ชั้นวางพลิกชีวิต ‘SME Shelf’ กลยุทธ์สร้างแบรนด์ SME ยั่งยืน ใน 7-Eleven พร้อม 2 กรณีศึกษา ‘ขนมขบเคี้ยว มูซ่า – กล้วยตากอบน้ำผึ้งลานทอง’ ขึ้นแท่นสินค้ายอดฮิต

ย้อนกลับไปช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ถือเป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบอย่างมากโดยเฉพาะด้านยอดขาย บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ ได้มองหาแนวทางในการช่วยบรรเทาผลกระทบด้วยการพัฒนา  SME Shelf หรือช้ันวางสินค้าของเอสเอ็มอีขึ้นมาโดยเฉพาะภายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564

กลยุทธ์ดังกล่าวช่วยผลักดันให้ผู้บริโภคสนใจสินค้าเอสเอ็มอีมากขึ้น ด้วยความง่ายและสะดวกใน​ 3 มิติ  ต่อไปนี้  ความสะดวกในการมองเห็น (Easy to see) ช่วยให้ผู้บริโภคมองเห็นสินค้าของบรรดาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้อย่างชัดเจน ความสะดวกในการเข้าถึง (Easy to reach) ให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าเอสเอ็มอีได้ง่าย และ  ความสะดวกในการไว้วางใจ (Easy to trust) เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถมั่นใจคุณภาพสินค้าเอสเอ็มอีที่ผ่านการคัดกรองคุณภาพ นำไปสู่การตัดสินใจสนับสนุนผู้ประกอบการในกลุ่ม  SME ได้ง่ายขึ้น

ปัจจุบัน จำนวน SME Shelf ในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ได้ขยายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็น 5,500 สาขา และช่วยเพิ่มรายได้ให้กับผู้ประกอบการ SME อย่างต่อเนื่อง โดยมีกรณีศึกษาจาก 2 ผู้ประกอบการ SME ที่จำหน่ายผ่านเซเว่น อีเลฟเว่น มาร่วม 10 ปี​ และติดอันดับสินค้าขายดีของร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ได้แก่ “ขนมขบเคี้ยวแบรนด์มูซ่า” และ “กล้วยตากอบน้ำผึ้งลานทอง” ที่สามารถสร้างยอดขายให้เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด จากกลยุทธ์ชั้นวางสินค้า  SME Shelf  และสร้างการเติบโตให้ธุรกิจประสบความสำเร็จมาถึงทุกวันนี้

มูซ่า​ ชี้  SME Shelf ดันยอดขายพุ่ง 40 ล้าน

คุณบีม-พรรษนันท์ พลสว่าง กรรมการ และทายาทธุรกิจรุ่นที่ 2 ​บริษัท ทูบี อินเตอร์ฟู๊ดส์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายขนมขบเคี้ยวและผลไม้แปรรูปแบรนด์ “มูซ่า”​ เล่าให้ฟังว่า มูซ่า เติบโตมาจากร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ตั้งแต่ปี 2557 ด้วยสินค้าเพียง 1 SKU คือ ขนมปังกรอบขาไก่รสเค็ม และมีการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ปัจจุบันบริษัทมีสินค้าจัดจำหน่ายในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ถึง 20 SKU ครอบคลุมสินค้ากลุ่มทานเล่นและผลไม้แปรรูป อาทิ ขาไก่จัมโบ้ ขาไก่ 3 รส ขนมปังไส้สับปะรด ซึ่งทุก SKU ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ ขนมปังกรอบขาไก่รสแซ่บและขนมปังกรอบซุปเปอร์

กระทั่งเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ​ทำให้ยอดขายในกลุ่มขาไก่ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้ายอดนิยมของบริษัทปรับลดลง 30% แต่หลังจากที่ เซเว่น อีเลฟเว่น ปรับกลยุทธ์การจัดวางสินค้า และนำสินค้าของบริษัทเป็นส่วนหนึ่งของ SME Shelf ​​พบว่า ยอดขายปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 บริษัทมียอดขายรวม 35 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มียอดขายอยู่ที่ 29 ล้านบาท ล่าสุดในปี 2565 บริษัทมียอดขายรวมอยู่ที่ 40 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“SME Shelf ช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับสินค้า ลูกค้าเห็นสินค้าได้ง่ายขึ้น โฟกัสสินค้าที่ต้องการได้ชัดเจนมากขึ้น ดูได้จากยอดขายของขนมปังกรอบขาไก่รสแซ่บและขนมปังกรอบซุปเปอร์ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี” 

เพิ่มโอกาสแบรนด์ไทยสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

ด้าน คุณเอ๊ะ-ปาณัสม์ศา เคร่งกำเนิด เจ้าของกล้วยตากอบน้ำผึ้งลานทอง กล่าวว่า การจะนำสินค้าเพื่อวางจำหน่ายบน SME Shelf ได้นั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาตัวตนเองและสินค้าอยู่เสมอ ที่ผ่านมาทีมผู้เชี่ยวชาญของเซเว่น อีเลฟเว่น ก็เข้ามาช่วยคำแนะนำและเพิ่มองค์ความรู้ด้านต่างๆ อาทิ การให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการ การทำบัญชี ความรู้เรื่องมาตรฐานการผลิต SME Shelf  จึงไม่เพียงช่วยเพิ่มยอดขาย แต่ยังช่วยสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้ผู้ประกอบการอีกด้วย

“กล้วยตากอบน้ำผึ้งลานทองเป็นสินค้าเกษตร ที่ต้องอาศัยระบบการบริหารที่มีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาคุณภาพและรสชาติของสินค้าให้ได้มาตรฐาน โดยเซเว่น อีเลฟเว่น เป็นผู้มาให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง เพราะการจะอยู่ในตลาดได้นาน ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงนั้น ผู้ประกอบการและสินค้าต้องมีการพัฒนาอยู่เสมอ”

ล่าสุด เซเว่น อีเลฟเว่น ยังคงเดินหน้าโครงการ SME Shelf อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งยังคงสร้างกิมมิกใหม่ๆ สร้างความโดดเด่นให้สินค้า SME เพิ่มเติม เช่น การติดป้ายแจ็คสัน หวัง โปรโมทชวนซื้อสินค้า SME เพื่อช่วยให้สินค้า SME มีโอกาสเติบโตและเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น สอดคล้องกับปณิธานองค์กร “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน”

Stay Connected
Latest News