ศึกษาโมเดล “เซ็นทรัล ทำ” ต้นแบบความยั่งยืน ลดความเหลื่อมล้ำ ที่สร้างและส่งต่อการพัฒนาได้อย่างไม่รู้จบ

“เซ็นทรัล ทำ” ถือเป็นหนึ่งในโมเดลการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่มีความน่าสนใจ เพราะสามารถจับต้องความสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งยังเป็นการสร้างต้นแบบการพัฒนาที่สามารถนำแนวคิดและองค์ความรู้ไปต่อยอดได้ในหลากหลายพื้นที่  ไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทย หรือแม้แต่ในต่างประเทศที่กลุ่มเซ็นทรัลมีเครือข่ายธุรกิจกระจายอยู่ก็ตาม

ย้อนไป 6-7 ปีก่อน ผู้นำธุรกิจยักษ์ใหญ่ระดับประเทศอย่าง “กลุ่มเซ็นทรัล” ได้มีการทบวนแนวทางการทำธุรกิจที่ควบคู่ไปกับการดูแลสังคม ที่แม้ว่าจะให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งธุรกิจในยุคแรกๆ ทั้งการดูแลสังคม ชุมชน รวมทั้งการสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เติบโตได้อย่างแข็งแรงมาตลอดกว่า 75 ปี แต่ยังมองเห็น Pain point สำคัญ ที่ธุรกิจในเครือยังต่างคนต่างทำ ทำให้แม้ว่าจะมีโครงการเพื่อสังคมของเครือเกิดขึ้นจำนวนมากเป็นหลักหลายพันโครงการ แต่กลับมองไม่เห็นภาพของการสร้างผลกระทบให้กับสังคมได้อย่างชัดเจนมากนัก

นำมาสู่การวางแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันของทั้งกรุ๊ป มีการวางกลยุทธ์สำหรับการขับเคลื่อนที่ครอบคลุมและสามารถกระจายการพัฒนาที่สร้างความแข็งแรงไปสู่ Stakeholder ทุกมิติได้อย่างครอบคลุม พร้อมทั้งสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลกที่ครอบคลุมทั้งเรื่องของธรรมาภิบาลทางธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไปพร้อมๆ กัน

สร้างโมเดลพัฒนาให้ยั่งยืนได้ตั้งแต่ต้นน้ำ

คุณพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล เล่ากลยุทธ์ในการขับเคลื่อน ‘เซ็นทรัล ทำ’ ว่า  เป้าหมายสูงสุดของเซ็นทรัล ทำ คือ การเข้าไปช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมทั้งสร้างความกินดีอยู่ดีให้กับผู้คน โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรซึ่งมีความสำคัญในระบบเศรษฐกิจและเป็นรากฐานสำคัญในชุมชนของไทย ซึ่งส่วนใหญ่ยังขาดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการ รวมทั้งการพัฒนาการศึกษาซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญ​ที่สามารถนำมาซึ่งการลดความเหลื่อมล้ำ และปัญหาสังคมต่างๆ  จึงเริ่มให้ความสำคัญกับการเข้าไปสร้างเครือข่ายเกษตรกร รวมทั้งการเริ่มเข้าไปสนับสนุนทุนให้กับเด็กด้อยโอกาสในโรงเรียนต่างๆ ภายในพื้นที่

“เมื่อเรามีโอกาสลงไปในพื้นที่ ก็จะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาที่แต่ละพื้นที่กำลังเผชิญอยู่ เช่น การเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้สารเคมีมาเป็นการปลูกพืชผักผลผลิตทางการเกษตรแบบออร์แกนิกส์ ที่ทั้งดีต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นที่ต้องการของตลาดและขายได้ราคาทีดีกว่า การแนะนำให้ปลูกผลผลิตที่เชื่อมโยงกับความต้องการของตลาด รวมทั้งการสนับสนุนช่องทางในการจำหน่าย รวมทั้งระบบขนส่งต่างๆ  ส่วนในมิติด้านการศึกษา นอกจากการให้ทุนเพื่อเพิ่มโอกาสในการศึกษาแล้ว ยังได้รับทราบถึงปัญหาการขาดแคลนอาหารกลางวัน ทำให้มีการนำองค์ความรู้ที่ได้จากกลุ่มเกษตรกรในเครือข่าย ไปถ่ายทอดให้กับเด็กๆ ในโรงเรียน ทั้งการปลูกผัก เลี้ยงไก่ไข่ ที่นอกจากไว้เป็นอาหารกลางวันแล้ว ยังสามารถนำไปขายหรือนำกลับไปฝากครอบครัว ขณะที่องค์ความรู้ที่ได้จากโรงเรียน เด็กๆ ก็สามารถนำไปถ่ายทอดให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ช่วยเพิ่มอาชีพ เพิ่มรายได้ ให้แต่ละครอบครัวได้อีกทางหนึ่งได้ด้วยเช่นกัน”​

หนึ่งพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืนของ “เซ็นทรัล ทำ” อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีการเข้าไปสนับสนุนเครือข่ายเกษตรกร อ.แม่ทา จนเป็นชุมชนต้นแบบด้านเกษตรอินทรีย์และท่องเที่ยววิถีชุมชน รวมทั้งเข้าไปพัฒนาเด็กๆ ในพื้นที่ผ่านโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัดตั้งแต่ระดับประถม มัธยม รวมไปถึงระดับอุดมศึกษา​ โดยเฉพาะยังเป็นการสร้างแนวร่วมในการช่วยอนุรักษ์องค์ความรู้ หรือวัฒนธรรมประเพณีต่างๆ ให้สามารถส่งต่อได้จากรุ่นสู่รุ่น รวมไปถึงการส่งเสริมด้านวิชาการ การส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนที่ตอบโจทย์เทรนด์ธุรกิจ หรือนวัตกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่มสกิลซึ่งเป็นที่ต้องการในอนาคต ช่วยสร้างศักยภาพให้ทรัพยากรคนของประเทศ และเพิ่มโอกาสการแข่งขันให้ประเทศได้เช่นกัน

ความร่วมมือกันภายในชุมชน ยังสามารถต่อยอดไปสู่การสร้างรายได้จากมิติใหม่ๆ มากกว่าแค่การทำเกษตร เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ หรือท่องเที่ยวชุมชน เพื่อให้นักท่องเที่ยวมาร่วมเรียนรู้วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ หรือเรียนรู้การทำการเกษตรออร์แกนิกส์ ​พร้อมทั้งการสร้างกิจกรรมภายในชุมชน เพิ่มโอกาสในการสร้างงานสร้างอาชีพ ให้คนในชุมชนได้เพิ่มมากยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่ง

Centrality ข้อต่อสำคัญระหว่างชุมชนและธุรกิจ  

หลายคนอาจมีคำถามว่า ทางกลุ่มเซ็นทรัลมองเห็นปัญหาหรือโอกาสของแต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชนได้อย่างไร ก่อนจะสร้างโซลูชันส์ที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาหรือต่อยอดโอกาสให้กับแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม

คำตอบคือ การมีกลุ่ม ‘Centrality’ (เซ็นทราลิตี้) หรือ กลุ่มเซ็นทรัลอาสา ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของเซ็นทรัลในการลงพื้นที่เพื่อสานสัมพันธ์กับชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้ก็จะเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ มีความคุ้นเคยกับสังคมและชุมชนแต่ละแห่งเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ทำให้มองเห็นปัญหา เข้าใจความต้องการ รวมทั้งทราบถึงจุดแข็งและอัตลักษณ์ที่สามารถนำมาสร้างจุดแข็งหรือต่อยอดเพื่อสร้างความยั่งยืน และนำเสนอมายังส่วนกลาง เพื่อตกผลึกร่วมกันอีกครั้งว่าจะมีทิศทางในการขับเคลื่อนแต่ละพื้นที่อย่างไร ภายใต้แนวทางและวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืนของทางกลุ่ม โดยยังคงรักษาอัตลักษณ์และจุดแข็งของผู้คนและพื้นที่เอาไว้เช่นเดิมได้

กลุ่ม Centrality จะกระจายไปทั่วประเทศ ในทุกพื้นที่ที่มีธุรกิจในเครือตั้งอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสโตร์ขนาดใหญ่อย่างเซ็นทรัล โรบินสัน หรือท็อปส์ รวมไปถึง Specialty Store ต่างๆ และร้านสะดวกซื้อทำให้เครือข่ายของเซ็นทราลิตี้กระจายได้ครบทั่วทั้งประเทศ  ซึ่งนอกจากในมิติของการพัฒนาทั้งชุมชนแล้ว ยังเป็นการสร้างความเป็นทีมเดียวกันของพนักงานจากแต่ละหน่วยธุรกิจของเซ็นทรัลจากการลงพื้นที่ร่วมกัน แลกเปลี่ยน และขับเคลื่อนการทำงานเป็นทีมเดียวกัน จากที่ก่อนหน้าอาจจะไม่ค่อยได้พบปะแลกเปลี่ยน​การทำงานร่วมกันมากนัก ทำให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันของธุรกิจเพิ่มมากยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย​

ประกอบกับการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องในหลากหลายพื้นที่ ก็จะมองเห็นปัญหาในมิติอื่นๆ ตามมา โดยเฉพาะเรื่องของสิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะ การรีไซเคิล การจัดการขยะอาหาร ปัญหามลพิษ สภาพอากาศ พลังงานทดแทน ก็จะนำมาเป็นอีกหนึ่งมิติเพื่อเสนอกลับไปให้แต่ละบียู ต้องให้ความสำคัญในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ เพื่อวางแผนหรือพัฒนาเทคโนโลยีหรือกระบวนการขับเคลื่อธุรกิจ โดยไม่สร้างผลกระทบเชิงลบต่างๆ ที่เป็นการซ้ำเติมปัญหาต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น​

ทั้งนี้ โมเดลการพัฒนาในประเทศไทย ยังเป็นแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจในเครือที่อยู่ในต่างประเทศ อย่างเวียดนามและยุโรปด้วย ซึ่งแต่ละประเทศจะมีกลุ่ม Centrality เพื่อออกแบบการพัฒนาให้ตอบโจทย์พื้นที่ของตน เช่น ในเวียดนามที่ได้เริ่มขับเคลื่อนผ่านมิติของเครือข่ายเกษตร และ​ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีเช่นเดียวกัน ขณะที่ในยุโรป น่าจะขับเคลื่อนผ่านมิติที่สามารถตอบโจทย์ทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ประเทศในแถบยุโรปกำลังให้ความสนใจอย่างมากในการดูแลปัญหาด้านสภาพอากาศ หรือ Climate Change

ช่องทางปลายน้ำ ต้นทางสร้าง Green Lifestyle 

หนึ่งในจุดแข็งของกลุ่มเซ็นทรัล คือ การมีช่องทางค้าปลีกที่ครอบคลุมในหลายธุรกิจ​ ซึ่งสามารถเป็นช่องทางในการกระจายสินค้าจากชุมชนต่างๆ ในเครือข่ายเซ็นทรัลทำจากทั่วประเทศ โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา เซ็นทรัล ทำ ได้ขยายโครงการไปได้ครอบคลุม 44 จังหวัด ช่วยเหลือชุมชนได้มากกว่า 1 แสนครัวเรือ รวมกว่า 5 แสนคนทั่วประเทศ  โดยสามารถสร้างรายได้คืนชุมชนผ่านการรับซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อมาจำหน่ายผ่านร้านในเครือกลุ่มเซ็นทรัล มากกว่า 1,500 ล้านบาท รวมไปถึงสามารถฟื้นคืนผืนป่าได้กว่า 2,000 ไร่

ขณะเดียวกันทางกลุ่มยังได้พัฒนาโมเดลค้าปลีกรูปแบบใหม่ที่สามารถเป็นทั้งการสร้าง Community  สร้างพื้นที่โชว์เคส และเป็นต้นแบบของการสนับสนุนสินค้าชุมชน โดยเฉพาะ โครงการจริงใจมาร์เก็ต เชียงใหม่ ตลาดนัดสุดสัปดาห์ที่รวบรวมสินค้าออร์แกนิกส์​ สินค้าแฮนด์เมด พื้นที่แสดงศิลปะต่างๆ ของจังหวัด เพื่อมีส่วนร่วมสร้างรายได้ให้เกษตรกรและสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้ชุมชน

ภายในโครงการจริงใจมาร์เก็ต ยังมีการริเริ่มพัฒนาโมเดลค้าปลีก ท็อปส์ กรีน Green Store แห่งแรกของประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “ร้านค้าสีเขียวเพื่อชาวเชียงใหม่ ชีวิต และโลกที่ดีขึ้น” เพื่อรวบรวมสินค้าออร์แกนิกส์ และสินค้า Vegan ทั้งของไทยและต่างประเทศอย่างครบครันที่สุด เพื่อตอบโจทย์กลุ่มคนรักสุขภาพ โดยสัดส่วนสินค้ากว่า 80% ในกรีนสโตร์แห่งนี้ จะเป็นสินค้าออร์แกนิกส์และสินค้าเพื่อสุขภาพต่างๆ รวมทั้งพืชผักผลผลิตทางด้านการเกษตรจากเกษตรกรในเครือข่ายเซ็นทรัลทำ ก็จะนำมาจำหน่ายในสาขานี้เพื่อให้ลูกค้าสายกรีนสามารถมาจับจ่ายได้ทุกวัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความน่าสนใจในการพัฒนาโมเดลธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ที่กำไรจากการจำหน่ายทั้งหมดจะนำส่งกลับคืนให้กับเกษตรกรและชุมชน ภายใต้ชื่อ “good goods” ที่เริ่มนำร่องเปิดให้บริการสาขาแรกที่เซ็นทรัลเวิลด์ในปี 2562 ในรูปแบบคอนเซ็ปต์สโตร์ พร้อมทั้งได้ขยายโครงการพื้นที่เกือบ 500 ตารางเมตร เพิ่มเติมในโครงการจริงใจมาร์เก็ต เชียงใหม่ เพื่อเป็นช่องทางในการกระจายสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นจากเครือข่ายชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ​

สินค้าที่จำหน่ายใน good goods เปิดกว้างสำหรับทุกกลุ่ม ทั้งสินค้างานฝีมือชุมชนต่างๆ ที่เหมาะสำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวซื้อเป็นของฝาก ของที่ระลึก ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี และสามารถสร้างรายได้กว่า 80% ในช่วงก่อนโควิด ขณะเดียวกันได้มีการพัฒนาสินค้าภายในร้านให้ตอบโจทย์ลูกค้าในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่นักท่องเที่ยวลดลง ทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าในประเทศได้มากขึ้น ผ่านสินค้าที่หลากหลาย ทั้งในกลุ่มงานฝีมือชุมชน กลุ่มอาหารแปรรูปและกาแฟ รวมทั้งเครื่องประดับ​ แอคเซสซอรี่ ต่างๆ รวมไปถึงการต่อยอดในกลุ่มแฟชั่น ภายใต้ความร่วมมือกับดีไซน์เนอร์ชาวไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างโอกาสให้สินค้าชุมชนเติบโตทั้งในระดับประเทศ และระดับโลกได้ในอนาคต

“เราต้องการขับเคลื่อนให้โมเดล SE ของ good goods อยู่และขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง เพื่อเป็นการส่งต่อความช่วยเหลือและการพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด ขณะเดียวกัน ได้นำหลักการบริหารพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับการเปิดโอกาสแสดงภูมิปัญญาชุมชน เช่น การทำเป็น Art Space หรือการโชว์เคสที่น่าสนใจต่างๆ รวมไปถึงการปรับเปลี่ยนดิสเพลย์ในร้านให้แปลกใหม่ และสร้างทราฟฟิกได้อยู่เสมอ ซึ่งสุดท้ายแล้วจะช่วยส่งต่อความช่วยเหลือไปให้แก่เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนในเครือข่ายได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น”

แม้จะเป็นโมเดลเพื่อสังคม แต่กลุ่มเซ็นทรัลได้ผสมผสานจุดแข็งในฐานะผู้นำธุรกิจค้าปลีก และความเชี่ยวชาญในการตลาด รวมทั้งการมองเห็นเมกะเทรนด์ต่างๆ เพื่อมาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อน เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งเครือข่ายเกษตรกรและชุมชน ผ่านการต่อยอดจุดแข็ง อัตลักษณ์ ไปสู่แนวทาง​สร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ซึ่งจะทำให้เกิดการส่งต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างต่อเนื่องไปโดยไม่สิ้นสุด

Stay Connected
Latest News