหว่างพิธีส่งมอบรถและอุปกรณ์สนับสนุนชุดปฏิบัติงานพิเศษเหยี่ยวไฟ ภายใต้ภารกิจ “NISSAN NAVARA PRO-4X FIRE RESCUE TEAM กล้า…เพื่อคนแกร่ง” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่า อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

สถานการณ์ไฟป่านับเป็นปัญหาระดับชาติที่เกิดขึ้นทุกปี คิดเป็นพื้นที่ป่าที่เสียหายปีละกว่าแสนไร่ โดยเฉพาะในภาคเหนือ และในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ จากสถิติปี 2564 พบว่าในจังหวัดเชียงใหม่ เกิดไฟป่าทั้งสิ้นกว่า 1,305 ครั้ง กินพื้นที่ป่าที่เสียหายกว่า 33,369 ไร่ โดยมี “ชุดปฏิบัติงานพิเศษเหยี่ยวไฟ” เป็นด่านหน้ารับภารกิจควบคุมไฟป่าภาคเหนือ ซึ่งมีบุคลากรเพียง 20 นาย ที่นอกเหนือจากการออกปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าซึ่งแต่ละครั้งกินพื้นที่ไม่น้อยกว่า 20 ไร่แล้ว ทุกปีทีมเหยี่ยวไฟต้องปฏิบัติหน้าที่หลากหลายและทำงานอย่างหนักทั้งการเฝ้าระวัง ป้องกัน และปฏิบัติภารกิจประสานงานเพื่อดับไฟป่า รวมถึงการสนธิกำลังกับทุกภาคส่วนในพื้นที่ต่าง ๆ ดูแลงานบรรเทาสาธารณภัย พร้อมทั้งอบรมให้ความรู้แก่ชาวบ้านเรื่องไฟป่าอีกด้วย

จิตอาสาชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟเชียงใหม่

แต่แม้จะต้องเจอกับสถานการณ์ไฟป่าที่พร้อมจะปะทุขึ้นได้ทุกเมื่ออย่างรวดเร็วและไร้ทิศทางที่แน่นอน สภาพภูมิประเทศภายในป่าที่ยากลำบากต่อการเข้าถึงจุดเกิดเหตุ การเสี่ยงภัยอันตรายที่เกิดขึ้นทั้งจากเพลิงไฟ และอุบัติเหตุจากการใช้อุปกรณ์ระหว่างปฏิบัติงาน แต่ด้วยหัวใจที่แข็งแกร่งของทีมเหยี่ยวไฟ ก็ไม่ได้รู้สึกท้อหรือถอดใจจากภารกิจนี้ เพราะรู้ดีว่า การหยุดไฟป่าเท่ากับหยุดการทำลายทรัพยากรป่าไม้ หยุดโอกาสที่ควันพิษจะกระจายไปทำลายสุขภาพกายและสุขภาพจิตของคนในชุมชนใกล้เคียง หรือแม้แต่ในเมืองที่ห่างออกไป

ชุติพนธ์ คำตา หรือปลื้ม พนักงานดับไฟป่า ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟเชียงใหม่

ชุติพนธ์ คำตา หรือปลื้ม อายุ 24 ปี พนักงานดับไฟป่า ชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟเชียงใหม่ ศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าเชียงใหม่ กรมป่าไม้ เล่าว่า “จุดเริ่มต้นของการมาเป็นเหยี่ยวไฟ คือ ผมสังเกตเห็นปัญหาสุขภาพของครอบครัว เพราะที่บ้านอาศัยอยู่ในจังหวัดลำพูน โดยทุกปีในช่วงหน้าไฟป่า คนในบ้านทั้งพ่อแม่ ปู่ย่า จะเริ่มเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ทั้งไอ หอบ เพราะควันพิษจากไฟป่า จึงเป็นแรงผลักดันให้มาเป็นพนักงานดับเพลิงไฟป่า ซึ่งหน้าที่หลักคือ “คนนำ” เป็นคนเดินนำเคลียร์เส้นทางเข้าดับไฟในจุดเกิดเหตุ ที่ต้องมีความชำนาญด้านเส้นทาง เพราะถ้าพลาดหรือหลงก็จะทำให้ภารกิจดับไฟป่าล่าช้า ไฟลามไปพื้นที่อื่น ๆ มากขึ้นตลอดระยะเวลาที่ทำงานมากว่า 3 ปี พบว่าไฟป่าไม่เคยลดน้อยลงเลย กลับเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี และพบว่าปัจจุบันเกิดจากฝีมือของมนุษย์แทบทั้งสิ้น”

ว่าที่ร้อยตรี วัฒนา พลอยกัลยา หรือชิ ทำหน้่าที่ “คนเป่าไฟ”กับอสวุธคู่กาย

ด้าน ว่าที่ร้อยตรี วัฒนา พลอยกัลยา หรือชิ อายุ 35 ปี หนึ่งในชุดปฏิบัติการพิเศษเหยี่ยวไฟเชียงใหม่ เปิดใจว่า “ผมมองเห็นปัญหาไฟป่าที่เกิดขึ้นมานานหลายปี จึงตัดสินใจมาทำงานนี้ ผมรับหน้าที่เป็น “คนเป่าไฟ” มีอาวุธคู่กายคือเครื่องเป่าลมสำหรับดับไฟและเป่าใบไม้ทำแนวป้องกันไฟ ซึ่งมีอุปสรรคตรงที่เครื่องเป่าลมส่วนใหญ่ยังเป็นระบบใช้น้ำมัน ซึ่งนอกจากจะมีน้ำหนักมากแล้ว ยังเป็นอันตรายหากไม่ระวัง ซึ่งครั้งหนึ่งเพื่อนร่วมงานกำลังเป่าไล่ไฟป่า และมีเศษใบไผ่ติดไฟปลิวมาติดที่เครื่องเป่าลม ทำให้เกิดไฟลุกและไฟคลอกร่างกายได้รับบาดเจ็บสาหัส การขาดแคลนกำลังเจ้าหน้าที่ก็เป็นอุปสรรคสำคัญ”

เนื่องจากสถิติในปี 2564 พบว่าเกิดเหตุไฟป่าในบริเวณพื้นที่ภาคเหนือกว่า 80,000 ไร่ โดยจังหวัดเชียงใหม่เกิดไฟป่ามากที่สุดกว่า 30,000 ไร่ มีการลุกลามและกินระยะเวลานานประมาณ 4-6 เดือนต่อปี แต่หน่วยเหยี่ยวไฟมีเพียง 20 คน จึงไม่สามารถดับไฟได้อย่างรวดเร็วและทันเหตุการณ์ อีกทั้งเกิดความเหนื่อยล้าสะสมและความท้อแท้ใจ ว่าทำไมเราต้องมาเป็นคนดับไฟที่เกิดจากฝีมือคนด้วยกันเอง แต่พอมองไปถึงปัญหาใหญ่ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม และคนจำนวนมากที่จะได้รับความเดือดร้อนก็ทำให้มีแรงกำลังในการทำงานอีกครั้ง”

ภูมินันท์ บุญเรือง หรืออั๋น ทำหน้าที่ “นักตบไฟ”

อีกหนึ่งในทีมเหยี่ยวไฟ ภูมินันท์ บุญเรือง หรืออั๋น อายุ 34 ปี เล่าว่า “บทบาทหน้าที่หลักคือ
“นักตบไฟ” หลังจากการเป่าไล่ไฟแล้วเราต้องตบให้ไฟดับสนิท ให้มั่นใจว่าไฟจะไม่ลุกขึ้นมาอีก นอกจากนี้ถ้าไม่ใช่ฤดูไฟป่าก็ต้องลงพื้นที่ทำแนวป้องกันไฟ พร้อมทั้งสอนชาวบ้านและเครือข่ายดับไฟเรื่องการใช้อุปกรณ์ และการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยตลอดระยะเวลาการทำงานกว่า 2 ปี อุปสรรคใหญ่ที่พบในการทำงานคือ สภาพภูมิประเทศที่ซับซ้อน ประกอบกับยานพาหนะที่ใช้ในการเข้าพื้นที่ก็มีจำกัดและมีสมรรถนะไม่เพียงพอในการเข้าพื้นที่ที่ยากลำบากได้ ส่งผลให้บางครั้งไปไม่ทันการช่วยเหลือ ไฟป่าขยายวงกว้างมากขึ้น ยากต่อการดับไฟ”

มร. มาซาโอะ สึสึมิ รองประธานสายงานการตลาดและขาย นิสสัน ประเทศไทย กล่าวว่า “นิสสัน ประเทศไทย เล็งเห็นความสำคัญของภารกิจควบคุมไฟป่า ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพอากาศและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน จึงได้จัดตั้งภารกิจพิเศษ “NISSAN NAVARA PRO-4X FIRE RESCUE TEAM กล้า…เพื่อคนแกร่ง” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของนิสสันที่จะช่วยสนับสนุนชุดปฏิบัติงานพิเศษเหยี่ยวไฟ จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้หลังจากที่ได้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆที่ทีมเหยี่ยวไฟต้องเผชิญระหว่างการปฏิบัติภารกิจ เราจึงสนับสนุน นิสสัน นาวารา PRO-4X จำนวน 2 คัน สำหรับใช้เป็นยานพาหนะในการเดินทางไปปฏิบัติภารกิจ เพราะมั่นใจในรถกระบะที่มีสมรรถนะสูง จากเครื่องยนต์ทวินเทอร์โบ พร้อมระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ จึงสามารถลุยไปได้ทุกพื้นที่ที่เกิดเหตุไฟป่าพร้อมการติดตั้งเทคโนโลยีขับขี่อัจฉริยะ และ รวมถึงยังมีฟังก์ชันที่ให้การใช้งานมากมาย ที่จะเป็นผู้ช่วยสำคัญของทีมเหยี่ยวไฟในแต่ละภารกิจ”

มร. มาซาโอะ สึสึมิ รองประธานสายงานการตลาดและการขาย นิสสัน ประเทศไทย

นอกจากนี้ ยังได้มอบอุปกรณ์ดับและไล่ไฟป่า เครื่องเป่าลมแบตเตอรี่ (Battery Powered Blower) จำนวน 5 ชุด ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษด้วยการใช้ระบบพลังงานไฟฟ้าแทนน้ำมันเบนซิน ทำให้มีน้ำหนักเบา ปลอดภัย สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติภารกิจควบคุมไฟป่าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ปลอดภัยและรวดเร็วขึ้น

ไฟป่า ปัญหาที่ไม่ได้จบอยู่แค่ในป่า แต่ก่อปัญหาต่อเนื่องมาสู่คนเมืองอย่างปฏิเสธไม่ได้ การรณรงค์
ให้ความรู้เพื่อลดการเผาป่าอาจช่วยลดทอนปัญหา แต่การเผาป่าคงยังไม่หมดไปโดยง่ายด้วยหลายปัจจัย ดังนั้นสิ่งที่เราจะช่วยกันได้ อาจไม่ใช่การเดินเข้าไปช่วยเจ้าหน้าที่ดับไฟ แต่คือการส่งมอบความช่วยเหลือเพื่อรักษาชีวิตคนดับไฟ #เซฟชีวิตคนดับไฟ คือหนทางที่ดีที่สุด ช่วยให้เขาทำงานได้ง่ายขึ้น ดับไฟได้เร็วขึ้น ออกจากป่ากลับมาหาคนในครอบครัวได้เร็วขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น เกิดการสูญเสียน้อยลง

Stay Connected
Latest News